ตะหลิวเอ้ย

2216 Words
ตอนกิ่งหลิวยังแบเบาะ แม่ส่งเงินมาให้ยายทุกๆ เดือนเพื่อเป็นค่าดูแลเธอ ยายจึงเลิกทำงานอื่นเพื่อดูแลหลานสาวอาภัพคนนี้ แต่นอกจากเงินที่แม่ของกิ่งหลิวส่งมาให้ยายทุกเดือนแล้วรายได้ประจำของยายมีเพียงบ้านเช่าสองหลังที่อยู่ในบริเวณรั้วบ้านเดียวกัน อันเป็นมรดกที่ตาเหลือทิ้งไว้ให้ยายเก็บค่าเช่าไว้เลี้ยงตัว แต่ต่อมาเมื่อกิ่งหลิวเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว ป้าของกิ่งหลิวก็หอบลูกสาวอีกสองคนกลับมาขออยู่กับยาย ยายก็เลยต้องยกบ้านเช่าหลังหนึ่งให้ป้ากับลูกๆ อยู่ เป็นอันว่ารายได้ของยายจึงเหลือเพียงค่าเช่าจากบ้านเช่าหลังเดียวเท่านั้น ถ้าช่วงไหนที่ไม่มีคนมาเช่าบ้าน รายได้ของยายก็เป็นอันว่า ว่างเปล่า นั่นแหละ ยายจึงหันมายึดอาชีพขายผัดไทยในช่วงเย็นที่ข้างศาลเจ้า ซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดและใกล้โรงเรียนของกิ่งหลิวด้วย ทุกบ่ายเมื่อยายลากรถเข็นมายังที่ประจำแล้ว ยายก็จะไปรับกิ่งหลิวมาจากโรงเรียน แล้วทั้งคู่ก็จะอยู่ด้วยกันจนเก็บร้าน ช่วงที่ยายขายผัดไทยอยู่ กิ่งหลิวก็วิ่งเล่นอยู่ในศาลเจ้าแห่งนั้นเอง ถ้าเป็นวันหยุดหรือช่วงปิดเทอม ตกบ่ายสองยายหลานก็ช่วยกันเข็นรถเข็นคันเล็กๆ ที่ใส่ของสด ซึ่งยายไปซื้อมาจากตลาดตอนเช้าแล้วมาจัดเตรียมไว้เรียบร้อยก่อนที่บ้าน ก่อนจะเข็นรถที่ใส่ข้าวของเตรียมมาผัดขาย ส่วนเตาถ่านและโต้ะตั่งที่ใช้วางของขาย ยายก็ฝากไว้ที่บ้านคนรู้จักแถวนั้น กิ่งหลิวจำได้แม่นยำว่า ของสำคัญที่ยายต้องขนไปขนกลับบ้านด้วยเสมอ ไม่เคยทิ้งไว้ที่ใดเลย คือ ตะหลิวกับกระทะ ยายบอกว่า ของสองสิ่งนี้เป็นเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญของยาย ห้ามทำหายเด็ดขาด ยายมักทำท่าว่า รักกระทะและตะหลิวคู่นี้มาก จนตอนเด็กๆ กิ่งหลิวถึงกับคิดไปว่า ชื่อ “หลิว” ของตัวเองนี้ คงมีที่มาจาก “ตะหลิว” แสนรักของยายอันนี้แหละ ครั้นพอโตขึ้นก็ลองทำใจกล้าถามยาย คำถามของเด็กน้อยทำให้ยายก็หัวเราะจนน้ำหูน้ำตาไหล “โถ...ลูก แม่ตะหลิวของยายเอ้ย” แล้วยายก็คว้าตัวเธอเข้าไปกอด ลูบหลังลูบไหล่ เสียงหัวเราะของยายครั้งนั้น กิ่งหลิวยังจดจำได้ไม่ลืม ... จากนั้นยายจึงจูงมือกิ่งหลิวให้เข้าไปในศาลเจ้า แล้วชิ้ให้ดูภาพเจ้าแม่กวนอิมที่อยู่ในกรอบรูปขนาดใหญ่แขวนไว้ที่ด้านหนังของศาลเจ้า “หนูเห็นกิ่งไม้เล็กๆ ที่เจ้าแม่กวนอิมถืออยู่ในมือไหมจ้ะ” ยายชี้ไปที่รูปนั้น “นั่นแหละ ที่มาชื่อของหนู กิ่งหลิว” เด็กหญิงมองตามนิ้วยายแล้วก็จ้องมองกิ่งไม้เล็กๆ ที่มีใบเล็กเรียวนั้นด้วยความงุนงง และไม่เข้าใจประสาเด็กว่า ทำไมยายถึงตั้งชื่อแสนประหลาดนี้ให้เธอ ...อยู่ๆ ยายก็ให้เธอมีชื่อเป็นใบไม้อะไรไม่รู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยคุ้นเหมือนใบมะม่วง ใบกุหลาบ ใบโกสนที่มีอยู่ดาษดื่น กิ่งไม้เล็กๆ นั้น อยู่ในมือเจ้าแม่กวนอิมที่แม้กิ่งหลิวจะชอบเดินมายืนดูภาพนี้บ่อยๆ แต่เธอก็แทบไม่เคยมองเลยด้วยซ้ำว่า เจ้าแม่ถืออะไรไว้ในมือ เพราะเธอมัวแต่มองเสื้อผ้าอาภรณ์อันแปลกตา และรูปร่างหน้าตาของเจ้าแม่ที่งดงาม แล้วฟุ้งฝันไปตามประสาเด็กมากกว่า “หลิว แปลว่า เหลือ แปลว่า อะไรก็ตามที่ได้มาแล้วนั้น ยังเหลือไว้อยู่ เหลือให้เราตลอดไป เหลือจนใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมด” นี่เป็นคำแปลจากภาษาจีนของคำว่า หลิว... ตอนที่ได้ยินยายแปลชื่อของเธอให้ได้ยินครั้งแรก กิ่งหลิวก็ไม่เข้าใจยายเลยสักนิด พาลจะโกรธๆ ยายด้วยซ้ำ … ทำไมยายจะต้องตั้งชื่อให้เธอว่า หลิวที่แปลว่า “เหลือ” ด้วย ...ยิ่งวันใดที่เธอได้ยินป้าของเธอแอบด่าไล่หลังมาให้ได้ยินว่า ...อินังหลิว มันเป็นเด็กเหลือขอ เด็กไม่มีพ่อไม่มีแม่... กิ่งหลิวก็ยิ่งเจ็บช้ำและเจ็บปวด ...เธอไม่ชอบชื่อนี้เอาเสียเลย ไม่เคยชอบเลย... ถ้าจะให้เธอเลือกเอง ตอนนั้นเธออยากมีชื่อว่า “ตะหลิว” มากกว่า “กิ่งหลิว” หรือแม้ยายจะตั้งชื่อเธอว่า “กระทะ” เธอก็ไม่ขัด เพราะอย่างน้อยทั้งกระทะและตะหลิวก็เป็นของสำคัญของยาย เป็นเครื่องมือทำมาหากินของยายและยายรักมันที่สุด แม้แต่ตอนโตแล้วนี้ ถ้ากิ่งหลิวได้เห็นแม่ค้า แม่ครัวตามร้านอาหารตามสั่ง ใช้ตะหลิวผัดกับข้าวอยู่ในกระทะ กิ่งหลิวก็อดน้ำตาซึมไม่ได้ เพราะเธอคิดถึงยายเหลือเกิน... “หลิวชื่อตะหลิวได้ไหมยาย หลิวอยากเป็นตะหลิว ไม่เอากิ่งหลิว” ตอนห้า-หกขวบ เมื่อกิ่งหลิวคะยั้นคะยอขอยายด้วยคำขอเหล่านี้ ยายมักจะหัวเราะ แล้วก็ลูบศรีษะเธอด้วยความรักและเมตตาทุกครั้ง “ตะหลิวเอ้ย โถ ตะหลิวของยาย” แล้วยายก็คว้าตัวเธอเข้าไปกอดจนแน่น แล้วหอมที่ศรีษะซึ่งมักเหม็นเหงื่อจนเปียกแฉะเสมอ แต่ยายก็ไม่เคยรังเกียจมัน และคงคิดเสมอว่า มันหอมชื่นใจยายทุกครั้ง “ถ้าหนูโต หนูได้อ่านหนังสือเยอะๆ ได้เห็นโลกกว้าง ได้รู้จักคนมากขึ้น หนูจะเข้าใจเองว่าทำไมหนูถึงชื่อ กิ่งหลิว แล้วจะรู้ว่าทำไมคำว่า เหลือ จึงสำคัญ ทำไมคนจีนถึงถือว่าคำว่า เหลือ เป็นมงคลนาม แต่หนูต้องสัญญากับยายก่อนนะลูกว่าหนูจะขยันเรียน อ่านหนังสือให้มากๆ มีความรู้เยอะๆ และก็มีความสุขมากๆ มีความสุขล้นเหลือ นั่นล่ะ ถ้าหนูเป็นอย่างที่ยายบอกนี้ ไม่ว่ายายอยู่ที่ไหน ยายก็จะมีความสุขไปด้วย” “จริงเหรอจ้ะ แต่...หลิวก็ยังชอบตะหลิวของยายอยู่ดีแหละ” เด็กหญิงออดอ้อนยายด้วยเสียงอ่อนเบา และยายก็เข้าใจถึงความรู้สึกนี้ของเธอ บ่อยครั้งที่อยู่กันเองสองคน ยายหลานก็มักจะกระซิบกระซาบคุยกัน ช่วงไหนที่ยายอารมณ์ดีมีความสุข ยายก็จะเรียกเธอว่า “ตะหลิว” โดยที่แน่ใจแล้วว่าไม่มีใครได้ยิน อาจจะเพราะสำหรับยายแล้ว คำว่า “กิ่งหลิว” กับ “ตะหลิว” นั้น ความหมายมันห่างกันเป็นโยชน์ก็เป็นได้ จนเมื่อกิ่งหลิวเติบโตขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น เธอจึงเข้าใจในสิ่งที่ยายต้องการ เพราะคำว่า “หลิว” นั้น เป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ ความสุข ความร่ำรวย ที่หมายถึง ของที่มากเกินพอ มากล้นพ้นเหลือเหลือเอาไว้ดีกว่าขาด ความเหลือในที่นี้จึงเป็นมงคล เหลือที่ไม่มีวันหมด แล้วยังมีเหลือไว้อีกในภายหลัง และคำว่า กิ่งหลิว ใบหลิว ดอกหลิว ล้วนเป็นมงคลนามทั้งสิ้น...ทั้งยังหมายถึงความอ่อนน้อม ความสุภาพและความงดงาม ชีวิตของกิ่งหลิวในวัยเยาว์ดำเนินมาเช่นนี้ สองยายหลานมาตั้งโต๊ะขายผัดไทยที่ประจำทุกวันอยู่นานหลายปี ผัดไทยของยายอร่อยและเป็นที่ขึ้นชื่อมาก จึงขายหมดเร็วทุกวัน ตั้งโต๊ะขายแค่สองสามชั่วโมงก็หมดเกลี้ยงแล้ว ดังนี้ยายจึงยังขายมาอีกเรื่อยๆ แต่ขายเท่าเดิมทุกวัน ไม่คิดจะขยับขยายไปมากกว่านั้น เมื่อมีใครมาบอกว่าให้ยายขายจริงจังด้วยการเปิดร้านขายให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที ยายบอกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายเพราะกิ่งหลิวมีเงินไปโรงเรียนทุกวัน เพราะพ่อแม่ของเด็กหญิงก็ส่งมาให้ใช้ทุกเดือนอยู่แล้ว ยายบอกว่า ที่ยังขายอยู่ทุกวัน ก็เพราะยังมีคนชอบกินผัดไทยของยาย ยายมีความสุขที่เห็นคนกินผัดไทยของยายจนหมดจานแล้วบอกกันต่อๆ ว่า อร่อยจัง แค่นี้ยายมีสุขล้นเหลือแล้ว ยายทำผัดไทยขายทุกวัน จนกิ่งหลิวเรียนจบชั้นมัธยมปลาย และได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ แล้ว ยายก็เลิกขาย เพราะยายบอกว่า ไม่มีคู่หูอยู่ขายด้วย ยายก็หมดสนุก สงสารก็แต่ลูกค้าที่บางคนกินมาตั้งแต่เด็กจนโต พอยายเลิกขายไปแล้วเช่นนี้ พวกเขาก็บ่นกันว่า คงหาผัดไทยอร่อยๆ เหมือนของยายกินได้ยากแล้ว ดังนี้ในเวลาต่อมา ป้าของกิ่งหลิว ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของยายจึงมาขายผัดไทยที่หน้าบ้านต่อจากยาย ซึ่งก็ยังมีลูกค้ามาอุดหนุนกันพอประมาณ กิ่งหลิวยังจำความรู้สึกในวันที่เธอจำเป็นต้องออกจากบ้าน ไปจากอ้อมอกยาย เพื่อไปเรียนอยู่กรุงเทพได้ดีว่าการตัดความอาลัยทิ้งนั้น มันสุดแสนยากเพียงใด แต่ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่เธอเลือกเองและพ่อกับแม่ก็ยินดีส่งเสียให้เธอเรียน กิ่งหลิวก็ต้องทำให้มันเต็มที่ กิ่งหลิวเลือกเรียนคณะบรรณารักษ์ เพราะเธอหลงรักหนังสือ รักการอ่านมาตั้งแต่เล็ก จึงหลงใหลไฝ่ฝันอยากเป็นบรรณารักษ์ อยากมีชีวิตอยู่กับกองหนังสือ อยากอยู่กับความเงียบท่ามกลางผู้คนที่ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือในมือเท่านั้น โลกเล็กๆ ในห้องสมุด ในท่ามกลางตัวหนังสือ หนังสือ ชั้นหนังสือ โดยปราศจากถ้อยคำใดๆ ของผู้คน นั่นคือ ชีวิตและอนาคตที่กิ่งหลิวเลือก... “มันเป็นความฝันของหลิวไม่ใช่เหรอลูก ไปเถอะ กรุงเทพกับอยุธยาอยู่ใกล้กันแค่นี้เอง หนูอยากกลับมาบ้านเมื่อไรก็ได้” ในตอนปิดเทอมภาคสุดท้ายขณะเรียนชั้นปีที่สอง ยายกอดจูบกิ่งหลิวก่อนออกจากบ้านครั้งสุดท้าย... จากอ้อมอกของยายวันนั้น กิ่งหลิวไม่คิดเลยว่า มันจะเป็นการพูดคุยกันตอนที่ยายยังดีๆ อยู่ ก่อนจะจากกันไปชั่วนิรันดร์ในอีกปีถัดมา “ไปเถอะลูก เพื่ออนาคตไง” ทุกครั้งที่กิ่งหลิวกลับมาหายายที่บ้าน ขากลับเข้ากรุงเทพฯ เธอก็มักจะงอแง ยืดยาดอยู่เป็นนานสองนานกว่าจะกลับได้ เสียงยายมักแว่วมาในมโนภาพ มันอบอุ่นและชัดเจนเสมอ “แต่หลิวไม่อยากจากบ้านจากยายไปไหนอีกนี่” เสียงยายยังชัดเจน เหมือนเพิ่งได้พูดคุยกันเมื่อวานนี้ ทั้งที่มันผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว กิ่งหลิวไม่รู้เลยว่า วันนั้นเมื่อตัวเองย่างเท้าออกจากบ้านไปแล้ว ชีวิตของเธอก็ไม่มีอะไรเหมือนเดิม เมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นกับยาย แล้วยายก็จากไป ...หลังจากที่นอนไม่รู้เรื่องราวใดๆ อีกนานนับปี ระหว่างนั้นกิ่งหลิวแทบไม่เป็นอันเรียน แต่ก็จำเป็นต้องเรียน เพราะสัญญาที่เคยให้ไว้กับยาย และให้ไว้กับพ่อแม่ เธออยากเรียนให้จบตามกำหนด แล้วทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูยายตามที่ได้ตั้งใจไว้ แม้ยายจะนอนเป็นผักแต่เธอก็ยังเชื่อว่ายายจะอยู่รอจนเธอเรียนสำเร็จ แต่ความฝันกับความจริงมักอยู่ห่างไกลกันมากสำหรับกิ่งหลิว ยายถึงแก่กรรมลงในตอนที่พ่อของเธอล้มป่วยหนัก กิ่งหลิวรับฟังเรื่องที่แม่ต้องวิ่งรอกไปมาสองจังหวัดอยู่พักหนึ่ง จนในที่สุดแม่ก็ต้องปล่อยมือฝั่งยายไป เพราะป้าและลูกๆ ของแกไม่ยินดีที่เห็นแม่เข้ามาวุ่นวายกับงานศพของยาย ทั้งๆ ที่แม่ก็เป็นลูกของยายคนหนึ่ง แต่เมื่อยายไม่อยู่แล้ว สิทธ์ทุกอย่างในบ้านยาย กลายเป็นของป้าคนเดียวเท่านั้น “ไม่เป็นไรนะลูก หลิวไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ ตั้งหน้าตั้งตาเรียนไปเถอะ ตอนนี้เราก็ปล่อยป้าเขาไปก่อน เดี๋ยวถ้าพ่อออกไอซียูและหายป่วยดีแล้ว แม่ค่อยไปว่าจ้างทนายจัดการ มรดกของยายในส่วนของแม่ แม่ก็ต้องได้ อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งเพราะยายมีลูกแค่สองคน ส่วนของแม่ถ้าได้มา แม่ก็จะให้หลิวหมดเลย แม่รู้ยายรักหลิว และหลิวก็รักบ้านนั้น อะไรที่เป็นของหลิว หลิวก็ต้องได้” แม่ให้คำมั่นเช่นนั้น เมื่อกิ่งหลิวกลับมาบ้านหลังผ่านงานศพยายไปได้ไม่นาน แล้วพบว่าบ้านของยายที่เธอเคยอยู่นั้น ป้ากับลูกสาวได้มายึดครองเสียแล้ว และข้าวของของเธอถูกมัดรวมใส่กล่องไปกองไว้ที่ห้องเก็บของ ส่วนห้องของเธอโดนยึดไป ไม่มีใครรู้ชีวิตในวันข้างหน้า แม่เองก็คงไม่รู้ว่า ตัวเองจะไม่มีโอกาสทำเช่นนั้นอีกเลย...
Free reading for new users
Scan code to download app
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    Writer
  • chap_listContents
  • likeADD