ตอน คำสัมภาษณ์ (2)

4802 คำ
“พี่ษิต วันนี้ผมมาคุยกับป้าเดี่ยว ผู้อยู่อาศัยที่หมู่บ้านเพ็ญจันทร์ โครงการ 2 ครับ...” เอกพลหันมาพูดกับกล้องขณะเดินกลับไปที่โต๊ะหินอ่อนซึ่งมีแก้วน้ำของเขาวางอยู่ ภูษิตกะพริบตาสองสามครั้ง เขาสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนทั้งทางกายภาพและอารมณ์ของผู้ที่ยืนเอียงข้างให้กล้องในขณะนี้ เขาคลิกให้ภาพเคลื่อนไหวหยุดนิ่งและมองอย่างพิจารณา ชายที่กำลังลดตัวลงนั่งบนม้าหินอ่อนด้านข้างสตรีที่ถูกเรียกว่าป้าเดี่ยวนั้นดูช่างห่างไกลจากหนุ่มชาวกรุงนักจัดซุ้มดอกไม้และยังเป็นช่างถ่ายรูปเว็ดดิ้งผู้เคยแต่งกายเนี้ยบ รวมทั้งจัดแต่งทรงผมและดูแลใบหน้าให้ดูเกลี้ยงเกลาผ่องแผ้วอยู่เสมอยามที่ต้องไปพบปะลูกค้า ชายหนุ่มผู้นั้นมักคุมโทนน้ำเสียงให้นุ่มนวลน่าฟังและเป็นทางการจนยากที่ใครจะพูดล้อเล่นด้วย แต่เอกพลที่ปรากฏกายอยู่ในจอภาพขณะนี้ดูผ่อนคลาย ไร้รูปแบบ เขาพูดจาเต็มเสียงอย่างเป็นธรรมชาติ วันนี้เขาสวมเสื้อเชิ้ตลายสี่เหลี่ยมปล่อยชายออกมานอกกางเกงยีนส์ตัวหลวม ผมเผ้าเหมือนถูกลมตีมาพักใหญ่ หน้าผาก จมูก โหนกแก้ม หูสองข้างและลำคอเป็นมันด้วยเหงื่อ สีหน้ายิ้มแย้มสงบเย็นและแววตาที่แจ่มใสคู่นั้นดูมีเสน่ห์ดึงดูด น่าเข้าใกล้มากกว่าเอกพลคนก่อนหน้านี้ ภูษิตยิ้มออกมาเล็กน้อยก่อนจะคลิกให้ภาพเคลื่อนไหวไปตามหน้าที่ของมัน “...จริงๆ แล้วฉันชื่อประไพนะคะ คือตอนแรกที่ฉันมาซื้อบ้านเดี่ยวหลังนี้อยู่น่ะ พวกชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าฉันชื่ออะไร เขาก็เรียกฉันว่าป้าบ้านเดี่ยว เรียกไปเรียกมา ตอนหลังก็ลดออกไปหนึ่งคำ เหลือเพียงป้าเดี่ยว เขาเรียกฉันอย่างนี้ฉันก็ไม่ว่าอะไรค่ะ ดีเสียอีก” “อ้อ ครับ..” เอกพลถามต่อ “คุณป้ามาอยู่ที่โคชนะนี่กี่ปีแล้วครับ” เอกพลถาม “สามปีกว่าค่ะ” “ช่วยเล่าหน่อยได้ไหมครับว่าทำไมคุณป้าย้ายมาอยู่ที่นี่ หมู่บ้านโคชนะมีอะไรที่ดึงดูดใจถึงกับทำให้คุณป้าเปลี่ยนแปลงชีวิตจากคนที่เคยอยู่เมืองใหญ่ มาอยู่ในที่เงียบสงบอย่างนี้” ป้าเดี่ยวพยักหน้าหงึกๆ มุมปากมีรอยยิ้มที่แฝงความเครียดไว้ จากนั้นเธอก็เล่าออกมา... “...ก็ไม่มีอะไรมากหรอกค่ะ ก่อนหน้าที่ป้าจะมาซื้อบ้านที่นี่ ป้าทำงานบริษัทที่กรุงเทพฯ ทำที่เดิมติดต่อกันมาตั้งแต่เรียนจบ ป้าไม่เคยไปไหนนานๆ นอกจากลาพักร้อนปีละไม่เกินเจ็ดวันอะไรแบบนี้ พอดีก่อนเกษียณป้าปรึกษาเพื่อนคนหนึ่งว่าอยากไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะน่าจะดีต่อสุขภาพมากกว่า “ทีนี้เพื่อนป้าซึ่งเป็นญาติๆ กับผู้ใหญ่สมจิตเขาพาป้ามาเที่ยวเขาย้อยช่วงต้นฤดูฝนเมื่อสี่ปีที่แล้ว เราไปไหว้พระธาตุ ไปชมถ้ำพระนอน แล้วก็ขับรถเข้ามาที่โคชนะ ป้าเห็นท้องไร่ท้องนาเขียวชอุ่มสดชื่น มีผักผลไม้วางขายหน้าบ้านริมถนน ดูน่าจะเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ “เพื่อนป้าเขาพาไปแวะหาผู้ใหญ่สมจิต แนะนำตัวกันแล้วผู้ใหญ่สมจิตก็พาป้ามาดูบ้านจัดสรรโครงการ 2 ของภรรยาเขาที่เพิ่งขึ้นต่อจากโครงการแรก ตอนนั้นยังสร้างไม่เสร็จ ป้ามองเห็นทุ่งนาเขียวๆไกลสุดตาแล้วก็พอใจว่ามันเหมือนกับที่เห็นในหนังเลย ข้าวกำลังเพิ่งออกรวง ช่วงนั้นมีฝนแล้ว “พอป้ากลับไปกรุงเทพฯ เจอรถติดๆ ฝุ่นหนา ผักผลไม้เคลือบสารเคมีที่ซื้อหาจากห้าง ป้าก็นึกอยากไปอยู่เขาย้อย มันคงจะดีต่อสุขภาพคนแก่ ป้านึกอยากปลูกผักกินเอง อยากขี่จักรยานไปตลาดหาซื้อของสดมาไว้ในครัว อยากฟังเสียงนกร้อง เห็นเมฆ เห็นภูเขาอะไรแบบนั้น “แล้วป้าก็ตกลงใจซื้อเมื่อเพื่อนป้าพามาดูบ้านอีกครั้งตอนมันใกล้เสร็จ” ป้าเดี่ยวเหลียวไปทางตัวบ้านด้านหลัง ซึ่งเอกพลมองตามแล้วพยักหน้า “พอมาอยู่แล้วป้าก็ค่อยๆ เรียนรู้อะไรหลายอย่างที่ป้าไม่ได้เตรียมความคิดไว้ หลายครั้งที่ป้าคิดจะขายบ้านทิ้งแล้วกลับไปอยู่กรุงเทพฯ” “อ้าว เอ๊ะยังไงครับ แต่คุณป้าก็อยู่มาถึงสามปีกว่าแล้วนี่ครับ” เอกพลถาม พลางยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม แดดเริ่มจัด “ป้าก็ต้องลองสู้ดูสักพักแหละค่ะ คุณเอกพลเองก็เพิ่งย้ายมาใช่ไหม” ป้าเดี่ยวถาม “ครับ ผมมาอยู่ได้เดือนครึ่งละครับ ยังไม่ค่อยเห็นอะไรมาก คุณป้าพอจะเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมครับว่าที่คุณป้าพบเจอมานี่มีอะไรที่เป็นปัญหา ผมจะได้เตรียมรับมือ” เอกพลกล่าวพลางหันหน้ามองกล้องแว่บหนึ่ง “เล่าได้ซีคะ เรื่องอย่างนี้ป้าก็อยากจะหาคนฟังอยู่แล้ว” ป้าเดี่ยวตอบแล้วยกน้ำเย็นขึ้นดื่ม จากนั้นก็เริ่มเล่า “จริงๆ มันก็มีหลายเรื่องละนะที่ทำให้ป้าไม่ค่อยอยากอยู่ นี่ป้าเล่าให้คุณเอกพลฟังเพราะเห็นว่าคุณเป็นคนที่ออกมาจากกรุงเทพฯเหมือนอย่างป้า เราต่างก็อยากมาใช้ชีวิตต่างจังหวัดใช่ไหม” “ครับ” เอกพลพยักหน้า “อย่างที่บอกกับคุณไปเมื่อตอนแรกว่าป้ามาเห็นทุ่งนาที่หมู่บ้านเขียวชอุ่มสุดลูกหูลูกตาแล้วป้าก็ชอบ อยากมาอยู่ดูวิวท้องนา “ป้าย้ายมาอยู่ได้ครึ่งปี ป้าก็พบความจริงว่าทุ่งนาเขียวๆ สุดลูกตารอบตำบลนี้น่ะ มันเต็มไปด้วยสารเคมีสารพัดชนิด ไม่มีนาแปลงไหนที่ไม่ฉีดพ่นยา ป้ามาซื้อบ้านหลังนี้ติดกับทุ่งนา ป้าได้รับผลกระทบเต็มๆ คุณเอกพลรู้ไหมว่าเขาพ่นยากำจัดวัชพืชกันตั้งแต่ตอนเตรียมดินปลูกข้าว พอข้าวงอกเขาก็พ่นยาฆ่าแมลงกันยกใหญ่ แล้วก็พ่นไปเรื่อยๆ จนได้เวลาเกี่ยวข้าว เกี่ยวแล้วก็ยังพ่นกันที่ฟ่อนข้าวอีก ตอนแรกป้าไม่รู้ ไม่มีใครบอกป้า ป้าเอะใจว่าทำไมป้าถึงเป็นผื่นคัน เวียนหัว ไม่สบายอยู่หลายเดือน พอทุ่งนาเหลือแต่ตอข้าวป้าก็ค่อยยังชั่ว เข้าปีที่สองนั่นแหละป้าถึงได้รู้ “เรื่องต่อมาที่ป้าเห็นแล้วไม่สบายใจ คือชาวบ้านหมู่นี้เขาชอบจับหมาตัวเมียไปปล่อยตรงโน้นตรงนี้ โดยเฉพาะที่ริมคลองชลประทานมีหมาผอมๆ ที่หาหนูหาเขียดตามทุ่งกินกันตาย พอมันหิวมากๆ เข้ามันก็ไปขโมยไก่ชาวบ้านกิน ถูกเขาตีจนขาเป๋ ต่อมาพอไอ้หมาพวกนี้มีเยอะขึ้น ก็มีคนเอาลูกชิ้นใส่ยาเบื่อไปให้มันกิน แล้วมันก็ดิ้นตายทุรนทุรายซุกอยู่ในกอหญ้า มีกลิ่นหมาเน่าโชยมาทุกบ่อยแหละที่ริมคลอง ป้าเลิกขี่จักรยานไปแถวนั้นนานแล้ว” เอกพลทำตาปริบๆเมื่อได้ฟัง สีหน้าเขาสลดลง ป้าเดี่ยวหยุดไปอึดใจหนึ่งและสีหน้าหม่นลงเช่นกันก่อนจะเล่าต่อ “ปีที่แล้วมีหมาจรจัดตัวหนึ่งเดินอยู่แถวคันนา ชื่อไอ้หมาคอขาด เขาเรียกมันอย่างนี้เพราะมันมีปลอกรัดคอจนเน่าเฟะ มันเดินคอแข็งหาอาหารกินตามทุ่งนา บางทีก็คุ้ยถังขยะเลียเศษแกงจากถุงพลาสติก แต่มันไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้นะ ป้าเห็นก็สงสาร ป้าวางอาหารให้มันกินมุมกำแพงตอนที่มันโซเซมาใกล้ พอมาถึงมันรีบขยอกๆข้าวกลืนโดยไม่เคี้ยว แล้วก็เดินหายเข้าป่าไป มีคนพยายามจับมันเพื่อจะช่วย แต่มันก็ไม่ยอมให้จับ “ไอ้หมาคอขาดเดินอยู่เป็นบริเวณกว้างมาก ไม่มีใครรู้ว่ามันนอนที่ไหน มันเดินผ่านข้างบ้านป้าสองสามครั้ง ป้าตัดสินใจโทรหาหน่วยกู้ภัยที่เขาย้อย เขารับสายแล้วก็บอกว่าเขาไม่มีเครื่องมือและกำลังคนไม่พอ เพราะต้องใช้ปืนลูกดอกยิงยาสลบ และต้องกั้นเขตซึ่งไม่รู้ว่ามันกว้างขนาดไหน คือเขาก็พูดดีและอธิบายดี สรุปคือเขามาไม่ได้ ป้าโทรไปปรึกษาน้องชายว่าจะช่วยมันยังไงดี น้องป้าบอกว่าให้โทรไปที่กู้ภัยอีกครั้งแล้วบอกว่าจะไลฟ์สดออกทางเฟซบุ๊ก จะมีคนเห็นการทำงานของพวกเขาทุกขั้นตอน และพวกเขาจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการช่วยหมาตัวนี้ “ป้าฟังแล้วก็ถอดใจ เพราะป้าคิดว่าพวกเขาคงไม่มาเฝ้าคอยเป็นวันเป็นคืน...แล้วแต่เวรแต่กรรมของมันก็แล้วกัน... “...คือที่ตำบลห้วยกระทบนี่มีแรงงานจรจากที่อื่นมาอยู่เยอะนะ มาอยู่อัดกันในเพิงพักชั่วคราวที่ผู้รับเหมาเขาสร้างไว้ บางทีห้าเดือน บางทีครึ่งค่อนปี มาก่อสร้างโรงงานที่คุณเห็นทั่วไปที่ตำบลเรานั่นแหละ พวกนี้พอเจอลูกหมาที่คนมาปล่อย เขาก็จับมันมาเลี้ยง ใส่ปลอกคอแล้วผูกไว้ ตัวเองไปทำงาน เย็นกลับมาก็มาเล่นกับหมาแก้เบื่อ ทีนี้พอเสร็จโครงการต้องย้ายไปที่อื่น พวกเขาไม่เอาหมาตัวนั้นไปด้วย ปล่อยให้มันหากินไป ปลอกคอก็คาคอไว้อย่างนั้น ทีนี้หมามันตัวโตขึ้น แต่ปลอกคอไม่โตตามตัวไปด้วยนี่สิ มันค่อยๆ ถูกปลอกคอรัดจนหน้าบวม แล้วหนังคอก็เป็นแผลกัดลึกจนถึงหลอดคอ “แต่ไม่มีใครเห็นมันนานแล้ว ไอ้หมาคอขาดน่ะ สงสัยมันจะหลบไปตายในป่า หรือไม่ก็ในท่อระบายน้ำ...เอ่อ...ป้าต้องขอโทษคุณเอกพลนะที่เล่าเรื่องไม่น่าสบายใจให้ฟัง” ป้าเดี่ยวมองเอกพลที่มีสีหน้าสลดแล้วเปลี่ยนเรื่องพูด “เอ่อ วันก่อนมีคนมาคุยให้ป้าฟังว่าคุณเอารถตู้ตระเวนรับผู้สูงอายุให้ไปประชุมที่โรงพยาบาล” “อ๋อ ครับ วันนั้นผมเอารถออกแต่เช้าจะไปซื้อของ เจอคุณป้าสองคนเขารอรถมอเตอร์ไซค์พ่วงอยู่ริมถนน ผมจอดถามว่าจะไปไหน เขาบอกจะไปโรงพยาบาล ไปประชุมที่ชมรม พอดีผมจะไปทางนั้นเลยรับไปด้วย พอขึ้นรถแล้วคุณป้าคนหนึ่งขอผมช่วยรับสมาชิกอีกสองคนที่บ้านใกล้กัน ผมก็ยินดีบริการ ไปๆมาๆ ปรากฏว่าผมได้คนโดยสารเกือบสิบคนครับ” เอกพลเล่าด้วยสีหน้าสนุก “นั่นสิ วันนั้นยายฉาย ยายจำปาหน้าบานเข้ามาคุยกับป้าตอนเย็นว่าน้าเอกพาไปส่งถึงหน้าห้องประชุม” ภูษิตหัวเราะเมื่อได้ยินป้าเดี่ยวเรียกเอกพลว่า “น้าเอก” แต่เขาไม่รู้ว่าช่วงแรกที่เอกพลย้ายมาอยู่โคชนะ พวกชาวบ้านเรียกเขาว่า “น้ารถตู้” จนกระทั่งคุ้นเคยกันจึงได้เรียกเขาด้วยสรรพนามปกติ “มาคุยกันต่อดีกว่า เดี๋ยวคุณจะนั่งนาน ร้อนเกิน ใกล้เที่ยงแล้ว คุยให้จบๆไปเลย” “ดีครับ” เอกพลตอบพลางหยิบแก้วน้ำขึ้นมาดื่มรวดเดียวหมด ภูษิตเริ่มเบื่อดูคลิปนี้ เพราะสิ่งที่หญิงผู้นี้พูดมาแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เขาต้องการรู้ อันที่จริงมันก็พอมีประโยชน์อยู่บ้างด้านข้อเท็จจริงที่เป็นสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านโคชนะในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เขาต้องการรู้คือบริบทแวดล้อมของการแข่งวัวลานที่เขามีความเห็นว่ามันเป็นการทรมานสัตว์ ไม่ใช่เรื่องเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ ภูษิตดื่มกาแฟและอดทนดูจนจบ จากนั้นเขารีบคลิกดูคลิปต่อไปที่เอกพลตั้งชื่อว่า “ลุงอำนวย 21-02-20” 16.30 เขาหวังว่าสองคลิปที่เหลือน่าจะมีข้อมูลที่เขาต้องการ ภาพจากวิดีโอเริ่มต้นด้วยสถานที่โล่งกว้างแห่งหนึ่ง มีรถกระบะติดคอกสเตนเลสหลายคันจอดห่างๆ กันไป ผู้คนทั้งชายหญิงกำลังนั่งพักผ่อนหย่อนใจอยู่บนท้ายรถและบนพื้นดินที่ปูด้วยเสื่อสาน มีกระติกน้ำแข็งขนาดใหญ่ตั้งอยู่ มีถุงพลาสติกใส่อาหารวางกองตรงกลาง ด้านหลังของพวกเขาเป็นราวไม้ไผ่ที่พาดมัดติดกันอยู่เหนือหัว วัวพันธุ์ไทยหลายตัวถูกผูกไว้กับราวนั้น ร่มเงาของต้นไม้บ่งบอกว่าเป็นเวลาบ่ายแก่ “นี่เขาเพิ่งมาเตรียมปรับพื้นให้มันเรียบๆ” เสียงเหน่อของชายสูงอายุผู้หนึ่งกล่าวขึ้น ขณะเดียวกับที่หน้าจอของภูษิตปรากฏภาพของชายวัยประมาณเจ็ดสิบ ร่างสูง แขนขายาว เขาสวมหมวกปีกกว้าง เสื้อเชิ้ต และมีผ้าขาวม้าเคียนเหนือสะโพก เขายกมือป้องหน้ามองไปที่สนามซึ่งมีเสาใหญ่ตั้งตรงกลาง มียางรถยนต์คล้องที่โคนเสาสามวง และมีกระโจมไฟราวซึ่งยังไม่เปิดเนื่องจากยังไม่มืดค่ำ “...ไหนนะ อ๋อ คือพื้นลานมันต้องนิ่ม วัวมันมีกีบ ถ้าวิ่งบนดินแข็งๆ จะบาดเจ็บได้...” ครู่หนึ่งจากนั้นก็เป็นเสียงเอกพลพูดใส่ไมโครโฟนที่ติดไว้กับกล้องวิดีโอ “พี่ษิตครับ วันนี้ผมพาพี่มารู้จักคุณลุงอำนวย กรรมการตัดสินของสนามวัวลานโคชนะ...ผมขออนุญาตเรียกลุงนวยอย่างที่คนอื่นเรียกนะครับ “เรียกอะไรก็ไม่มีปัญหาหรอก ตานวย ลุงนวย ไอ้นวย เรียกพี่ก็ยังได้” ชายสวมแว่นพูดอย่างอารมณ์ดี “ขึ้นไปนั่งบนหอดีกว่าจะได้มองเห็นบรรยากาศ เห็นคนที่เขาเอาวัวมารอแข่ง ปกติพวกกรรมการนี่มาสักค่ำๆก็ได้ แต่ลุงไม่ค่อยชอบอยู่บ้าน มันรำคาญหู มาที่สนามนี่ยังมาเห็นวัวสวยๆงามๆ มาดูท่าดูทางมันหน่อย จริงๆ วัวที่เขาเอามาลงสนามนี่มันก็ดีทุกตัว แต่นิสัยความถนัดของมันไม่เหมือนกัน” “อ้อ ครับ” เสียงเอกพลพูดตอบขณะเดินตามหลังลุงอำนวยโดยถ่ายภาพไปรอบๆ บริเวณ มีรถบรรทุกวัวเข้ามาจอดเพิ่มเป็นระยะ ผู้คนที่ยืนเกาะคอกสเตนเลสหลังรถล้วนเป็นผู้ชาย ซึ่งมีทุกวัย “เขาต้องเอาวัวมาพักล่วงหน้าสักสองชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ให้มันใจเย็นลง” เมื่อเดินมาถึงโครงเหล็กสี่เหลี่ยมกว้างสูงประมาณสี่เมตรมีแผ่นไม้กระดานรองนั่งอยู่ด้านบน ลุงอำนวยก็ปีนขึ้นไปอย่างคล่องแคล่วและยืนจับราวเหล็กมองไปรอบๆ “ตามขึ้นมาเลยคุณเอกพล อยู่บนนี้เห็นได้รอบ” ห้านาทีจากนั้นภูษิตก็ได้เห็นภาพที่บันทึกจากมุมสูงเหนือพื้นดินไม่มากนัก แต่แสงสีที่ปรากฏขึ้นนั้นให้ความรู้สึกโดดเดี่ยว ห่างไกลจากอารยวัตถุอย่างที่คนในเมืองสร้างขึ้นแวดล้อมตนเอง รอบสนามวัวลานสีน้ำตาลอมเทาถูกสาดด้วยแสงแดดอ่อน ต้นตาลยืนต้นอยู่เป็นระยะ ไกลออกไปเป็นภูเขาสูงลูกเดี่ยวโดดเด่นอยู่ท่ามกลางทุ่งนาที่แห้งแล้ง แนวเมฆสีสันราวกับถูกน้ำผึ้งหกราดทอดตัวต่ำ มีแสงพระอาทิตย์เป็นลำฉายทแยงอยู่เบื้องหลัง “นั่นน่ะ เขาอีโก้ มีวัดมีถ้ำอยู่บนนั้น มีพระนอนองค์ใหญ่โต เห็นทางอบต.หนองชุมพลจะประชาสัมพันธ์ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่มันก็เงียบๆไป” “อ้อ ครับ” เอกพลตอบรับเสียงขรึม เขาคงกำลังเหม่อมองแสงพระอาทิตย์ยามเย็น บรรยากาศเริ่มคึกคักขึ้นในบริเวณรอบๆ สนาม ทันใดนั้นมีเสียงตะโกนเอะอะดังแทรกเข้ามา เอกพลหันกล้องไปยังเหตุการณ์ชุลมุนที่กำลังเกิดขึ้นไม่ไกลจากหอกรรมการ วัวพันธุ์ไทยสีน้ำตาลแดงตัวหนึ่งกำลังกระโจนหกหน้าหกหลังอย่างดื้อดึง กระดิ่งที่ห้อยคอส่งเสียงระรัว มันเพิ่งเผ่นลงมาจากกระดานไม้ที่ทอดลงจากคอกท้ายรถกระบะ ชายฉกรรจ์หลายคนวิ่งตามไปติดๆ แต่เจ้าวัวสีน้ำตาลซึ่งหัวของมันประดับตกแต่งด้วยมงกุฎงดงามไม่ยอมให้จับโดยดี หนุ่มร่างใหญ่คนหนึ่งดีดตัวเข้าประกบและดึงเชือกที่ผูกคอมันไว้ได้ จากนั้นก็เป็นการชักเย่อกันระหว่างวัวที่มีมัดกล้ามเกร็งเขม็งกับชายคนนั้นซึ่งพยามตะล่อมให้มันกลับเข้าไปยังราวพัก คนที่อยู่โดยรอบต่างพากันยืนมองดูรูปร่างและลักษณะของเจ้าวัวหนุ่มอย่างชื่นชมพลางกล่าววิพากษ์วิจารณ์ ในที่สุดหนุ่มร่างใหญ่ก็บังคับวัวตัวนั้นจนได้และดึงมันกลับมาผูกที่ราว เขายืนลูบหัวเจ้าวัวดื้อให้มันคลายความเครียด “เจ้ายอด ลูกชายผู้ใหญ่สมจิต โตมาในคอกวัว แข็งแรงปราดเปรียวเหมือนวัวนอก วัวตัวใหญ่กว่านี้เขาก็จับคนเดียวไหว” ลุงอำนวยกล่าวอธิบาย “วัวแดงนั่นหนะของผู้ใหญ่แก ชื่อทับทิม เขาไม่ได้ตอนมัน มันจะได้คึกๆ อย่างนี้ พอปล่อยตัวนี่วิ่งไม่รอใคร เขามันแหลมเปี๊ยบเลยนะ ขวิดเจ้ายอดหูฉีกมาแล้ว” เอกพลปล่อยให้ลุงนวยพูดไปเรื่อยๆ อยู่คนเดียว โดยเขาทำเสียงตอบรับเป็นครั้งคราว “วัวลานนี่เขาใช้แต่วัวตัวผู้นะ แล้วก็ต้องเป็นวัวพันธุ์ไทยที่ตัวไม่โตมาก ไม่งั้นมันเทอะทะ วิ่งสองสามรอบก็ถูกลากแล้ว “นอกจากนั้นเขาก็ต้องดูลักษณะมันด้วย วิธีคัดวัวเขาสังเกตกันหลายอย่าง ตั้งแต่หัวจรดปลายหางเลยแหละ หน้าต้องแหลมเหมือนหน้าหนู หูต้องเล็ก ตาต้องกลมใส สีก็ต้องดูให้เหมาะ สีน้ำตาลแดงแบบเจ้าทับทิมนี่ก็งาม แต่หน้ามันไม่มีแด่นใบโพ ถ้าจะให้ครบจริงๆ นี่ต้องเข้าตำราหน้าแด่น หางดอก หนอกด่าง ลึงค์เป็นลำ” “หางดอกนี่ยังไงครับ” เสียงเอกพลถาม ขณะที่กล้องจับอยู่บนลานในสนามซึ่งเปิดไฟแล้ว มีผู้คนเดินพลุกพล่านและมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยกันมัดเชือดที่โคนเสากลางหรือที่ชาววัวลานเรียกเสาเกียด “หางดอกคือหางเป็นพู่สีขาว ดูไอ้ตัวนั้นน่ะ เขาโง้งคว่ำมาข้างหน้า หนอกมีด่างขาว ข้อเท้าขาวเหมือนใส่ถุงเท้า ราคาเหยียบแสนนะ มาจากชะอำ เจ้าของเขาเอามาตั้งแต่เมื่อวาน” ลุงอำนวยส่งเสียงแสดงความรู้สึกชื่นชม เขาพูดไปเรื่อยๆ “อีกอย่าง วัวที่จะเอามาวิ่งลานส่วนใหญ่เขาตอนโดยการทุบเส้นที่กระโปก นานไปรูปร่างมันจะค่อยๆ เพรียวเหมือนวัวตัวเมีย หนอกไม่อูม กล้ามเล็ก เปรียว คล่องตัว วิ่งเร็ว แต่ไอ้เก่งๆอย่างนี้น่าเสียดายที่ไม่มีทำพันธุ์” มีรถกระบะบรรทุกวัววิ่งเข้ามาจอดริมสนามอีกสามคัน ฝุ่นจากถนนที่ตัดผ่านทุ่งนายังม้วนตัวลอยกระจายเรี่ยดิน เมื่อท้ายรถเปิดออก เด็กชายวัยไม่เกินสิบสามขวบสองคนก็กระโดดลงมาเอาไม้พาดเป็นสะพาน ผู้ชายสองคนที่ยืนประกบวัวสองตัวรีบเร่งจูงวัวรูปร่างเล็กแกร่งให้ลงมาจากกระบะหลัง มีเด็กวัยรุ่นอีกหลายคนกรูตามลงมาพร้อมกับส่งเสียงเฮฮา บรรดาหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ที่ยืนอยู่ก่อนหน้าตีวงเข้าไปดูวัวมาใหม่ที่ถูกสนตะพายและผูกคอด้วยเชือกสีแดง พวกเขารู้จักชื่อนักวิ่งสองตัวนี้และวิพากษ์วิจารณ์ฝีเท้าของ “เขียวส่อง หนองปลาไหล” และ “ยอดธง หนองปลาไหล” ที่พวกเขาเคยเห็นผลงานมาก่อน ลุงอำนวยเองก็ชะโงกหน้าจากราวบนหอทักทายเจ้าของค่ายที่เพิ่งออกจากที่นั่งคนขับรถลงมากำกับให้ลูกทีมจูงวัวไปผูกที่ราว จากนั้นก็หันมาคุยกับเอกพลต่อ “วัวลานนี่สนุกหลายอย่างนะคุณ คนกรุงเทพฯ ไม่เคยดูก็ไม่รู้ว่ามันสนุกอย่างไร วัวแต่ละเจ้านี่ขนกองเชียร์กันมาเพียบ ตั้งแต่รุ่นใหญ่ถึงรุ่นเล็ก ไปๆมาๆ ก็รู้จักกันหมดตามรุ่น เป็นเครือข่ายใหญ่โตข้ามจังหวัด มีอะไรก็บอกกล่าวช่วยเหลือกัน ใครเป็นเจ้าของคอกเขาก็เรียกเสี่ย ที่ดังๆ ก็มีอย่างเช่น เสี่ยกบ ช่องแค - เสี่ยก้อง หนองช้างตาย – เสี่ยแจ๊ค เขางู - เสี่ยเบิ๊ด บางควาย - เสี่ยโจ้ เขาสะแก - เสี่ยป้อง บ่อนอก – เสี่ยโน้ต บ้านขลู่ ฉายาพวกเขาก็ตามชื่อค่ายวัวของตัวเองนั่นแหละ วัวดังๆ ของเสี่ยพวกนี้ก็มีฉายาตามชื่อค่ายเหมือนกัน อย่างเช่น ลูกยอด หนองช้างตาย - เพชรกล้า เขางู - มะโรง ห้วยกระแทก – เด็กแว้น ดอนเต่า หรืออย่างไอ้สองตัวนี่ก็มาจากค่ายหนองปลาไหล... “...เป็นไง ฟังแล้วอยากมีคอกวัวเองไหมคุณ จะได้มีคนเรียกเสี่ย” ลุงอำนวยกระเซ้า “ผมเลี้ยงวัวไม่เป็นครับลุง ออกจะกลัวๆด้วยซ้ำ” เอกพลตอบเจือเสียงหัวเราะ “มันก็ไม่ยากหรอก ลองเลี้ยงสักตัวแล้วจะชอบ” จากนั้นเป็นภาพลุงอำนวยโน้มตัวลงไปทักทายกับคนที่อยู่ข้างล่างสองสามคำ แล้วหันมาคุยต่อ “พอมีวัวเก่งๆ สักตัวแล้วจะอยากมีเพิ่มอีกเรื่อยๆ พอมีเยอะแล้วก็อยากจะเอาไปลงสนามดูฝีตีนมัน ถ้าวัวเราชนะมานี่แทบจะเข้าไปอุ้มเลยนะ ถ้าแพ้มาเราก็ยังรักและดูแลต่อไป พวกวัวลานนี่ส่วนใหญ่เขาเลี้ยงกันแบบลูกคนหนึ่งเลย” “ครับ” เอกพลตอบแล้วเขาก็เปลี่ยนคำถาม “คุณลุงครับที่โคชนะนี่แข่งกันบ่อยไหมครับ” “ที่หมู่บ้านเรานัดลงลานกันทุกคืนวันศุกร์ ถ้าตรงกับวันพระก็เลื่อนไปเสาร์ เวลาเล่นเปิดไฟสว่างยังกะงานวัด ถ้าเป็นช่วงเทศกาลก็จะมีวงดนตรี บางที่มีรถแห่แตรวงด้วยนะ เขาเล่นกันดึกๆ ถึงรุ่ง สามสี่ทุ่มโน่นถึงจะเริ่ม ความบันเทิงของหนุ่มลูกทุ่งบ้านเรานอกจากรำวงแล้วก็มีวัวลานนี่แหละ ส่วนพวกผู้หญิงก็ปล่อยเขาอยู่บ้านดูหนังดูละครกันไป พวกเด็กที่เรียนหนังสือเขาไม่มาดูหรอกวัวลาน มันไม่ทันสมัย เด็กพวกนี้เอาแต่ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์.. “คืนหนึ่งแข่งกันหลายเปิด เปิดก็คือรอบแข่งของแต่ละคู่ชกนั่นแหละ จับฉลากกัน คู่ไหนจะวิ่งค่ำวิ่งดึกก็ว่ากันไป บางเปิดวิ่งกันไม่ถึงสิบรอบ วัวรองก็โดนลากแล้ว แต่บางเปิดวิ่งกันเป็นร้อยกว่ารอบไม่มีใครยอมใคร” “คุณลุงครับ คือผมดูวัวลานไม่เป็น ไม่รู้ว่ากติกาเป็นอย่างไร รู้แต่ว่ามีวัวเอามาผูกเรียงกันในราวแล้วให้มันวิ่งไปพร้อมกัน” เอกพลถาม “ไม่ยากหรอกคุณ ดูไอ้สองตัวที่อยูรอบนอกก็พอรู้เรื่อง พูดง่ายๆ คู่แข่งตัวจริงก็คือวัวตัวนอกกับวัวตัวที่ผูกอยู่ข้างกันนั่นแหละ ปกติราวหนึ่งเขาใช้วัวทั้งหมดสิบเก้าตัว ทีนี้สมมุติเราติดเบอร์ให้มัน ตัวที่อยู่ชิดเสากลางที่ชาวบ้านเขาเรียกเสาเกียดนั่นน่ะ เป็นเบอร์หนึ่ง ตัวที่สองก็เบอร์สอง แล้วก็เบอร์สามต่อกันไปจนถึงสิบแปด ตัวที่ต้องแข่งกันจริงคือเบอร์ 18 เรียกว่าวัวรอง และเบอร์ 19 ตัวนอกสุดเรียกวัวนอก ไอ้สองตัวนี่แหละที่ต้องเอาชนะกัน ถ้าวัวนอกวิ่งออกหน้าวัวรองได้สักช่วงตัวก็ถือว่าชนะ แต่หากวัวรองออกหน้าวัวนอกไปช่วงตัวหนึ่ง วัวรองก็ชนะ “วิ่งกัน 140 -150 รอบก็เคยมี ไม่ตายหรอก แค่น็อกสลบไป เจ้าของเขาก็นวดให้มันฟื้น อันที่จริงถ้าเจ้าของเห็นว่าวัวตัวเองวิ่งไม่ไหวและกลัวมันตาย เขาต้องตัดสินใจยอมแพ้ เพราะไม่งั้นมันจะนอน นอนก็หมายถึงถูกลากไปน่ะ เห็นบ่อย วัวรองบางค่ายวิ่งไปสักรอบที่ห้าสิบหกสิบ มันไม่ไหวแล้ว แข้งขาเปลี้ย แต่เจ้าของไม่ยอมแพ้ สักพักมันก็ทรุด ถูกตัวอื่นลากไปเป็นครึ่งรอบ เจ้าของเข้าตะครุบแก้เชือกแล้วก็ยังไม่ลุก ปีที่แล้วก็มีนักข่าวช่องอะไรมาถ่าย เขาเห็นวัวล้มถูกลากไป นักข่าวผู้หญิงนี่เอามือปิดหน้าร้องไห้เลย” “อ้อ ครับ” เสียงเอกพลเหมือนจะอึ้งไป “แต่เขาไม่รู้หรอกว่าศักดิ์ศรีวัว ถ้าไม่ตายคาสนามก็ได้กลับคอก ไม่ว่าแพ้หรือชนะส่วนใหญ่เจ้าของเขาดูแลอย่างดี บางตัวถ้าตายลงเจ้าของเขาทำพิธีฝังให้เลยนะ เพราะทำเงินทำทองให้ ได้รางวัลเข้าบ้านมากมายตั้งแต่จักรยาน พัดลม โทรทัศน์ เก้าอี้โซฟา ถังคูลเลอร์ ผ้าห่ม หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส วัวหาให้ทั้งนั้น” ภูษิตเพ่งมองหน้าจอและสังเกตได้ถึงความกระตือรือร้นอยากบอกอยากเล่าของผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งเขาเคยคุยกับลุงอำนวยมาก่อนเมื่อปีที่แล้ว ลุงอำนวยพูดต่อขณะที่สายตากวาดไปรอบบริเวณจากหอกรรมการ “ผู้ใหญ่สมจิตนี่เขานักเลงวัวลานนะ ตัวจริงเลยแหละ ทำคอกใหญ่โตโอ่โถง วัวเลี้ยงปล่อยเขาก็มีฝูงใหญ่ ให้เจ้ายอดต้อนไปหาหญ้าตรงโน้นตรงนี้กิน บ้านจัดสรรเขาก็ทำสองโครงการเล็กๆ บนที่ดินพ่อตาเขานั่นแหละ เมียเขาเป็นคนลงทุน ผู้ใหญ่แกช่วยหาคนมาเช่ามาซื้อ เขารักใคร่กันดีครอบครัวนี้ ลูกสาวเขาสองคนทำงานรีสอร์ทเมืองปราณ เห็นเขาคุยว่าได้ทิปจากฝรั่งทีละหลายร้อย “ตัวผู้ใหญ่กับลูกชายถนัดทางเลี้ยงวัว วัวคอกของเขานี่ปูผ้าใบอย่างดีให้นอน อาบน้ำอาบท่าให้ทุกบ่าย พอใกล้ถึงวันแข่งนี่โด๊ปด้วยไข่วันละโหล กล้วยน้ำว้าดองน้ำผึ้ง น้ำแดง ก่อนแข่งก็เอาลิโพให้มันกินอีกสองสามขวด เอาอกเอาใจยิ่งกว่าลูก “เรื่องพนันเขาก็เล่นเล็กๆ น้อยพอสนุก พอได้เพื่อน คือใจแกถือศักดิ์ศรี แกเป็นนักเลงวัวจริงๆ รู้จักที่มาที่ไป แกดูวัวเก่ง แกไปดูตามคอกโน้นคอกนี้ บ้านญาติ บ้านเพื่อน ส่วนใหญ่ก็รู้จักกันที่สนามนั่นแหละ ตัวไหนหุ่นดี ท่าทางปราดเปรียว มีลักษณมงคล แกก็แล่นไปขอซื้อ ตัวหนึ่งนี่ไม่ใช่เล่นๆ นะ ตัวเล็กๆ ยังไม่โตดีก็หลายหมื่น ตัวขนาดที่เอามาหัดวิ่งแกซื้อห้าหมื่นก็มี ส่วนตัวไหนที่ฝึกมาแล้ว คุ้นสนามบ้าง ถ้าแกชอบแกซื้อเลย เอารถไปรับ มาทำพิธีรับขวัญเจิมหน้าผาก “สักเดือนสองเดือนแกก็ให้เจ้ายอดเอารถบรรทุกขนวัวพวงไปช่วยเขาลงลานที่ปราณบุรี กุยบุรี ปากท่อ ราชบุรี เมืองกาญจน์ นครปฐม ก็ไปทำให้สนามเขาคึกคักแบบเดียวกับที่พวกเขาเอาวัวมาลงลานบ้านเรา ลูกชายเขาฝึกวัวเก่ง เช้าตื่นขึ้นมา เอาละ เอาวัวผูกเสา อาบแดด ไล่ให้มันวิ่งวนเสารอบแล้วรอบเล่าทุกเช้า” “อ้อ ครับ” เสียงเอกพลตอบ “เอ้า นั่นจ่าแสงกรรมการอีกคนมาแล้ว เดี๋ยวลุงต้องไปช่วยเขาจัดคิวหน่อย คุณเอกพลลองไปคุยกับเสี่ยเหนาะดูก็ได้ นั่นหนะ เขาเลี้ยงวัวอย่างเดียวเลย ไม่ได้ทำหลายอย่างเหมือนผู้ใหญ่” “ขอบคุณมากครับลุงนวย” “ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร วันหลังคุยกันใหม่” “ครับ สวัสดีครับ” คลิปนี้จบลงด้วยภาพสนามวัวลานที่กำลังเริ่มมีผู้คนมากขึ้น รอบๆ สนามมีวัวหลายสิบตัวผูกอยู่ที่ราวพัก รถกระบะที่ต่อเติมด้านหลังเป็นคอกจอดอยู่นับสิบคัน
อ่านฟรีสำหรับผู้ใช้งานใหม่
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอป
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    ผู้เขียน
  • chap_listสารบัญ
  • likeเพิ่ม