อวสานราชวงค์อลองพญา
อลองพญาเป็นกบัตริย์พม่าที่มีประวัติไม่ธรรมดา จากฐานะสามัญชนต่ำต้อยสู่ฐานะสูงสุดในแผ่นดิน
นักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับว่า อลองพญาเป็นนักวางแผนประเภทตามองดาวเท้าติดดิน จอมอัจฉริยะคนหนึ่งของพม่าเทียบเท่ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เช่น อโนรธา, ตะเบงชะเวตี้, และบุเรงนอง
เขาเป็นนักรบเก่งกล้า เฉลียวฉลาดอย่างน่าอัจศจรรย์ ใช้เวลาเพียง ๔ ปีก็สามารถขึ้นครองบัลลังก์กษัตริย์ได้สำเร็จ
แต่ความแกร่งของอลองพญาก็นำไปสู่หายนะ ๒ ประการ คือ
๑.ความตายของตนเอง
๒. ผู้สืบสายเลือดมักจะอวสานด้วยโรคประหลาด – เสียสติ !
ขอเริ่มประวัติสามัญชนคนนี้ก่อน
มีชายคนหนึ่งชื่อว่า ‘อองไชยะ’ เป็นนายบ้านตำบลมุกโชโบ แขวงเมืองอังวะ เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพการเป็นผู้นำ แถมยังมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ๒ คน ที่เป็นแรงสนับสนุนช่วยคิด ช่วยทำ ชักชวนไพร่บ้าน พลเมืองเข้ามาเป็นสมัครพรรคพวก ร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่น ขยันขันแข็งประกอบอาชีพ ทำมาหากิน และมีการฝึกฝนอาวุธไว้ป้องกันตัวในยามจำเป็น เพราะชุมชนที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะอยู่ได้อย่างสันติ
ครั้นมีพวกมากก็เริ่มก่อปฏิกิริยาต่ออำนาจรัฐ ที่ชอบข่มเหงรังแกราษฎรไม่ว่างเว้น อองไชยะและพรรคพวกไม่ยอมเสียส่วยเข้ารัฐ สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้มีอำนาจยิ่งนัก
ขุนนางมอญผู้ปกครองเมืองอังวะประกาศต่อหน้าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า
“ถ้าปล่อยให้มันเติบโต ต่อไปภายหน้ามันจะก่อความไม่สงบในบ้านเมืองของเรา”
เจ้าเมืองอังวะจึงเข้าจัดระเบียบสังคมที่ตำบลบ้านมุกโชโบ แต่ก็ทำอย่างแยบยล
ขั้นแรกได้เชิญตัวอองไชยะ มาสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกิจการบ้านเมือง ต่างให้เกียรติและยอมรับกันอย่างลูกผู้ชาย ไม่มีการแจ้งข้อหาใด ๆ แต่อองไชยะเป็นคนมีปฏิภาณ ไหวพริบดี คิดว่าอาจมีรายการ อุ้ม! ตนหรือคนในคอบครัวในไม่ช้า จึงแกล้งรับปากว่าจะให้ความร่วมมือกับเจ้าเมืองทุกประการ โดยยินยอมเสียภาษีให้
แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ปฏิบัติตามคำพูดเสียที
มิหนำซ้ำ อองไชยะยังเรียกกำลังพลท้องถิ่นเข้ามาเสริมทีมงาน รวมกันเป็นกองทัพน้อย ๆ ที่มีความฮึกเหิมเต็มที่
ทางเจ้าเมืองอังวะก็ได้รับข้อมูลทางลับเห็นว่าอองไชยะคิดไม่ซื่อ รีบส่งกองทัพไปปราบทันที
แทบไม่น่าเชื่อ !
ฝ่ายที่แตกพ่ายคือกองทัพราชการเมืองอังวะนั่นเอง
เหตุการณ์ช่วงนี้มีร่องรอย ดังนี้
“...เมื่ออองไชยะสามารถสู้มอญได้เช่นนี้ คนทั้งหลายก็เห็นเป็นอัศจรรย์ ชาวพม่าเป็นอันมากพากันมาเข้าด้วย พระเจ้าธอพุทธเกษี ซึ่งอยู่ที่เชียงใหม่ก็มาเข้าด้วยเหมือนกัน อำนาจของอองไชยะจึงแผ่ไพศาลยิ่งขึ้นทุกที ในปี จ.ศ.๑๑๑๗ (พ.ศ.๒๒๙๘) คือสองปีภายหลังตีเมืองอังวะได้กองทัพพม่าในความควบคุมของอองไชยะก็ตีรุกมอญลงไปจนตีได้เมืองย่างกุ้ง แล้วก็เข้าล้อมกรุงหงสาวดี”
ผลของสงครามคราวนั้นปรากฎว่า
พระเจ้าหงสาวดีตกลงยอมแพ้โดยดี แถมยังยกธิดาให้แก่อองไชยะอีกด้วย แต่แม่ทัพหลายคนของพระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นดีด้วย พอถึงเวลากลางคืนก็เข้าปล้นกองทัพอองไชยะ
ดังนั้น อองไชยะจึงเร่งจัดการโจมตีหงสาวดีเป็นการใหญ่
แล้วหงสาวดีก็ย่อยยับ แหลกราญทั้งบ้านเมืองและผู้คน ชาวบ้านและพระสงฆ์ถูกฆ่าฟันเป็นว่าเล่น อองไชยะกวาดเก็บเอาพัสดุเงินทองของมีค่า พร้อมกับจับแม่ทัพคนสำคัญเป็นเชลยไปกักขังไว้ที่เมืองมุกโชโบ
อองไชยะก็สร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่เมืองมุกโชโบซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตัวเอง ขึ้นครองบัลลังก์พม่ามีนามว่า อลองพญา!
อลองพญาแปลว่า พระโพธิสัตว์ มีความหมายว่า ผู้มีบุญจะมาช่วยกอบกู้เพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากความทุกข์เข็ญหนีความยากจนในไม่ช้า อองไชยะในนามอลองพญาก็ทรงมีความเชื่อเช่นนั้นอย่างเหนียวแน่น จึงทำทุกวิถีทางที่จะไปสู่ความสำเร็จซึ่งหนีไม่พ้นสงคราม การแผ่แสนยานุภาพไปยังดินแดนใกล้เคียงคือภาระกิจหลัก
และเป้าหมายคราวนี้คือ อยุธยา !
วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๓๐๓ อลองพญากรีฑาทัพเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
วางแผนการรบด้วยวิธีการเข้ายึดพระอารามเป็นฐานที่มั่น ประกอบด้วย วัดราชพลี วัดกษัตราธิราช วัดหัสดาวาส และวัดหน้าพระเมรุ ด้วยคิดว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจวาสนา บุญบารมีเทียบเท่าพระโพธิสัตว์ ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ทั้งปวง สั่งให้ตั้งปืนใหญ่ที่ลานวัดหน้าพระเมรุ ซึ่งพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสำริด ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ หน้าตักกว้าง ๔.๔๐ ม. สูง ๖ ม. มีพระนามว่า “พระพุทธนิมิตพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ”
แล้วระดมยิงเข้าใส่วังกรุงศรีอยุธยาทั้งกลางวันกลางคืน อุโบสถ มณฑป และพระวิหารที่ตั้งอยู่ภายในเขตพระราชฐานต่างพังยับเยิน รวมทั้งยอดพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ก็หักพังพินาศลง
เดชะ ! ความพ่ายแพ้มิได้เป็นของกรุงศรีอยุธยา แต่เป็นของอลองพญา!
มันเป็นลางร้ายของอลองพญาโดยแท้ที่ใช้ลานวัดหน้าพระเมรุเป็นสถานที่ย่ำยี่ชาวไทยต่อพระพักตร์พระพุทธรูปคู่เมือง จากมือที่เคยถือหอกดาบเข่นฆ่าผู้คนมามากต่อมาก ปืนใหญ่ที่ร้องคำรามมาไม่หยุดก็พลุ่งพล่านด้วยความร้อนระอุภายใน มันระเบิดตัวเองออกเป็นเสี่ยง ๆ ถูกทหารพม่าบาดเจ็บ ล้มตายจำนวนมาก โดยเฉพาะอลองพญาก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส จนไม่อาจบัญชาการรบได้
ในที่สุดต้องเลิกทัพกลับทางด่านแม่ละเมา แต่ยังไปไม่พ้นเขตกรุงศรีอยุธยา วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๓๐๓ อลองพญาสิ้นพระชนม์ที่ตำบลเมาะกะโลก เมืองตาก ด้วยพิษบาดแผลปืนใหญ่แตก
มือที่เคยนำชัยชนะและอำนาจมาให้ แต่แล้วมันกลับสะสมพิษร้าย ทิ่มแทงความเจ็บปวดแสนสาหัส แล้วมอบความตายแก่ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล อลองพญา ! อลองพญาจะมีญาณวิเศษมองเห็นอนาคตหรือไม่ก็ตาม ร่องรอยจากการกระทำบนบัลลังก์แห่งอำนาจวาสนาได้บ่งบอกว่าลางร้ายแห่งราชวงศ์อลองพญาได้ตั้งเค้าทะมึน !
หลังจากสมัยอลองพญาแล้ว กษัตริย์ผู้ปกครองพม่าก็มักจะพบจุดอวสานอันแสนจะน่าเวทนา คือ
๑. มังระ ราชบุตรผู้เก่งกล้าของอลองพญา ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก (ครั้งที่ ๒) เมื่อกลับไปถึงพม่า - เสียสติ
๒ .พระเจ้าปะดุง น้องชายมังระ- เสียสติ
๓ .จักกายแมง หลานพระเจ้าปะดุง- เสียสติ
๔. สราวดี น้องชายจักกายแมง -เสียสติ ชอบลงโทษคนด้วยการให้ช้างเหยียบ
๕.พระเจ้าธีบอ กษัตริย์ราชวงศ์อลองพญาองค์สุดท้าย เป็นคนอ่อนแอ ขาดความเป็นผู้นำ
ในที่สุดประเทศพม่าก็เสียเอกราชแก่อังกฤษ
*******