คำสาปสามพระนาง

4487 คำ
******* คำสาปสามพระนาง ตอนที่ 1 แสงอรุณเบิกฟ้าวันใหม่สาดส่องระยิบระยับเหนือเวิ้งสายธารอันจะกลายเป็นตำนาน"เวิน"ศักดิ์สิทธิ์ในกาลต่อมา เบื้องหน้าเหล่าชายฉกรรจ์คือห้วงน้ำสีมรกตกว้างใหญ่ น่าพรั่นพรึง ลึกลงไปใต้บาดาลเบื้องล่างเย็นยะเยือกนั้นชวนผวาเสมือนมีขนดร่างมัจจุราชแอบซ่อนตัวคอยส่งเสียงคำรามงึมงำอย่างเกรี้ยวกราดอยู่ชั่วนาตาปี ขุนเวทาครุ่นคิดทุรนทุรายอยู่กับเรื่องราวความฝัน"ไม่ดี"เมื่อคืนด้วยสายตาหวาดวิตก ไม่เหลือความฮึกเหิมเยี่ยงชายชาตินักรบแม้แต่น้อย แต่เขาก็ไม่อาจปริปากบอกลูกมือเหล่านั้นได้เลยเพราะมันจะเป็นอุปสรรคในการทำงานครั้งนี้ให้พลาดเป้าหมายสำคัญจนเจ็บปวดไปตราบชั่วชีวิต โดยไม่มีโอกาสแก้ตัว ชัยชนะเหนือดินแดน"ล้านช้าง"ในคราวนี้จะบริบูรณ์ได้ต่อเมื่อขนย้ายสรรพสิ่งล้ำลือเหล่านี้โดยเฉพาะของที่ชาวเมืองยึดเหนี่ยวจิตใจไปถวายท่านแม่ทัพที่คอยรับอยู่อีกฝั่งหนึ่งได้เป็นผลสำเร็จ บาดแผลจากสงครามของเขาและเหล่าไพร่พลจะได้การสมนาคุณตอบแทนจากองค์เหนือเกล้าขึ้นไปอย่างคุ้มค่าหาที่สุดมิได้เลยทีเดียว ขุนทัพหนุ่มเฝ้ามองเหล่านักรบในสังกัดกว่าสิบคนที่เพิ่งมีชัยเบ็ดเสร็จในสนามรบครั้งสุดท้ายตีค่ายเวียงจันทน์แตก ต่างเปลือยกายท่อนบนมองเห็นมัดกล้ามสะท้อนแสงปราบปร่าด้วยเหงื่อเม็ดโตหยดพราวอาบเนื้อตัว ต่างกุลีกุจอจัดการอัญเชิญพระพุทธปฏิมาที่งดงามและล้ำค่าทั้งสามองค์ลงสถิตย์บนแพขนาดใหญ่ที่ทำขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะด้วยฝีมือของคนท้องถิ่น มัดตรึงด้วยเชือกตอกไผ่ที่ฝั้นเป็นเกลียวสาย"ชะเนาะ"เข้ากับไมัยึดขนาดใหญ่อย่างแน่นหนา ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของแพไผ่ลำนี้ ตะวันยังไม่ลอยดวงขึ้นเหนือยอด"ภูเขาควาย"ซึ่งตั้งเป็นเงาครึ้มสูงตระหง่านใต้เวิ้งฟ้าเงียบสงบ แต่อากาศเริ่มร้อนแรงผสานกับความชื้นจากคืนข้างแรมที่ยังลอยอ้อยอิ่ง บรรยากาศเงียบวังเวงไม่มีแม้กระทั่งเสียงมวลนกหาปลาทึ่เคยเปล่งเสียงเจื้อยแจ้วมาจากแนวหินโสโครกริมฝั่งมหานทีสีอึมครึม มีสัญญาณยกมือจากกลุ่มทหารกล้าคล้ายบอกให้รู้ว่าทุกอย่างเตรียมการพร้อมออกเดินทางแล้ว ขุนเวทาสะดุ้งตื่นจากภวังค์ เขาเฝ้าแต่จับตามองดูสิ่งที่จะเป็นลางบอกเหตุว่าทุกสิ่งจะเป็นไปด้วยดีหรือเลวร้ายประการใด ถึงกระนั้นเขาก็เดินดุ่มลงไปในแพสั่นยวบพลางบอกตัวเองเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ไม่เห็นมีวี่แววของเพลิงพวยพุ่งโชนแสงจากห้วงน้ำแห่งนี้เหมือนในฝันร้ายนั้นเลย… เสียงฆ้องที่เคยดังในสนามรบ กระหึ่มขึ้นอีกครั้ง เสียงนั้นดังกัมปนาทไปทั่วหุบเขา สั่นสะท้อนกลับไปมาเป็นสัญญาณการเคลื่อนย้ายสิ่งสำคัญยิ่งยวดสำหรับอาณาจักรได้เริ่มขึ้นแล้ว ลำไผ่ที่มัดรวมกันเป็นเส้นยาวสั่นจากความแรงของน้ำที่ไหลพุ่งผ่านไปเบื้องล่าง แพลิ่วผ่านคุ้งน้ำใต้เงาเงื้อมเขาตระหง่าน ขุนเวทาขยับหมวกใบตาลปีกกว้างไปมาด้วยความอึดอัด เขากะว่าระยะทางไปพ้นโค้งข้างหน้า แพพวกเขาต้องลอยอยู่ในที่โล่งไร้สิ่งกำบังใดๆเคลื่อนตัวออกจากเงาหน้าผาสู่แสงอาทิตย์ มองเห็นสันเขาและแมกไม้อยู่อีกฟากหนึ่ง เขามองเห็นรูปสลักบนผาหิน พระพุทธรูปขนาดใหญ่ตามคำบอกเล่าของชาวพื้นเมือง เขารู้สึกทึ่งกับดินแดนเก่าแก่ซึ่งรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมและของล้ำค่าเช่น"ทองคำ"ที่มีอยู่มากมาย ขณะนั้น หามีผู้ใดสัมผัสได้แม้แต่น้อย แรงกระเพื่อมใต้บาดาลได้สะบัดตัวผิดธรรมชาติขึ้นแล้วอย่างเงียบๆ เฟี๊ยว! ฟ๊าว! ***** ตอนที่ 2 ขุนเวทาเป็นใคร บ้านช่องห้องหออยู่ที่ใด เป็นลูกเต้าเหล่ากอใคร แล้วเหตุไฉนจึงได้กระทำการบังอาจเช่นนี้ บุรุษลึกลับผู้มีนามประหลาดคนนี้ยังไม่ทันกระจ่างแจ้งในหัวใจเขาก็พลันมลายหายวับไปในอากาศ พอเสียงไก่ขันดังแว่วมาจากแนวไม้ด้านตะวันออกพร้อมแสงตะวันสาดส่องฉายฉานมาเยือนผืนโลกอีกครา สติสัมปชัญญะในการอ่านก็กลับมาจดจ่อกับข้อมูลเบื้องหน้าอีกครั้ง… ชะตากรรมสามพี่น้องอยู่ในกำมือของสายน้ำทั้งยาวไกลแลคดโค้งใต้เงารัตติกาลอันมืดหม่น โหดร้ายแสนสาหัส พระพุทธรูปสามพระนางทรงประทับบนแท่นบัลลังก์ทองในลำแพซึ่งลอยละล่องบนสายน้ำกำลังไหลเชี่ยวกราดชื่อแม่น้ำ"งึม"ดังกล่าวมีพระนามซึ่งหลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดีสองฝั่งลำน้ำโขง เพราะเล่าขานสืบทอดด้วยศรัทธากันมาแล้วหลายชั่ยอายุคน นั่น...คือ พระสุก พระเสริม พระใส พระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้ง 3 พระองค์ส่องประกายวาววับบนเรือนแพซึ่งถูกกระแสน้ำเชี่ยวกรากพลัดพามุ่งหน้าสู่ที่ราบลุ่มอาณาจักรใหม่ด้านทิศใต้ พร้อมด้วยเหล่าชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งคอยควบคุมบังคับแรงปะทะโขดหินอยู่คนละมุมอย่างระแวดระวัง การเสี่ยงภัยคราวนี้เดิมพันด้วยชีวิต แม้ว่าพวกเขาคือผู้มีชัยเหนือดินแดนเก่าแก่และรุ่งเรืองมานานนับพันปีแห่งนี้ แต่ก็ไม่อาจข้ามพ้นความวิบัติไปได้เช่นกัน! พระพุทธปฏิมาทั้งสามองค์นี้สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรล้านช้างล้านนาในอดีตหรือสปป.ลาวในปัจจุบัน จัดงานหล่อหลอมขึ้นในคราวเดียวกันกับ"พระเจ้าตื้อ"โดยใช้เวลาสร้างถึง7ปี 7 เดือน หล่อด้วยทองสีสุกเหลืองอร่ามงามจับใจ เพียงใครแรกเห็นก็อดยกสองมือขึ้นประนมเหนือหัวไม่ได้ อันว่า "ทองสีสุก" หมายถึงการใช้วัตถุดิบคือทองคำเป็นส่วนประกอบสำคัญในการหล่อประกอบด้วยนาก เงินและทองแดง มีสัดส่วนรูปลักษณะงดงามราวเนรมิตจากสรวงสวรรค์ ความงาม ความจริงที่สัมผัสได้จึงเป็นที่เคารพนับถือของเจ้าฟัาและข้าแผ่นดินสองฝั่งลำโขงมาช้านาน ซึ่งไม่ได้เป็นไปในบาปบุญเพื่อโลกหน้าเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อความรู้แจ้งในโลกนี้! พระราชธิดาสาวสวยดุจนางฟ้าทั้งสามของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชประกอบด้วย พระสุก องค์โต พระเสริม องค์กลาง พระใส องค์เล็ก พระราชธิดาทั้งสามมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแรงกล้าตั้งแต่ยังเยาว์วัย เมื่อเติบถึงวัยสาวก็ยังมีพระทัยแน่วแน่ในศาสนากิจอันสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าฟ้างุ้มและพระนางแก้วกัญญาจากแผ่นดินกรุงขอมอินทปัตย์คราโน้น ดังนั้น ในวาระสำคัญของชีวิตที่กำลังเบ่งบานสดใส จึงร่วมใจกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ ขึ้นตามพุทธลักษณะรูปแบบศิลปะล้านช้างที่ประณีต งดงามประหนึ่งมีชีวิตและจิตใจที่อยู่เหนือกาลเวลา พร้อมคำจารึกไว้ใต้ฐานแท่น เพื่อบอกความจริงที่ไม่มีสิ่งใดมาเบี่ยงเบนให้เป็นอื่น ! อาณาจักรล้านช้างยุคสมัยที่มีการก่อสร้างพระพุทธรูปสามองค์ของพระธิดาสุก พระธิดาเสริมและพระธิดาใสคงเต็มไปด้วยความอบอุ่นสมบูรณ์ด้วยสันติสุขหรืออย่างไร เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ บรรยากาศบ้านเมืองภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเป็นอย่างไร ร่องรอยหลักฐานและเรื่องเล่าขานต่างๆที่ไม่มีวันสาปสูญนั้นอาจไม่หนักแน่นเพียงพอ จึงสมควรหาเพิ่มเติมจากแหล่งอ้างอิงที่คนทั้งหลายเชื่อถือ... จากเอกสารทางวิชาการของสำนักงานด้านการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวามีข้อมูลตรงกัน จึงขอคัดตัดตอนโดยสังเขป ดังนี้ สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช(พ.ศ.2077-2115) มีพระนามเดิมว่า “เจ้าเชษฐวังโส” ทรงเป็นพระโอรสในพระโพธิสารราชเจ้าแห่งเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ส่วนพระราชมารดา คือพระนางยอดคำทิพย์ (เจ้านางหลวงคำผาย) พระธิดาในกษัตริย์ล้านนาเชียงใหม่ ซึ่งเหตุแห่งการเป็นเครือญาติกันระหว่างล้านนากับล้านช้าง ก็เกี่ยวพันกับศาสนาเริ่มจากทางราชสำนักล้านนาเชียงใหม่ส่งสมณทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเมืองเชียงทองราชธานี แล้วเจ้ามหาชีวิตล้านช้างให้การต้อนรับสมณทูตอย่างอบอุ่นสมพระเกียรติ ทางด้านศาสนาจักรนอกจากเชื่อมไมตรีด้วยพระพุทธศาสนาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้วทางฝ่ายอาณาจักรยังตกลงกินดองเป็นทองแผ่นเดียวกันอีกด้วย แล้วจึงเกิดมี"เจ้าเชษฐวังโส"เป็นราชบุตร ดังกล่าว ต่อมา ราชสำนักล้านนาเชียงใหม่เกิดปัญหาเรื่องการสืบราชบัลลังก์ไม่ลงตัว จึงร้องขอมายังราชสำนักล้านช้างเชียงทอง ให้ส่งเจ้าเชษฐวังโส ขณะพระชนมายุ 14 พรรษา เสด็จจากเชียงทองไปครองล้านนาเชียงใหม่ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาให้เบาบางลง เรื่องความขัดแย้งอาฆาตบาดหมางทำท่าจะยุติและการดำเนินงานสร้างแผ่นดินเป็นไปได้ด้วยดี แต่แล้วก็มีเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบเกิดขึ้นที่เมืองเชียงทอง พระองค์จึงจำต้องเสด็จกลับเชียงทองโดยด่วนเมื่อพระราชบิดา คือพระโพธิสารราชเจ้า เสด็จสวรรคตกะทันหัน แล้วเกิดความวุ่นวายจากการแย่งชิงราชบัลลังก์จากกลุ่มอำมาตย์พราหมณ์หลายกลุ่มเช่นกัน จึงทรงกลับมาจัดการบ้านเมืองจนสงบสุข แล้วทรงครองแผ่นดินล้านช้าง ควบล้านนาตั้งแต่ พ.ศ.2091 เป็นต้นมา ซึ่งตรงกับปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชย์บัลลังก์กรุงศรีอยุธยาของแผ่นดินสยามพอดี สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชมีความสัมพันธ์กับแผ่นดินอยุธยาเป็นอย่างดีในฐานะบ้านพี่เมืองน้องมาตั้งแต่สมัยขุนบรม ได้สร้างหลักฐานร่วมกันเพื่อสันติสุข สันติภาพของเหล่าพสกนิกรทั้งหลาย คือในปี พ.ศ.2103 ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุศรีสองรักที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยในปัจจุบัน เพื่อเป็นสักขีพยานในการทำสัญญาทางพระราชไมตรีและเป็นหลักด่านกั้นเขตแดนของสองพระนครในสมัยนั้น และอีกอย่างเพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีร่วมมือกันต่อสู้กับมหาอำนาจคือพม่าซึ่งขณะนั้นมีกษัตริย์ที่เข้มแข็งคือพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และแม่ทัพผู้กล้าหาญที่ใครๆก็กล้วเกรงบารมีนั่นคือ"พระเจ้าบุเรงนอง" การผนึกความสามัคคีระหว่างสองแผ่นดินเท่านั้นถึงจะต้านทานความเหี้ยมโหดของบุเรงนองได้ จึงได้เลือกชัยภูมิที่เป็นเนินสูงเหนือลำน้ำหมัน ที่มีต้นรักหรือต้นฮักสองต้น โน้มกิ่งเข้าหากัน เรียกพระธาตุนั้นว่า “พระธาตุศรีสองรัก” หรือ “ศรีสองฮัก” แล้วกระทำสัตยาธิษฐานว่าจะเป็นมิตรไมตรีกัน โดยนำน้ำในกระออมแก้ว-กระออมทอง ของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองมาเจือปนกันเป็น “น้ำแห่งสัจจะ” แล้วทรงร่วมกันหลั่งรดลงบนพื้นดินพร้อมตรัสออกไป.... จารึกพระธาตุศรีสองรักได้สลักถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองพระองค์ไว้เป็นสักขีพยานสืบไป แผ่นเสมาจารึกมีสองด้าน ด้านที่ 1 ของแผ่นดินบ้านช้าง จารึกด้วยอักษรธรรม ด้านที่ 2 ของแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา จารึกด้วยอักษรขอม มีข้อความสัญญาในจารึกสัตยาธิษญานตรงกันทั้งสองด้าน ต่อมา… แผ่นศิลารูปเสมาที่ใช้แกะสลักจารึกดังกล่าวชำรุดเสียหาย แตกหักออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยรวมเกือบสิบชิ้น ลักษณะการแตกหักไม่ได้เกิดจากการชำรุดตามธรรมชาติหรือการกระทำของกาลเวลา แต่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ผู้มีเจตนามุ่งร้ายในกมลสันดานมาแต่กำเนิด จ้องทำลายอดีตส่วนนี้ให้เป็นเถ้าธุลี ความรู้สึกนั้นวาบขึ้นในหัวใจขณะอ่านตำนานพระธาตุศรีสองรัก โบราณวัตถุต่างๆย่อมถูกทำลายได้ไม่ว่าที่ไหนก็ตามในโลกนี้ และสามารถทำขึ้นใหม่ได้ แต่การทำลายจารึกที่เป็นตัวอักขระต่างๆนี้คือการทำลาย"ความทรงจำ"ของผู้คนให้สาปสูญไปชั่วนิรันดร์ เฉกเช่น พระสุกถูกล่ามอยู่บนแท่นทองจารึกถ้อยคำของพระนางสามธิดา เรือนแพไม้ไผ่ล่องละลิ่วเหนือกระแสน้ำแห่งชะตากรรม! เสมือนความทรงจำของผู้คนตกอยู่กลางสายน้ำแห่งการสาปสูญ! **** ตอนที่ 3 ข้อมูลเอกสารชั้นต้นหลายประเภท เช่น "บั้งจุ้ม","ใบบอก" ชั้นรองอย่างพงศาวดารหอพระสมุด,ประวัติศาสตร์ฉบับหลวงฉบับราษฎร์ รวมทั้งคำบอกเล่าจากนางเทียมและเจ้าพ่อกวานซึ่งสืบทอดมาทางสายเลือดไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดหลายร้อยปี ผ่านหลายราชวงค์แล้วก็ตาม ตำแหน่งทางพิธีกรรมเล็กๆเหล่านี้ได้รับผลกระทบน้อยมาก เรื่องราวบอกเล่าเหล่านี้จึงเป็นสายใยของกาลเวลาที่ไม่ขาดตอน การสร้างพระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพระโคดมขึ้นบนพื้นที่ความเชื่อผีต่างๆอันมี"ปู่เยอ ย่าเยอ"เป็นหลักอยู่นั้นเป็นการพลิกแผ่นดินด้านความเชื่อเลยก็ว่าได้ สิ่งที่ไม่คาดฝันจึงมักเกิดขึ้นได้เสมอแม้ว่าจะขับเคลื่อนด้วยโองการขององค์เจ้าอยู่หัวทางการปกครองสูงสุดแล้วก็ตาม กรณีการสร้างพระเจ้าองค์ตื้อพระสุก พระเสริมและพระใสในครั้งนั้นเป็นงานสำคัญของแผ่นดิน ทุกชนชั้นวรรณะไม่เลือกภาษาหรือเผ่าพันธุ์ ต่างเต็มใจให้ความร่วมมือเต็มที่ตลอด 7 ปีเศษ ทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นองค์พระปฏิมากรล้วนสรรหามาได้จากแผ่นดินล้านนา ล้านช้างสองฝั่งโขงจากเหนือจรดใต้ โดยเฉพาะรัตนชาติ แร่เงิน แร่ทองคำที่มีอยู่ดาษดื่นในธรรมชาติ ต่างคัดเลือกเอาเม็ดสวยเนื้อดี น้ำงาม รวบรวมถวาย ส่งมอบสู่ราชสำนักองค์ศาสนูปถัมภ์ผู้ทรงมั่นในทศพิธราชธรรมตามคำสอนของพระศาสดาศากยมุนี บางหมู่บ้านส่งข้าวปลาอาหารเข้าไปเป็นเสบียง บางท้องถิ่นส่งฟืน ส่งน้ำยางขี้ไต้เข้าไปเป็นเชื้อเพลิง บางหัวเมืองผลัดเปลี่ยนคนเข้าไปเป็นแรงงานหาบหาม ขนดิน ขนทรายสร้างโรงหล่อขนาดใหญ่ เป็นแรงงานเกี่ยวหญ้าเลี้ยงม้า และเลี้ยงช้างสำหรับใช้งานขนย้ายขนาดหนักเป็นต้น ทุกคนยอมเป็น"ข้าโอกาส"รับใช้พระศาสนาโดยไม่มีข้อแม้ ต่างมีความเชื่อรวมอยู่ที่จุดเดียวกันคือศูนย์กลางของจิตใจ พระราชธิดาทั้งสามมีความใกล้ชิดกับไพร่ฟ้าสามัญชนเสมือนเป็นเครือญาติเดียวกัน ร่วมทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางพระศาสนา รวมทั้งออกปฏิบัติภารกิจต่างๆเยี่ยมเยือนพสกนิกรโดยไม่ถือพระองค์ดั่งราชวงศ์ที่ผ่านมา นอกจากความงามของพระวรกายผุดผาดผ่องแผ้วแล้วยังล้ำเลิศไปด้วยความงามภายในคือน้ำพระทัยอันกว้างใหญ่ไพศาลดุจสาครที่ก่อประโยชน์แก่สรรพชีวิตอย่างเสมอภาค พระธิดาสุกพระองค์โตได้ตรัสกับหนุ่มช่างปั้นผู้ได้รับคัดเลือกมายังราชสำนักว่าพระนางไม่ประสงค์จะให้พระพุทธรูปตัวแทนพระองค์เหมือนพระพุทธรูปรุ่นเก่าดั้งเดิมที่ละม้ายคล้าย"พระเจ้าบายน"เพราะหมดยุคสมัยของการอำนาจเดชฤทธิ์บังคับอีกต่อไป แต่ต้องเป็นตัวแทนของความงาม ความอ่อนหวาน ความประณีต และความสุนทรีที่เป็นไปโดยธรรมของมนุษย์เดินดิน "เราปรารถนาให้ทุกชีวิตที่มากราบไหว้สักการะมีความหวังและเชื่อมั่นในกรรมของตน" "ใช่แล้ว นั้นคือเจตนาของพวกเรามาแต่ไหนแต่ไร"พระธิดาเสริมเอ่ยขึ้นด้วยรอยแย้มสรวลสง่างาม "คงไม่เกินความสามารถของเจ้ากระมัง" พระธิดาองค์เล็กเปล่งเสียงใสสะท้อนสะเทือนในหัวใจช่างหนุ่มสามัญชน "อะ..อา..ขอเวลาให้ข้าบาทได้คิดใคร่ครวญสักระยะหนึ่งก่อนเถิด พระเจ้าข้า" "มีอะไรที่เจ้าหนักใจอย่างนั้นรึ" "เปล่าหรอกพระเจ้าข้า เพียงแต่ข้าบาทต้องการสิ่งเดียวขณะนี้คือ... “เจ้าต้องการสิ่งใด จงรีบบอกมา ข้าจะรีบจัดการให้ตามที่เจ้าต้องการ” “เวลายังไงล่ะ…ข้าต้องการเวลา ไม่มีสิ่งใดวิเศษกว่าเวลา ข้าขอให้ท่านประทานโอกาสคือเวลาให้ข้าด้วยเถิด พระเจ้าข้า" "อ๋อ ได้เลย พวกเราทั้งสามให้โอกาสเจ้าเสมอ หรือหากเจ้าต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมที่จะเอื้อต่องานของเจ้าในครั้งนี้จงบอกมาได้เลยไม่ต้องเกรงใจ" "พระเจ้าข้า" ช่างปั้นหนุ่มจากเจิ้นละนครราชนาม"ศุงกะ"เอ่ยย่างนอบน้อมพร้อมกับก้มหน้าหลับตาอยู่นิ่งนาน เพื่อให้ความสดใสงดงามของพระธิดาทั้งสามให้อยู่ในความทรงจำของเขาให้มากและยาวนานที่สุด ส่วนพระราชบิดาคือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ระดมไพร่ฟ้า ประชากรตลอดพระสงฆ์ช่วยกันอย่างเต็มที่จัดเป็นมหกรรมทำบุญสร้างพระพุทธรูปครั้งใหญ่ในแผ่นดินล้านนาล้านช้าง "เวลาก็ล่วงเลยมาข้ามปีแล้ว บัดนี้งานที่ข้าสั่งดำเนินการนั้นไปถึงไหนแล้ว"พระองค์ตรัสถามเจ้าอุปราช "แบบหุ่นพระเจ้าองค์ตื้อสำเร็จตามพระประสงค์ทุกประการ แต่เรื่องของสามพระธิดานั้นอาจ...อาจมีปัญหาพระเจ้าข้า" "การปั้นหุ่นจำลองที่ยังไม่ลงตัวอย่างนั้นหรือ ท่านอุปราช" "ปัญหานี้ใหญ่กว่านั้น พระเจ้าข้า" "เรื่องอะไร" "ความสวยที่ล่ำลือไปไม่ว่าจะเกิดจากองค์พระธิดาทั้งสามหรือหุ่นจำลองก็ตาม บัดนี้ที่ชายแดนแว่นแคว้นอิสระต่างๆมีกระแสข่าวการเกณฑ์กำลังพลผิดปกติ บางทีอาจเป็นเรื่องสงคราม พระเจ้าข้า" "พวกใดกันมันบังอาจก่อกรรมในยามที่บ้านเมืองเรากำลังสร้างกุศลบำเพ็ญกิจของศาสนาเช่นนี้" "คงเป็นพวกนับถือผีสางพระเจ้าค่ะ" หลังจากฟังรายงานจากเจ้าเมืองผู้เป็นแม่กองสร้างพระพุทธรูปในคราวนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับนิ่งสงบราวกับหุ่นแกะสลักซึ่งเต็มไปด้วยพลังอำนาจลึกลับที่ไม่อาจเข้าใจได้ "เอาล่ะ...มันเป็นหน้าที่ของฝ่ายทหารที่จะดำเนินการรับมือกับข้าศึก ภายนอก ส่วนพวกเจ้าอย่าได้วิตกแตกตื่นเสียสมาธิจงทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มความสามารถเถิด ไม่ใช่เพื่อเราหรือพระธิดาของเรา แต่เพื่อแสงสว่างความสงบสุขและความปลอดภัยของโลก ของผู้คนในอนาคต" ถึงกระนั้น พระองค์เหนือหัวก็ยังอดวิตกกังวลไม่ได้กับความงามดั่งนางสวรรค์ของพระธิดาสาวทั้งสามซึ่งเจ้าเมืองต่างจ้องเข้ามาช่วงชิงแสดงแสนยานุภาพอำมหิต ก่อสงครามชิงนาง! ***** ตอนที่ 4 "ศุงกะ"หนุ่มช่างปั้นจากเจิ้นละนครอยากกลั้นใจตายให้รู้แล้วรู้รอด หุ่นพิถีพิถัน ประณีตสวยงาม เพื่อให้เจริญศรัทธาแก่ผู้มากราบไว้บูชาซึ่งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นที่พอใจของพระราชธิดาทั้งสาม แต่การหลอมทองเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลาหลอมถึง 7 วันทองก็ยังไม่ยอมละลายแม้จะใช้ความพยายามและความชำนาญของบรรดาช่างหล่อฝีมือระดับช่างหลวงแล้วก็ตาม จนกระทั่งย่างเข้าวันที่ 8 ตอนใกล้เพลคือห้าโมงเช้า ขณะที่หลวงตากับสามเณรช่วยกันสูบลมหลอมทองอยู่ ปรากฎว่ามีชีปะขาวแปลกหน้าคนหนึ่งอาสาเข้ามาช่วยงาน ส่วนหลวงตากับสามเณรหยุดพักขึ้นไปฉันอาหารเพลอยู่บนศาลา หลวงตาเห็นชีปะขาวคนนั้นทำงานอย่างคล่องแคล่วว่องไว เททองอยู่คนเดียว แต่ชาวบ้านทั่วไปกลับมองเห็นชีปะขาวจำนวนมากช่วยกันเททองหล่อพระพุทธรูปทั้งสามอย่างขมักเขม้น เมื่อหลวงพ่อฉันอาหารเสร็จก็ลงมาดูและพบความมหัศจรรย์ ทองทั้งหมดถูกเทลงในเบ้าหรือหุ่นแบบทั้งสามองค์เรียบร้อยแล้ว และชีปะขาวคนนั้นได้หายตัวไป หลังจากสร้างเสร็จก็มีพิธีปลุกเศกและจัดให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ หลังจากนั้นก็ได้ประดิษฐานไว้ ณ กรุงเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างสืบมา คราใดที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ไม่สงบสุขหรือมีศึกสงคราม ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามไปเก็บซ่อนไว้ในสถานที่ลึกลับ ดินแดนอาถรรพ์แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า"ภูเขาควาย" ตั้งอยู่ที่เมืองธุรคม แขวงบริคำไซ ปี 2322 ในคราวสงครามกับประเทศไทยยุคกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเวียงจันทน์ อันเนื่องมาจากสาเหตุความขัดแย้งเรื่องกลุ่มพระวอ-พระตาถูกตามล้างตามล่า(ในดินแดนอีสานประเทศไทยในปัจจุบัน)จากอำนาจมืดของพระเจ้าสิริบุญสาร แห่งเมืองเวียงจันทน์จนกระทั่งไพร่พลเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมากได้มาขอความช่วยเหลือ เมื่ออาณาจักรล้านช้างปราชัย พระแก้วมรกตและพระบางถูกอัญเชิญมายังบางกอก ผู้คนและทรัพย์สินถูกกวาดต้อนข้ามโขงมายังฝั่งประเทศไทย รวมทั้งจับเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ประเทศลาวมาเป็น"องค์ประกัน"หนึ่งในองค์ประกันนั้นคือเจ้าอนุวงศ์พระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าสิริบุญสาร แต่พระพุทธรูป 3 พระธิดาพี่น้องคือพระสุก พระเสริมและพระใสรอดพ้นไปได้ เพราะถูกซ่อนไว้ในแดนลึกลับ"ภูเขาควาย"ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อาณาจักรที่เคยเป็นบ้านพี่เมืองน้องได้เกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง ในปี 2347 เจ้าอนุวงศ์ราชโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารที่เคยถูกจับมาเป็นองค์ประกันได้เป็นกษัตริย์ปกครองเวียงจันทน์ขณะมีพระชนมายุ 39 พรรษา ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยทรงอุปถัมภ์วัดจำนวนมากครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำโขง เช่น วัดศรีบุญเรืองที่หนองคาย หอพระแก้ววัดช้างเผือก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ****** ตอนที่ 5 ในปี 2353ได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งประเทศลาวที่วัดอูบมุง นครหลวงเวียงจันทน์อีกฝั่งหนึ่งอยู่ที่วัดช้างเผือก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ลาว(มหาสีลา วีระวงส์)ยืนยันว่าเคยเห็นซากเสาสะพานในปี 2515 ก่อนที่ซากนั้นจะไม่หลงเหลือแล้วในปัจจุบัน ในปี 2369 ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯกับเวียงจันทน์ถึงจุดแตกหักเมื่อเจ้าอนุวงศ์โปรดให้หล่อพระพุทธรูปสำริดองค์หนึ่งโดยฐานพระพุทธรูปจารึกไว้ว่า "สมเด็จพระราชเชฏฐา เจ้ามหาชีวิตอนุวงศ์แห่งราชอาณาจักรเวียงจันท์ ให้หล่อขึ้นในปี จ.ศ.1188(พ.ศ.2397)เทียม(แทน)พระแก้วมรกต" แสดงถึงความคับข้องใจของพระองค์ซึ่งรับรู้มาแต่ยังทรงพระเยาว์ที่สยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมายังกรุงธนบุรีพร้อมกับพระองค์ในฐานะองค์ประกันคราวนั้น ปัจจุบัน พระพุทธรูปสำริดองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ดังนั้น สงครามครั้งสำคัญระหว่างเวียงจันท์กับกรุงเทพฯจึงระเบิดขึ้น ปลายฤดูแล้งปีเดียวกับที่หล่อพระแก้วมรกตสำริดแทนพระแก้วมรกตหยกเขียวนั่นเองคือปี พ.ศ.2369 เจ้าอนุวงศ์ยกทัพข้ามโขงมายึดหัวเมืองภาคอีสานรวมทั้งเมืองหน้าด่านที่สำคัญคือเมืองนครราชสีมา เกิดการสู้รบกันอย่างดุเดือดบนที่ราบสูง ชนวนสงครามเกิดมาจากอะไร จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่จะขอกล่าวผลของการรบในภาคอีสานซึ่งเจ้าอนุวงศ์ต้องถอนทัพมาจากการกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากจากหัวเมืองถึง 35 หัวเมืองทั้งที่มีกำลังทหารจำกัด ทำให้ต้องแบ่งทหารคุมการอพยพครัวที่มีจำนวนหลายหมื่นซึ่งถือเป็นสิ่งบั่นทอนกำลังทัพ ทั้งก็มีคนบางส่วนไม่เต็มใจอพยพกลับทำให้การคุมครัวยากขึ้นอีกจนกระทั่งเกิดการจลาจลที่ทุ่งสำริดและนำไปสู่การถอยทัพและปราชัยในที่สุด ทัพหน้าของกรมพระราชวังบวรฯมหาดิศักพลเสพย์ตามตีไปถึงที่ค่ายบ้านส้มป่อยแตก ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เดินทัพต่อผ่านค่ายช่องเขาสาร หรือช่องข้าวสาร ปัจจุบันอยู่เขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ข้ามโขงเข้าตีเมืองเวียงจันท์ ตัดต้นหมาก รากไม้ที่มีผลเสียหมด เอาไฟจุดสุมเมือง ทำลายกำแพงเมืองลงหมดเกลี้ยง กวาดต้อนผู้คน ช้างม้า หลอมปืนใหญ่เอาทองคำ ยึดพระสุก พระเสริม พระใส และพระแทรกคำมายังฝั่งประเทศไทย ในการขนย้ายพระพุทธรูปสำคัญในคราวนั้น โดยล่องแพมาตามแม่น้ำงึม เมื่อลอยแพมาถึงที่แห่งหนึ่งได้เกิดการณไม่คาดคิดขึ้น แท่นประทับของพระสุกได้แหกแพจมลงในลำน้ำโดยเหตุที่มีพายุแรงจัดพัดแพจนเอียงชะเนาะที่ขันพระแท่นติดกับแพไม่สามารถที่จะทนรับน้ำหนักของพระแท่นได้ พระแท่นจมลงในลำน้ำ บริเวณนั้นจึงเรียกว่า"เวินแท่น"มาถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อันเป็นปริศนาและน่าอัศจรรย์มิได้หยุดลงเพียงเท่านั้น เมื่อล่องแพเข้าใกล้แม่น้ำโขงตรงปากน้ำงึม เฉียงกับบ้านหนองกุง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันอีกครั้ง เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนอง ท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนอย่างหนัก พระสุกได้แหกแพจมลงในน้ำโขงตั้งแต่บัดนั้น ไม่สามารถงมขึ้นมาได้และบริเวณนั้นเรียกว่า"เวินสุก"มาตราบเท่าทุกวันนี้ เหลือแต่พระเสริมและพระใสล่องแพข้ามโขงมาถึงหนองคาย แล้วอัญเชิญพระใสประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระเสริมได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดหอก่องหรือวัดประดิษธรรมคุณ ต่อมาในปีพ.ศ.2400 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระเสริมและพระใสมากรุงเทพฯ แต่เกวียนที่อัญเชิญพระใสหักหน้าวัดโพธ์ชัยครั้งแล้วครั้งเล่า จึงอัญเชิญพระใสประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระเสริมมาประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยคนที่เป็นประธานฝ่ายฆราวาสที่อัญเชิญคราวนั้นคือพระสุนทรราชวงศา(เหม็น)เจ้าเมืองยโสธรลำดับที่ 4 ผู้เป็นสายเครือญาติพระวอพระตาซึ่งเป็นผู้บูรณะวัดสร่างโศกหรือวัดนอกเมืองยโสธรในสมัยนั้น วัดนี้มีความสำคัญอย่างไรและเกี่ยวข้องกับพระที่จมหายอยู่ในลำน้ำโขงได้อย่างไร จึงขอกล่าวถึงความเป็นมาของวัดชื่อแปลกๆนี้พอสังเขป ดังนี้.... ส่วนพระสุกยังจมอยู่ในลำน้ำโขงต่อไป อย่างไรก็ตาม คราวใดที่มีการกล่าวถึงความศรัทธาที่มีต่อพระเสริมและพระใส ผู้คนก็มักจะเอ่ยถึงเรื่องราวอันแปลกพิศดารของพระสุกด้วย ประกอบกับเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่มีความงดงามและมีความศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านสองฝั่งโขงยังเลื่อมใสศรัทธาไม่มีวันเสื่อมคลาย แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น นับจากพระสุกจมหายลงในลำน้ำโขงผ่านไปหนึ่งชั่วอายุคนประมาณ 60 -70 ปี แต่ทว่าความจำในจุดที่พระสุกจมหายยังบอกเล่าเป็นความลับกันต่อมาเป็นการภายในกลุ่มผู้ปกครอง ในปี พ.ศ.2437
อ่านฟรีสำหรับผู้ใช้งานใหม่
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอป
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    ผู้เขียน
  • chap_listสารบัญ
  • likeเพิ่ม