หลังร่ำลาเพื่อนสาวตัวอ้วนและแบกเป้ขึ้นรถบัสอีกคัน ซึ่งวิ่งไปคนละทางกันแล้ว ขณะนี้นักข่าวสาวคนเดียวแห่งไทยธุรกิจกำลังนั่งอยู่บนรถบัสที่ค่อยๆ วิ่งไปบนสะพานมิตรภาพ นับเป็นรถบัสคันแรกที่ได้มีโอกาสวิ่งไปบนสะพานนี้ก่อนที่จะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนต่อมา
อณุภานั่งมอง ชื่นชมสะพานคอนกรีตอัดแรงเสริมเหล็ก ใหญ่โต โอ่อ่าและสมภาคภูมิกับการเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพของการประสานความร่วมมือร่วมใจอันดีของผู้คนสองฝั่งโขง และเป็นอนาคตในเส้นทางการค้าและแลกเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน รวมทั้งทำให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การท่องเที่ยว การคมนาคมมากขึ้น
สะพานมิตรภาพแห่งแรกนี้ กำลังทอดตัวที่มีความยาวถึง ๑,๒๐๐ เมตรขวางลำน้ำโขงเอาไว้ ก็เพื่อเชื่อมฝั่งของทั้งสองประเทศไว้ด้วยความแข็งแรงและใหญ่โตโอฬารยิ่ง
“ไทยและลาวริเริ่มที่จะมีโครงการสำรวจเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงนี้ตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ นะคะ จนมาถึงปี ๒๕๐๘ ถึงได้บรรจุโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงไว้ในแผนพัฒนาประเทศระยะ ๑๐ ปี จนปี ๒๕๑๔ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน แต่พอดีเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองในประเทศของลาว โครงการนี้ก็เลยชะงักไป มาจนปี ๒๕๓๑ นี่ละคะ ที่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เริ่มโครงการนี้ขึ้นใหม่ โดยได้ทุนจากออสเตรเลียและทุนสมทบของรัฐบาลไทย มาสร้างจนสำเร็จในปี ๒๕๓๖ นี้เองค่ะ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพนี้ ร่วมกับ ประธานประเทศแห่งสปป. ลาว และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในวันที่ ๘ เมษายน และเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๓ เมษายนนี้ค่ะ”
เสียงมุกมณี หัวหน้าพีอาร์เจื้อยแจ้ว บรีฟเรื่องสะพานมิตรภาพให้กับสื่อมวลชนที่ยังเหลือร่วมเดินทางไปกับคณะได้ฟัง ถึงแม้รายละเอียดต่างๆ จะมีบรรจุอยู่ในแฟ้มเอกสารที่ทุกคนได้รับแจกตั้งแต่เมื่อเย็นวานแล้วก็ตามที แต่ก็เชื่อว่า นาทีนั้นไม่มีใครมีแก่จิตแก่ใจจะอ่านตัวหนังสือในแฟ้มนั้นหรอก
ทั้งคณะซึ่งแม้จะเหลือสื่อมวลชนเพียงสิบกว่าคน และทีมงานพีอาร์กับเจ้าหน้าที่ประสานงานอีกสี่-ห้าคน แต่ก็เป็นขบวนที่อบอุ่นไม่น้อย เพราะความเคร่งเครียดจากการที่คาดหวังว่าจะต้องได้ข่าวหนักๆ กลับไปแข่งกันโชว์กึ๋นรายงานว่า ใครจะได้อะไรที่คมชัดลึกมากกว่ากันนั้น กลับกลายเป็นการได้เที่ยวและเยี่ยมชมความสวยงามของบ้านเมือง วัดวาอาราม ประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำกลับไปเขียนเป็นสกู๊ปท่องเที่ยว หรือรายงานข่าวแบบเบาๆ แทน
ระยะทางเพียงกว่า ๒๐ กิโลเมตรจากตีนขัวมิตรภาพตามคำเรียกของชาวลาว ในที่สุด รถบัสคันใหญ่ก็เลี้ยวเข้าไปจอดยังโรงแรมขนาดกลางในตัวเมือง ...โรงแรมแห่งนี้ดูเหมือนเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ และคงเป็นเพียงโรงแรมเดียวที่สร้างเสร็จทันต้อนรับการเปิดสะพานเชื่อมโขงนี้
“นี่กุญแจ คูปองอาหารเช้าและรายชื่อห้องของทั้งคณะนะคะ โอเค ห้อง ๒๐๘ เอ้านี่ คนของไทยธุรกิจพักกับเจ้าป้า กรุงเทพ ไทม์ อุ้ย... เจ้าป้าขา...มีอะไรเรียกพวกหนูได้ตลอดนะคะ ทีมพีอาร์อยู่ห้อง ๒๑๑ ฝั่งตรงข้ามค่ะ”
ลูกน้องของมุกมณี เป็นพีอาร์สาวเปรี้ยวที่ชื่อ เกด ยื่นกุญแจให้อณุภา แต่แววตาและหน้าของเธอมองไปที่ “เจ้าป้า” อย่างยำเกรงในศักดิ์ศรีและบารมีของทั้งคนและทั้งค่าย โดยไม่แม้แต่จะเหลือบแลมาสักนิดที่อณุภา ซึ่งเธอก็พอจะเข้าใจว่าหัวหนังสือพิมพ์ที่เธอสังกัดอยู่นี้ เพิ่งผุดขึ้นใหม่ในแผงหนังสือ และใหม่มากในบรรดาสายตาของพีอาร์ นักข่าวก็เพิ่งมาร่วมทริปด้วยกันเป็นหนแรก แถมยังเป็นเด็กเพิ่งจบอีก...
...แหม นี่ถ้าไอ้นุ้ยยังอยู่ด้วยกันนะ - -
“คนของไทยธุรกิจ” คิดและเข่นเขี้ยวในใจแบบพูดเอง เออเองอยู่ในหัว ขณะรู้สึกว่า เหมือนตัวเองเป็นอากาศธาตุอยู่กลางล็อบบี้ เพราะพวกพีอาร์สาวๆ คอยออเซาะก็แต่กับพวกนักข่าวซีเนียร์ชาย หรือไม่ยกยอก็แต่กับนักข่าวหญิงรุ่นอาวุโสจากหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ๆ ดังๆ เท่านั้น
หลังเช็คอินเสร็จ อณุภาก็ถอยไปนั่งแปะตรงเก้าอี้นวมคอยเจ้าป้าเช็คอิน และนึกถึงเพื่อน ...นี่ถ้าแน่งน้อยอยู่ด้วย เจ้าหล่อนคงชวนเธอเมาท์ทีมพีอาร์ให้ฟังไปพลางๆ ดังที่อณุภาฟังมาจนจำได้
...ก็แกมันเป็นแค่นักข่าวประจำโต๊ะรีวิวที่เป็นนักข่าวสายจับฉ่ายนี่หว่า แกไม่ใช่นักข่าวจากสำนักข่าวดังๆ ไม่ใช่พวกมือโปรหรือขาใหญ่ที่พีอาร์ต้องพากันวิ่งไปซูฮก เพื่ออ้อนขอลงข่าวให้นี่ ปลงเสียเถิดแม่จำเนียร - -
นาทีนี้อณุภาอดคิดถึงเพื่อนไม่ได้ พอแน่งน้อยไม่อยู่ เธอก็เหงาไปถนัดใจ แทบไม่ได้ลับฝีปากประคารมกับใคร
...ที่ออฟฟิศของไทยธุรกิจทุกคนรู้กันดีว่า นักข่าวในทีมของโต๊ะรีวิว เป็นทีมข่าวที่ไม่ได้ถูกให้ประจำที่ใดที่หนึ่ง หรือสายใดสายหนึ่ง ในขณะที่นักข่าวโต๊ะอื่นๆ แทบจะทุกค่าย ไม่ว่าหนังสือพิมพ์เล็กหรือใหญ่ ใหม่หรือเก่า โดยหน้าที่แล้วมักจะต้องถูกให้ไปประจำแต่ละที่ตามสายงานของตัวเอง
อย่างนักข่าวโต๊ะการเมืองสายทำเนียบ ก็มักจะปักหลักอยู่ที่รังนกกระจอกที่ทำเนียบรัฐบาลหรือตามห้องสื่อมวลชนในพรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่ก็คอยตามประกบแหล่งข่าว หรือตามนักการเมืองคนใดคนหนึ่งหากมีประเด็นข่าวร้อนๆ นักข่าวสายหุ้นปักหลักตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัททเงินทุนต่างๆ นานา สายการเงินก็ปักหลักที่แบงค์ชาติ หรือไม่ก็ประกบติดพีอาร์ หรือแหล่งข่าว หรือคนใหญ่คนโตประจำแบงค์โน่น แบงค์นี่ ไปตามสถานการณ์
อย่างแน่งน้อย นักข่าวสาวร่างอวบ เพื่อนร่วมงานซี้ปึ้กของอณุภาอยู่สายคมนาคมก็มักจะปักหลักอยู่ที่กระทรวงคมนาคม หรือตามบริษัทยักษ์ใหญ่ เว้นมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ถึงเกาะติดแหล่งข่าว ไปไหนไปกัน
ส่วนอณุภา แม่นักข่าวจับฉ่ายประจำหน้ารีวิว ต้องคอยรับฟังจากประดาบิ๊กประจำกองบก. ที่จะ “สั่ง” มาว่า เธอควรประกบนักข่าวสายไหน เพื่อให้ “เข้าถึง” ตัวแหล่งข่าวบิ๊กๆ อันเป็นที่ต้องการตามกระแส ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ หรือนักธุรกิจบิ๊กเบิ้ม ที่เธอจะต้องอาศัยนักข่าวประจำสายเพื่ออาศัยความคุ้นเคยให้เธอได้กระแซะมาสัมภาษณ์ เชิงไลฟ์สไตล์ลงหน้ารีวิวโดยเฉพาะ
ดังนั้นไม่ว่าเกิดข่าวอะไรขึ้นตามกระแส ทีมโต๊ะข่าวรีวิวซึ่งมีอยู่เพียง ๔ คน ซึ่งนับว่าน้อยมากถ้าเทียบกับนักข่าวโต๊ะหลักๆ ของหนังสือพิมพ์ไทยธุรกิจ ทีมรีวิวทุกคนจึงต้องคล่องตัวรวดเร็วประหนึ่งหน่วยจู่โจม รวมทั้งต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม เพื่ออาศัยความคุ้นเคยของนักข่าวในสายอื่นๆ เอื้อหรือเปิดทางให้ทีมรีวิวได้ถึงตัวแหล่งข่าว รวมทั้งบรีฟข้อมูลที่มาที่ไปหรือหน้าที่การงานของบุคคลนั้นให้ทราบกันก่อน
การที่อณุภาได้ฉายาว่า “ไอ้ฟ้าแลบ” ก็เพราะความหมายของชื่อจริงส่วนหนึ่ง รวมถึงการกระโจนเข้ามาทำงานข่าวแบบสายฟ้าแลบ แทบจะในทันทีที่เธอสอบเสร็จวันสุดท้าย เรียกได้ว่าตัดหน้าตัวเต็งๆ ที่เขามาสมัครและทดสอบการทำงานนับสิบๆ คน อย่างไม่ไว้หน้า อันเนื่องมาจากตอนที่มาฝึกงานที่นี่ เธอได้ฝากฝีไม้ลายมือในการทำข่าวไว้ไม่น้อย และก็คงเพราะบุคคลิกส่วนตัวอันคล่องแคล่วปรู๊ดปร้าดปราดเปรียวของเธอนั่นด้วย
จนเป็นที่รู้กันทั้งกองบก.ว่า สำหรับไอ้ฟ้าแลบแล้ว ไว้ใจได้เถอะว่า ไม่ว่าเป็นเวลาใดที่เกิดเรื่องฉุกละหุกหรือเกิดเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน หรือหากหัวหน้าคนใดต้องการข่าวด่วนข่าวไว หรือขาดคน เป็นต้องแล่นมาหาพี่เสือ เพื่อขอใช้ไอ้เต้นแทน
...เชื่อมือเถอะ คนอย่างไอ้ฟ้าแลบไว้ใจได้ ข่าวอะไรรับรองไม่มีพลาด
ทันทีที่มีใครมาขอตัวไปทำข่าวให้ แว้บ...เดียว เป็นต้องได้ยินเสียงมันรายงานข่าวทางโทรศัพท์รัวเร็วเป็นต่อยหอย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรอณุภาสามารถจาระไนสถานการณ์ให้คนสั่งฟังได้เป็นฉากๆ
“มันก็เหมาะกับแกดีนี่เต้น เต้นไปเต้นมา เดี๋ยวแรดไปเกาะโต๊ะโน้น เดี๋ยวแถไปโต๊ะนี้ มีแต่เรื่องตื่นเต้นตลอด ฉันซี... ได้แต่เกาะเรื่องถนนหนทาง สร้างสะพาน รถไฟ รถเมล์ทั้งปีทั้งชาติ แถมได้เจอแต่พรรคพวกหน้าซ้ำๆ กันทุกวัน ที่ถูกคอกันดีช่วยกันทำข่าวก็แทบจะตกไปเป็นเมียมัน แต่ที่กัดกันเพราะแย่งข่าวก็แทบจะฆ่ากันตายก็มี”
“อ้าว...ไม่หนุกเหรอแก ดีออก ทำข่าวทีก็อบอุ๊น...อบอุ่น คุ้นเคยกันดี ได้อาศัยพึ่งพากันไม่ต้องตกข่าว”
“ดีกะผีอะไรล่ะ มันถนัดจะเกทับบลัฟแหลกกันเรื่อย ฉันเงี้ยบางทีก็เบื่อจะตายชัก แต่มันก็เป็นงานนะแก...นี่ยังดีนะพักนี้มีเรื่องโทรศัพท์เข้ามาบ้าง ฮ็อตมากๆ แล้วไอ้ข่าวโทรศัพท์เนี่ย นี่ฮ็อตขนาดเขาแยกโต๊ะคมนาคมออกมาเป็นโต๊ะสื่อสารแล้วนะแก ...เห็นป่าว เดี๋ยวนี้ทั้งข่าวลีด ข่าวรองล่อแต่เรื่องโทรศัพท์เพียวๆ ทีนี้วันๆ ฉันไม่ต้องทำอะไรละ นั่งเกาะข่าวสัมปทาน ข่าวเครือข่ายโทรศัพท์ เพจเจอร์อย่างเดียว”
“เอ้า...หรือแกจะอยากไปอยู่โต๊ะต่างประเทศแบบพี่กุ๊กกับคุณลุงศลล่ะ แบบว่าชีวิตนี้รู้จักแต่รอยเตอร์กับเอพี วันๆ ก็นั่งก้มหน้าแปลข่าวทำปากขมุบขมิบคุยกับดิกชันนารีนะ เอามั้ยละ”
“ไอ้บ้าเต้น ...ฮ่าๆ พูดซะ ฉันจะไปฟ้องพี่อู้ดดี้ว่า เนี่ย ไอ้เต้นมันเอาการทำงานของลูกน้องพี่มาล้อเลียน”
อณุภายังจำบทสนทนาของเธอกับเพื่อนตัวอ้วนกลม แต่ชื่อแน่งน้อย แว่วเข้าสู่สำนึกได้ ทั้งๆ ที่ทั้งคู่คุยกันนานแล้ว ...เรื่องของเรื่องก็เพราะเธอไปบ่นว่า เหนื่อยกับการที่ต้องไปรู้จักทีมพีอาร์ใหม่ๆ นักข่าวกลุ่มใหม่ๆ จากฉบับอื่น ทุกครั้งที่ต้องออกทำงาน แต่พอได้ฟังคำบ่นพ้ออันยาวยืดก็เลยจำต้องจำนนต่อเหตุผลของเพื่อน
ใช่...หน้าที่ใครก็หน้าที่ใครซิ...
จึงไม่แปลก ถ้าทีมพีอาร์จะไม่สนใจกระจอกข่าวแปลกหน้าจากหนังสือพิมพ์เกิดใหม่ ที่นานๆ จะโฉบมาให้เห็นสักทีหนึ่งอย่างเธอ ความจริงอณุภาน่าจะชินกับการถูกละเลยการปฏิบัติแบบนี้จากทีมพีอาร์ใหญ่ๆ แล้ว และน่าจะถือเป็นข้อดีด้วยซ้ำที่การ “ไม่เด่น” แบบนี้ อย่างน้อยเธอก็จะได้อยู่อย่างไม่อึดอัดและทำงานง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องถูกจับตามองจากใคร
จากที่เคยมั่นใจว่าตัวเองเป็นมิตรได้กับทุกคนในโลกนี้ ความรู้สึกนั้นก็ฝ่อและห่อเหี่ยวแฟบลงไปในทันใด
“คนเราไม่เหมือนกันหรอกลูก ถ้าทุกคนเหมือนกันหมด คิดเหมือนกันหมด สงครามก็ไม่เกิด แต่ขณะเดียวกันโลกก็ไม่พัฒนา และการที่โลกเจริญมาถึงขนาดนี้ได้ก็เพราะคนเราไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนกันนี่แหละ และเพราะความต่างของคนนี่ล่ะ สังคมจึงต้องมีกฎ ระเบียบ แล้วในที่สุดกฎหมายถึงได้กำเนิดมา ก็เพราะกฎหมายมีไว้ก็เพื่อควบคุมความต่างของมนุษย์ อย่างน้อยก็ให้ทุกคนในสังคมอยู่ในระเบียบและมีกรอบเดียวกันได้”
เสียง “ป๋า” บิดาเลี้ยง ผู้เป็นอาจารย์สอนกฎหมายวัยใกล้เกษียณ มักพร่ำสอนล่องลอยมาในห้วงคำนึง ซึ่งอณุภาก็ยอมรับในความต่างนี้ แม้ในวัยเด็กจะยังนึกฉงนอยู่บ้าง แต่บัดนี้เธอโตแล้ว การได้มีโอกาสเรียนรู้และมีประสบการณ์ที่หลากหลายมากกว่าคนอื่นๆ ทำให้เธอรู้ว่าการอยู่ร่วมกัน เราก็ต้องยอมรับสภาพให้ได้
รวมทั้งเข้าใจและรับรู้ถึงอาการ “เขม่น” นี้ด้วย เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนในโลกนี้จะรู้สึกดีเท่านั้นกับเธอ
- -ไม่เป็นไร ใครชอบ ไม่ชอบก็ช่าง เราไม่ทำใครเดือดร้อน ไม่มีใครทำเราเดือดร้อน ก็โอเค --