บทที่1. ไปรับเด็กหนีออกจากบ้าน

1071 คำ
 เพียงทั้งคู่ก้าวเท้าลงจากรถแท็กซี่  หญิงชราวัยหกสิบเจ็ดแทบจะถลาอ้าแขนรับขวัญหลานตัวน้อย บ้านไม้สองชั้นหลังเล็กอยู่เกือบท้ายซอยชุมชนสวนขวัญ  ก็มีสมาชิกเพิ่มเป็นเด็กหญิงที่แสนจะกล้าหาญหนีออกจากบ้านขึ้นรถไฟมาคนเดียวจากลำปางจนถึงหัวลำโพงได้อย่างปลอดภัย   แต่ก็ไม่รอดพ้นสายตาของเจ้าหน้าที่รถไฟที่ต้องโทรศัพท์มาหา ‘โยษิตา’ พี่สาวของเด็กหญิงวัยสิบขวบให้มารับตัวหนูน้อยเจ้าปัญหา หญิงสาวรู้สึกเกียจคร้านเกินกว่าจะหยิบไม้กวาดมาทำความสะอาดบ้านต่อ ไม่รู้ว่าเป็นลางบอกเหตุหรืออย่างไรที่จู่ๆ คุณยายก็นึกอยากทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ พอดีวันนี้เธอไม่ต้องไปทำงานพิเศษจึงได้อยู่ช่วยกวาดหยากไย่แต่ยังไม่ทันเสร็จดีบ้านหลังน้อยก็ได้ต้อนรับสมาชิกเพิ่ม ‘เด็กหญิงข้าวซอย’  กำลังเอร็ดอร่อยกับข้าวต้มผัดฝีมือคุณยายละเอียด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็กินข้าวหมูแดงจานโตไปแล้ว    โยษิตาเดินเลี่ยงเข้ามาโทรศัพท์ในบ้านต่อสายหาแม่ของข้าวซอย       นานหลายนาทีกว่าจะมีคนรับสาย             “คุณป้าอำภาหรือคะ” “เออ บ้านนี่ก็มีแต่ฉันนี่แหละ จะมาขายอะไร ประกันไม่ทำหรอกนะ ฉันไม่ยอมให้พวกแกเอาเงินฉันไปหมุนออกดอกกินสบายๆ หรอก” “เอ่อ...คุณป้าคะ หนูตาเองค่ะ โยษิตา”      “อ้าว! ยัยตาเหรอ แม่เป็นไร ตอนนี้ฉันไม่มีเงินหรอกนะ” โยษิตาอยากจะกรี๊ดใส่หูโทรศัพท์หรือไม่ก็ขว้างใส่ข้างฝาบ้านให้มันรู้แล้วรู้รอดไป ไม่มีสักประโยคที่จะถามหาลูกสาวตัวเองเลยหรือว่าป่านนี้ก็ยังไม่รู้ว่าข้าวซอยหายออกจากบ้านไป “ไม่ใช่เรื่องนั้นหรอกค่ะ” เธอพยายามกัดฟันทำใจเย็น ถ้าไม่คิดว่าป้าอำภาคือพี่สาวของแม่ที่ตายจากโลกนี้ไปแล้ว เธอคงว๊ากกลับไปบ้างแล้วล่ะ “ข้าวซอยมาอยู่ที่บ้านตาแล้วค่ะ” “เหรอ มันไปตั้งแต่เมื่อไหร่ล่ะ แกมารับมันเหรอ” “เปล่าค่ะ” หญิงสาวอึ้ง แม่แบบนี้ก็มีด้วยเหรอ? “ข้าวซอยหนีออกจากบ้านขึ้นรถไฟจากลำปางมาหัวลำโพงคะ ตาเพิ่งไปรับมาจากสถานีรถไฟ ตอนนี้อยู่บ้านกับยายปลอดภัยดีค่ะ” “ก็ดีแล้ว  ฝากดูมันหน่อยละกัน  แค่นี้ก่อนนะ ฉันยุ่ง” ยังไม่ทันที่โยษิตาจะพูดอะไรต่อ โทรศัพท์ก็โดนตัดสัญญาณไปแล้ว หญิงสาวถือหูโทรศัพท์ค้าง  หงุดหงิดหัวเสียแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ และเป็นดังที่คุณยายคาดคิดไว้ว่าจะได้ยินน้ำเสียงเย็นชาจากปลายทาง จนอดนึกน้อยใจแทนไม่ได้ คุณ ‘อำภา’ แม่ของน้องข้าวซอยเป็นพี่สาวของคุณ ‘อำพร’ ซึ่งเป็นแม่ของโยษิตา เดิมนั้นบ้านหลังน้อยนี้อบอุ่นไปด้วยคุณพ่อไพศาล-คุณแม่อำพร ลูกสาวคนเดียวคือโยษิตาและคุณยายละเอียด    ส่วนคุณตาสง่าได้จากไปตั้งแต่โยษิตายังเล็ก เมื่อสี่ปีที่แล้วรถยนต์คันหนึ่งที่แล่นแซงโค้งด้วยความเร็วจัด และความคึกคะนองของคนขับที่เมาสุรา พรากลมหายใจของพ่อและแม่ของหญิงสาวไปอย่างไม่มีวันกลับ บ้านที่เคยอบอวลด้วยเสียงหัวเราะสดใส จึงหม่นไปในทันทีนานนับปีกว่าสภาพจิตใจของลูกสาวคนเดียวจะดีขึ้น   กำลังใจที่ดีที่สุดในขณะนั้นก็คือมือเหี่ยวย่นที่ค่อยพยายามทำขนมไทยอร่อยๆ ให้เธอได้กินทุกๆ วัน ใช่! เธอไม่ได้อยู่เพียงคนเดียว เธอยังมีคุณยายที่รักและจะอยู่กับเธอตราบจนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะหมดลมหายใจสุดท้ายก่อนกัน   โชคดีที่พ่อทิ้งสมบัติให้เป็นบ้านหลังนี้และเงินประกันชีวิตของแม่ที่ทำให้เธอไม่ถึงขั้นลำบากมากมายนักและสามารถพยุงตัวเองจนเรียนมหาวิทยาลัยจนจบได้โดยไม่ต้องลาออกเสียก่อน  แต่ระหว่างที่เรียนอยู่ โยษิตาก็ทำงานพิเศษสารพัดเท่าที่เวลาว่างหลังจากการเรียนจะเอื้ออำนวย เพราะอย่างน้อยที่สุดการทำงานทำให้เธอคลายความเศร้าในจิตใจลงได้บ้าง แต่ในทางตรงข้าม มันกลับทำให้โยษิตาเข้มแข็งจนดูเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ก็ใช่นะสิ! คนอื่นๆ เขาไม่ต้องปวดหัวกับค่าใช้จ่ายในบ้านนี่นะ! ถึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านแต่รายจ่ายอย่างอื่นก็มี! ทั้งค่าน้ำ,ค่าไฟ,ค่าโทรศัพท์แล้วค่ายาของยายละเอียดกับค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ อีก อาหารการกินในบ้านไม่ใช่แค่เฉพาะของสองยายหลานเท่านั้น ยังมีหมาๆ แมวๆ จรจัดที่ยายละเอียดชอบเอาอาหารไปให้ตามมุมถนน แถมตอนนี้มีมาเพิ่มอีกหนึ่งชีวิตค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นอีกแน่ๆ หญิงสาวแอบถอนหายใจหนักๆ ขณะนั่งกดเครื่องคิดเลขในสมองคำนวณรายรับ-รายจ่ายของที่บ้าน โดยไม่ได้สนใจว่ายายละเอียดกับข้าวซอยกำลังทำอะไรอยู่ในห้องนั่งเล่น  โยษิตาเปิดหนังสือพิมพ์สมัครงานพลิกที่ละหน้าอย่างละเอียด มีรอยดินสอวงล้อมกรอบข่าวประกาศที่น่าสนใจ  ความฝันที่จะเป็นครูประถมดูจะเลือนลางเหลือเกิน ตอนนี้ไม่มีที่ไหนรับครูภาษาไทยเพิ่มทั้งของภาครัฐและเอกชน  ถึงแม้ว่าเพิ่งจะเรียนจบได้แค่ไม่กี่เดือน เธอต้องเร่งหางานประจำทำให้ได้ก่อน ไม่มีเวลาเที่ยวเล่นสนุกเหมือนเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน  ตอนนี้ที่พอจะทำแก้ขัดไปก่อนคืองาน ‘วิจัยตลาด’ เรียกเสียสวยหรู แต่ถ้าจะให้รู้จักแบบที่เข้าใจทั่วไปก็คือ ‘กรอกแบบสอบถาม’ ซึ่งจะต้องค่อยไปถามลูกค้าซึ่งเป็นคนทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ ตามที่บริษัทฯกำหนด ถามข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์หรือพฤติกรรมผู้บริโภค  มันเป็นงานพิเศษที่เธอทำตั้งแต่เรียนปีสี่เทอมสุดท้าย  จนมาถึงตอนนี้ก็สี่-ห้าเดือนเข้าไปแล้ว ถึงจะเป็นพิเศษแต่ก็เงินดีไม่น้อยหมายถึงว่าเธอต้อง ‘ขยัน’ ให้มากคุ้มค่าเงินด้วย หรือว่า? มีอะไรก็ทำไปก่อน? อย่างที่คนอื่นๆ พูดกัน!
อ่านฟรีสำหรับผู้ใช้งานใหม่
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอป
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    ผู้เขียน
  • chap_listสารบัญ
  • likeเพิ่ม