นายแตรเงยหน้ามองดูท้องฟ้าที่อมครื้มมาทั้งวัน และฝนตกห่าแรกช่วงตีสี่ เป็นที่พึงพอใจแก่ชาวนาอย่างนายแตรยิ่งนัก พอหยุดตกสักพัก เก้าโมงครึ่งก็โปรยปรายสายหนักหน่วงอีกครั้ง ชาวนาหน้าบ้านเริ่มจับยกคันไถพร้อมกับจูงควายมุ่งตรงที่แปลงนา กับการตระเตรียมแช่ข้าวเปลือกเพื่อจะได้หว่านใส่แปลงนาปี โตขึ้นมาเป็นต้นกล้า เป็นคนเขียนจดหมายไปถึงลูกทั้งสาม ที่หมู่บ้าน ปีลฮอง
เปล่งศรีผู้เป็นมารดาดีใจยิ่งนัก ที่ทราบว่าลูกทั้งหมดจะเดินทางมาพร้อมกัน
พอถึงกำหนดวันนัดหมายในรถยนต์คันเดียวกันมีผู้เดินทางร่วมห้าคน พี่น้องร่วมด้วยน้าสาว น้าเขย
ภาพบ้านของเธอยังแจ่มชัดในม่านสายตา ในยามเช้าตรู่ที่หมอกลงจัด เป็นม่านหนาทึ่ที่พุ่มพฤกษ์ รถยนต์เดินทางมาถึงโดยสวัสดิภาพ ตรงเข้าจอดบ้านของนายแตร
จากนั้นทั้งสามร้องตะโกนเรียกพ่อแม่
“พ่อจ๋าแม่จ๋าหนูกลับมาแล้ว”
“เตนกลับมาแล้วครับพ่อ”
“แต๊งค์กลับมาแล้วครับแม่”
ส่วนเพ็ญผ่องก็พาสามีหนุ่มหลบเข้าไปในบ้านของตนเองถัดไป เพื่อให้สมาชิกครอบครัวรู้ว่าเดินทางมาถึงแล้ว จึงเป็นเรื่องที่เอิกเกริกสำหรับญาติพี่น้อง ที่ทราบข่าวว่าญาติจากกรุงเทพเดินทางมาถึงแล้ว ก็มุ่งหน้าเข้าในบ้านทันทีเพื่อจะได้ผูกด้ายขวัญตามขนบประเพณีที่ต้องใช้ด้ายสีขาวผูกมัดข้อมือเรียกขวัญที่คนที่มาจากทางไกล
เป็นการเรียกขวัญปลอบขวัญคืนสู่เหย้า บางคนก็ใช้ด้ายสีขาวชุบน้ำขมิ้นสีเหลืองผูดมัดข้อมือให้ เช่นเดียวกับสองหนุ่มและหนึ่งสาว โดยหลังจากอาบน้ำอาบท่า พักผ่อนนอนหลับเนื่องจากรู้สึกเพลียต่อการเดินทาง
ถึงจะตื่นขึ้นมาเพื่อให้ญาติพี่น้องรับขวัญด้วยการผูกด้าย และส่วนเพ็ญผ่องกับสามีตามมาสมทบที่บ้านของนางเปล่งศรีซึ่งมีศักดิ์เป็นอาด้วยเช่นกัน เพราะมีญาติบางคนพร้อมด้วยเพื่อนบ้านที่ยังไม่ได้ผูกด้ายขวัญจะตามมาสมทบ
จากนั้นก็พูดคุยกันเรื่องสารทุกข์สุขดิบ อันมีฤดูกาลทำนาที่ถูกหยิบมาพูด เพราะตกช่วงฤดูทำนา ทั้งหมดร่วมอยู่ด้วยกับผู้สูงวัยที่เล่ากล่าวให้ฟัง ปรับทุกข์บ้าง คุยกับธรรมดาฉันท์ประสาคนรู้จักกัน
นางเปล่งศรีก็มีหมากพลูมาต้อนรับทั้งมวนบุหรี่ยาฉุน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติอย่างนี้สืบมา
ร่มเงามะม่วงขนาดใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วภายในบ้านนี้ปลูกไว้ห้าหกต้นอยู่ข้างริมรั้ว และในสวนหลังบ้าน เหลือสองต้นเอาไว้หน้าบ้าน ทำให้เดือนชมพูได้ยึดร่มเงานี้ทำกิจกรรมหลายอย่าง กับมารดาและเครือญาติคือปูเสื่อ ช่วยเหลือมารดาในการที่จะจัดเตรียมข้าวของเพื่อทำบุญฉลองอัฐิบรรพบุรุษ พ่อของเธอนำโกศบรรจุกระดูกของปู่ย่า มาขัดล้างเช็ดเพื่อให้เอี่ยมอ่อง จากนั้นก็ได้นำสายสิญจน์ที่ได้จากทางวัด เพราะพ่อเป็นพุทธมามกะคนหนึ่งที่มีความคุ้นเคยไปมาหาสู่กับท่านเจ้าอาวาสบ่อยหน
ครั้นสมัยที่เดือนชมพูยังเรียนอยู่ชั้นประถมและมัธยมต้น ท่านเจ้าอาวาสยังแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนถึงบ้าน ยืนมองไปยังท้องนาซึ่งโล่ง มีแต่น้ำเจิ่งนองขัง ที่นาเกือบทุกแปลงได้รับการไถกลบไถคราดไปแล้วเรียบร้อย ในการเพาะต้นกล้า ทุกปีเธอมักจะได้เห็นภาพเช่นนี้เป็นความเคยชิน
ความเขียวขจีของพรรณไม้เมื่อต้นฤดูฝน ดอกไม้แปลกตาที่บานกลางป่า ดอกไพลหรือดอกบุกบ้านที่ผุดดอกกลางดิน ดอกสวยประหลาด ทว่าไม่มีความหอมสักนิดเลย ดอกมะลิวัลย์กับมะลิซ้อนที่ดอกโตหน่อยหนึ่ง แข่งกันบานอยู่ใต้ร่มเงาของต้นมะรุมกับพลูเลื้อย
ดีนะที่ฝนไม่ตกในวันนี้ ท้องฟ้าดูโปร่ง เห็นพ่อบอกว่า
“มันตกติดต่อกันแล้วสามวันลูก ดีหน่อยล่ะ คนบ้านเราได้เตรียมพร้อมที่จะหว่านข้าวกล้ากัน วันนี้คงไม่ตก เพราะท้องฟ้ามันสดใส”
เธอก็เข้าใจอย่างนั้น ฝนล้างฟ้าทำให้อากาศสดใสอย่างนี้
“ที่นาของเราตอนนี้พ่อหว่านไปเรียบร้อยแล้ว ขอให้ข้าวปีนี้มันราคาดีอย่างรัฐบาลว่าเถอะ”
เธออยากจะแย้งในใจว่า พ่อจ๋าทุกปีเกษตรกรชาวนาอย่างไร ทำนานี่อดทนกว่าจะถึงเดือนสิบสอง พอหน้าเกี่ยวเกี่ยวได้ผลผลิตแล้ว มักจะเป็นหนหี้ เพราะต้องทำนาใช้หนี้ไม่ใช่หรือจ้ะพ่อ
คนที่ทำนามีน้อยรายนักที่จะร่ำรวยเป็นล่ำเป็นสัน อย่างน้อยก็นายทุน เจ้าของกิจการโรงสีไง ที่ผูกขาดราคาขายให้แก่ชาวนามานานนมปีแล้ว กดราคาให้ต่ำทุกครั้ง
พูดถึงชาวนาที่เป็นอาชีพแต่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เธอเห็นแล้วก็รู้สึกสงสาร ชาวนาเป็นอาชีพที่ถูกสาป และไม่เคยมีใครร่ำรวยจากอาชีพทำนา ในยุคที่เม็ดข้าวราคาแพงดั่งทองคำก็ตาม
อย่างน้อยกลับมาบ้านคราวนี้ ความสนิทสนมแต่เดิมที่มีกับพ่อมากที่สุด ทำให้ได้รับเรื่องราวที่พ่อเล่ากล่าวเกี่ยวกับชาวนาเพื่อนบ้าน พ่อมักจะเล่าให้ฟัง เพราะความเป็นพ่อลูกนี่เอง
ภาพของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบรังแก เหมือนคนไม่มีทางสู้ บางครอบครัวทำนาเพื่อหวังจะได้ชดใช้หนี้ที่ค้างปีที่แล้ว ปุ๋ยที่ราคาแพงลิบ และเป็นปุ๋ยเคมีด้วย ใช้ไปนับวันทำให้ดินเสื่อมสภาพ ดินเสีย ผลผล ตลดน้อยลงทุกวัน
แต่ก็น่าแปลกที่ชาวนาต้องง้อ และใช้ปุ๋ยที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อต้นพืชต้นข้าวสักเท่าใด เพราะมันมีส่วนผสมของสารเคมี ทำลายธาตุอาหารไปหมดแล้ว แต่ชาวนาก็ต้องทู่ซี้ ดันทุรังใช้ บางครอบครัวมีหัวคิดฉลาดหน่อย รู้จักผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เอง ใช้วัสดุง่ายตามท้องถิ่น เศษผักเศษอาหารต้นหญ้าเอามาหมักผสมกับกากน้ำตาล
ชาวนารู้ ใช่ว่าจะไม่รู้ว่า ผลเสียมันเกิดขึ้น และเกิดขึ้นกันอย่างถ้วนหน้า แต่ก็ยังมีแต่คนแห่ใช้ปุ๋ยเคมี ที่ราคาแพง วัสดุมาจากคราบตะกอนน้ำมัน ทั้งๆที่รู้ว่าใช้ไปแล้วเจ๊ง ไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะหนี้มหาศาลทุกปีที่รออยู่
พ่อค้าคนกลางมักจะฉลาด ให้ชาวนาเอาปุ๋ยไปใช้ก่อน สิ้นปีได้ผลกำไรหรือขาดทุน จำเป็นจะต้องนำมาใช้ค่าปุ๋ย
ซึ่งปุ๋ยนั้น ทุกวัน บางคนก็ไม่ได้ปุ๋ยดี แต่เป็นปุ๋ยปลอม ทุกๆปีจะเป็นแบบนี้เรื่อย ปุ๋ยที่หลอกขาย มีส่วนผสมไม่ได้มาตรฐาน เพราะเห็นชาวนาไร้การศึกษา และไม่ทันเกม
แต่อาชีพการทำนาของครอบครัวเดือนชมพู ถือว่ารอดพ้นได้หวุดหวิด มีน้อยรายจะเป็นอย่างครอบครัวพ่อ ที่ปุ๋ยเคมีจำต้องใช้เหมือนกัน แต่ใช้นิดเดียว ซ้ำไม่มีหนี้สินติดค้าง เพราะข้าวเปลือกปีเก่ายังมีเก็บอยู่ในฉางข้าว ครอบครัวไม่ได้เดือดร้อน และพ่อใช้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมัก รวมทั้งทำปุ๋ยชีวภาพผสมกากน้ำตาล
ที่พ่อแม่มีนาเยอะและทำนาเยอะ นั่นเป็นเพราะสามารถหาเลี้ยงดูลูกที่เรียนระดับสูงถึงระดับอาชีวะและปริญญาตรีสามคนได้ นอกจากอาศัยเงินกู้ของรัฐบาล และการสอบชิงทุนได้ ถ้าไม่งั้นแม้แต่ความหวังพ่อแม่ก็ไม่สามารถก่อให้บังเกิดได้
ได้เงยหน้ามองภาพรอบตัวอีกครั้ง ที่บ้านเกิด ซึ่งเป็นอะไรที่อบอุ่นอย่างมากในใจของเด็กสาว หลังจากพบปะญาติผู้ใหญ่และเพื่อนสนิทบางคนที่ทราบเรื่อง ก็มาเยี่ยมถามไถ่ถึงบ้าน ต่อจากนั้นลูกชายทั้งสองคนของนายแตรก็ขอตัวขึ้นไปนอน
เดือนชมพูคนเดียวที่ไม่ได้ขึ้นบ้านอีกครั้งพร้อมพี่ชาย
“หนูอยากเดินดูที่นา ของเราจ้ะพ่อ อยากดู อยากเห็นอะไรหลายอย่าง ที่เคยดูเมื่อก่อนนี้”
ส่วนนางเปล่งศรีได้ยินบุตรสาวเอ่ยจึงบอกว่า
“ไปนามันร้อนนะลูก แม่ว่าขึ้นไปนอนพักเอาแรงเถอะ เหมือนพี่ๆเค้า”
“หนูไม่นึกง่วงนี่แม่ เอ งั้นหนูว่าจะไปเยี่ยมที่บ้านของสร้อยสักหน่อย”
สร้อยคือเพื่อนสมัยเรียนชั้นประถม และมัธยมของเดือนชมพู พอจบชั้นมัธยมปลาย ไม่ได้ศึกษาต่อแต่กลับเลือกแต่งงานกับหนุ่มรุ่นพี่ในหมู่บ้านเดียวกัน ได้ข่าวว่าเพื่อนสาวคนนี้เพิ่งคลอดลูกได้สองเดือน จึงอยากจะเข้าไปเยี่ยมดูหน้าหน่อย
สร้อยเพียงคนเดียวที่เป็นเพื่อนสาวที่สนิทสนม และสร้อยเองก็มีการเรียนที่ไล่เลี่ยกับเธอ แต่อย่างว่าล่ะ อนาคตของคนเรา ไม่สามารถกำหนดทิศทางได้เอง
สร้อย สาวแม่ลูกอ่อนส่งรอยยิ้มเซียวให้เพื่อน เมื่อนางอ่อน มารดาลุกขึ้นมาบอกว่า เดือนชมพูมาหา จึงอุ้มเอาลูกน้อยซึ่งซุกตัวนอนอยู่ในผ้าอ้อม หลังจากที่อิ่มน้ำนมจากครรภ์เรียบร้อยแล้ว
“ สร้อยจ้ะ ไหนพู่ขอดูหน้าตาหลานหน่อย อุ๊ย น่าเกลียดน่าชังอะไรอย่างนี้” เดือนชมพู่ทรุดนั่งบนแคร่ พลางชำเลืองสายตามองเพื่อน หลังจากที่เล่นกับหลาน เธอมีความรู้สึกว่าตัวเองเริ่มแก่แล้วล่ะ ทั้งๆที่ยังเรียนไม่จบ เพิ่งเรียนไม่นาน ยิ่งมองเพื่อน สร้อย เหมือนสาวชนบททั่วไปที่ไม่ได้ใส่ใจดูแลตัวเอง ปล่อยปละละเลย แต่เธอเข้าใจว่านี่เป็นช่วงหลังคลอด
“พู่มาถึงตั้งแต่เมื่อไหร่”
สร้อยถามเพื่อนสนิท
“ตั้งแต่เช้านี้จ้ะ มาพร้อมกันหมดเลย พ่อกับแม่บอกว่าจะทำบุญฉลองอัฐิปู่ย่าตายาย สำคัญมาก ไม่กลับไม่ได้เลย”
“จ้ะ สร้อยก็ดีใจที่ได้มาเจอหน้าพู่อีกครั้ง”
ทั้งคู่เล่าเรื่องราวที่ในอดีตเคยสนุกสนานเฮฮาแต่ครั้งยังเรียนวัยประถมจวบจนบรรยากาศกลางทุ่ง ริมท้ายหมู่บ้านใต้ร่มปีบ ที่ช่วยกันเก็บดอกสีขาวของมันใส่ตะกร้าเพื่อนำหั่นเป็นชิ้นเล็กแล้วนำไปตากแดดเพื่อเป็นยาฉุนแทนบุหรี่ในช่วงหน้าหนาวจนถึงหน้าฤดูกาลทำนา