คำแช่งบนแผ่นทอง

2121 คำ
คำแช่งบนแผ่นทอง พระธาตุพระอานนท์ประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ลักษณะพระธาตุมีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 8 เมตร ก่ออิฐถือปูน สูง 25.30 เมตร ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นโดดเด่น มีรูปพระอานนท์ยืนอยู่กึ่งกลางของพระธาตุทั้ง 4 ด้าน มีลักษณะทรวดทรงรูปพรหม 4 หน้า ส่วนด้านทิศตะวันออกมีลักษณะพิเศษคือมีรูปราหูอมจันทร์ พระอานนท์คือพระอรหันตสาวกองค์หนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะนิกายเถรวาทที่ได้วางรากฐานมั่นคงอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน เนื่องจากท่านเป็นผู้มีส่วนร่วมริเริ่มในการทำปฐมสังคายนา จัดระบบพระธรรมวินัย จัดระเบียบองค์กรปกครองคณะสงฆ์ และจัดส่งพระธรรมทูตออกเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง กล่าวได้ว่า พระอานนท์ได้อุทิศชีวิตให้กับงานพระพุทธศาสนาจนร่างกายท่านดับสลาย แม้กระทั่งอัฐิธาตุของท่านก็ยังมีส่วนส่งเสริมพิธีกรรมสืบอายุพระศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนไม่มากนักที่ทราบว่า ในดินแดนพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนี้มีอนุสรณ์สถานพระอรหันตเถรเจ้าปรากฎอยู่ที่นี่…ยโสธร.. เมืองยโสธรหรือที่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกอย่างภูมิใจว่า ‘เมืองยศ’ นั้น มีประวัติความเป็นมาน่าตื่นเต้น ระทึกขวัญทั้งด้านสังคม การเมือง ความศรัทธาในศาสนา และความเชื่อในไสยศาสตร์ ภูตผีวิญญาณต่าง ๆ แม้ว่าภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติในอดีตได้เปลี่ยนแปลงไปเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ร่องรอยโบราณสถาน โบราณวัตถุตลอดทั้งวิถีชีวิตของผู้คน ประเพณีพิธีกรรมที่ยังสืบทอดกันอยู่ในปัจจุบันย่อมเป็นสักขีพยานได้ดีว่า เรื่องราวต่อไปนี้มีมูลความจริงและควรค่าต่อการศึกษาเรียนรู้ไม่น้อย ตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในยุคเริ่มต้นก่อร่างสร้างชุมชน คณะเครือญาติของเจ้าพระวอ เจ้าพระตา เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์ ได้อพยพไพร่พลจากเมืองหนองบัวลุ่มภู(หนองบัวลำภูหรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน) เมื่อเดินผ่านมาถึง ‘ดงผีสิง’ใกล้ท่าน้ำลำชีก็พบว่า ในดงนี้คงเป็นเมืองเก่าที่ผู้คนนับถือศาสนาพุทธมาก่อน เพราะได้พบพระพุทธรูปใหญ่และสิงห์หินอันเป็นศิลปกรรมที่งดงาม น่าศรัทธายิ่งนัก ในขณะเดียวกันก็ได้สังเกตเห็น ‘เงาลึกลับ’เคลื่อนไหววูบวาบผ่านไปมาระหว่างแนวแมกไม้ อยู่ ๆ ก็บังเกิดสายลมโหมกระพือ แล้วเงาขมุกขมัวที่ปราศจากตัวตนนั้นก็ได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ทุกคนประจักษ์โดยหักโค่นต้นไม้ล้มลงระเนนระนาด เมื่อเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น ผู้เป็นพราหมณาจารย์ในขบวนจึงประกอบพิธีกรรม ขออนุญาตสร้างบ้านสร้างเมืองตามอุดมมงคลฤกษ์ที่ปรากฎ แล้วตั้งชื่อชุมชนว่า ‘บ้านสิงห์ท่า’ ตามรูปสิงห์หินแกะสลักที่พบ ในสมัยต่อมา เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบ ความขัดแย้งระหว่างสองอาณาจักรคือ อาณาจักรลุ่มน้ำโขงกับอาณาจักรลุ่มน้ำเจ้าพระยายุติลง หัวเมืองน้อยใหญ่บนแผ่นดินถิ่นราบสูงมีความชัดเจนในการปกครอง ชุมชนบ้านสิงห์ท่าจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนามว่า ‘ยโสธร’ หรือ ‘ยศสุนทร’ โดยมีเจ้าเมืองครองตำแหน่งที่ ‘พระสุนทรวงศา’ ดังนั้น ยโสธรจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘เมืองยศ’ ดังกล่าว ในยุคต้นการปกครอง เมืองยศสุนทรยังขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย และนครจำปาศักดิ์ในฐานะบ้านพี่เมืองน้องที่สัมพันธ์กันเป็นเครือญาติเจ้าพระวอ เจ้าพระตาในอดีต มีเจ้าเมืองชั้นหลาน เหลนของท่านมาปกครอง ดูแลทุกข์สุข ‘พี่ ป้า น้า อา’ มิได้ขาด จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบประเทศราชมาเป็นเทศาภิบาลโดยเจ้านายจากเมืองหลวงแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปปกครองดูแล เมืองยโสธรจึงมีการปรับเปลี่ยนสถานภาพตามลำดับจนกระทั่งเป็นจังหวัดที่ 71 ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2515 ขอย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนบ้านสิงห์ท่าของบรรพบุรุษโดยประกอบพิธีกรรมคารวะต่ออำนาจลึกลับใน ‘ดงผีสิง’ แม้เหตุการณ์ได้ผ่านเลยมาหลายร้อยปีแล้ว แต่ความทรงจำก็ยังคงสลักอยู่ในเรื่องเล่าของชาวบ้านเหนือ บ้านใต้และบ้านกลางที่สืบทอดกันมา ความเชื่อในอำนาจลึกเร้นยังได้รับการเคารพ บูชาผสมผสานกับคำสอนเรื่อง ‘กรรม’ ของพระพุทธศาสนา เงาลึกลับและองค์วิญญาณที่ชาวยโสธรให้ความเคารพศรัทธาจึงปรากฎอยู่มากมาย สถิตย์อยู่ทั่วเมือง เช่น ผู้คุ้มครองตามทิศต่าง ๆ ดังนี้ เจ้าพ่อตง รักษาทิศเหนือ เจ้าพ่องูซวง รักษาทิศตะวันออก เจ้าปู่ยโสธร รักษาทิศตะวันตก เจ้าแม่สองนาง รักษาทิศใต้ เจ้าพ่อหลักเมือง รักษากลางเมือง แต่ละองค์ก็มีประวัติความเป็นมาและบันดาลเหตุพิศดารที่น่าสนใจ ท่ามกลางดวงวิญญาณทั้งดีและร้ายที่คอยสำแดงฤทธิ์เดช พระธาตุหรือพระเจดีย์อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาก็ได้รับการบูชาจากชาวเมืองยศมิได้ขาดในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเช่นกัน แต่ก็ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาของพระธาตุองค์นี้ แม้หลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ‘กบฎผีบุญ’ พระครูอินทร์ก็ยังได้ทำการบูรณะพระธาตุครั้งใหญ่ ดังหลักฐานจารึกที่ติดตั้งอยู่หน้าพระธาตุ มีข้อความดังนี้ จุลศักราช 1287 พ.ศ. 2468 ข้าพเจ้าพระครูอินทร์ได้พร้อมสัทธิวิหาริกแลอันเตวาสิกภายนอกมีอุบาสก อุบาสิกาได้อุปถัมภ์พระเจดีย์ใหม่อีกหนหนึ่ง เมื่อพุทธศักราช 2464 ได้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ลูกใหญ่ เมื่อพุทธศักราช 2467 ได้ปฏิสังขรณ์เจดีย์ลูกน้อยกับสร้างกุฏิขึ้นอีกหนึ่งหลัง ยาว 10 วา กว้าง 6 วา สิ้นทรัพย์ 1,500 บาท รวมทั้งพระเจดีย์ 2 ลูก กุฏิ 1 หลัง สิ้นทรัพย์ไป 2,150 บาท พระเจดีย์เป็นของโบราณมานานแล้ว ไม่รู้ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ถามชาวเมืองผู้มีอายุสูง ๆ ได้ร้อยปีก็หาได้ทราบไม่ ข้าพเจ้าจึงได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกหนหนึ่ง เพื่อให้เป็นธงชัยสืบอายุพระพุทธศาสนาตลอด 5000 พระวัสสา สาธุชนผู้เป็นพุทธบริษัทเมื่อได้ทราบแล้วจงมีศรัทธาสาธุการส่วนบุญกับข้าพเจ้าด้วยเทอญ จนกระทั่งมีการค้นพบตำนานพระธาตุในบริเวณกำแพงแก้วที่ชำรุด ได้พบบันทึกอักษรโบราณ บนแผ่นทองคำ เผยความลับของของพระธาตุไว้อย่างละเอียด นับแต่บัดนั้น พระธาตุที่ตั้งอยู่กลางดงผีสิงก็ได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าอนุสรณ์สถานศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้คือ ‘พระธาตุพระอานนท์’ ผู้เป็นพระอรหันตเถรเจ้าในพระพุทธศาสนานั่นเอง เนื้อหาของตำนานมีรายละเอียดดังนี้ ข้าพเจ้านามกรชื่อว่า เจตตานุวิน ผู้สร้างพระธาตุ คือว่าพระธาตุนี้สร้างแล้วเมื่อพุทธศาสนาล่วงได้ 1218 ได้พร้อมกันกับ จินดาชานุ ผู้เป็นน้อง คือว่า ท่านองค์นี้เป็นลูกน้องแม่ของตู สร้าง 8 เดือน 25 วันจึงแล้วเสร็จท่านเอย ข้าพเจ้าเกิดอยู่เวียงจันทน์ได้พากันออกบวชทำความเพียร นานนับได้ 3 ปี 25 วัน เห็นว่าท้าวพญาทั้งหลายนับถือดอน ‘ปู่ปาว’เป็นสถานที่กราบไหว้บูชา ข้าพเจ้าจึงคิดว่าที่นี่ตูจักไปเอาของศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐานไว้ เมื่อว่าจักได้เป็นมงคลสืบไปภายหน้า จึงได้เดินกัมมัฏฐานไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ สืบถามเส้นทาง นานประมาณว่าได้ 2 ปี 10 เดือน 11 วัน จึงไปถึงเมืองเทวทหนคร เห็นคนทั้งหลายกำลังก่อสร้างพระธาตุ พร้อมทั้งท้าวพญา เสนาน้อยใหญ่ เนื่องจากสถานที่พระธาตุเก่าอยู่คับแคบ พากันสร้าง 7 เดือนจึงแล้วเสร็จท่านเอย ท้าวพญาทั้งหลายจึงอัญเชิญพระธาตุ ไขปากประตูเข้าไปได้ 3 ชั้น เห็นหีบเงิน 3 ชั้น ไขหีบเงินแล้วเห็นหีบคำ 7 ชั้น ไขหีบคำแล้วเห็นหีบแก้วไพฑูรย์ แล้วเห็นผ้ากะจ๋าคำ 500 ชั้น จึงเห็นผ้าขาวอันอ่อนเหมือนดั่งสำลีหลายชั้น จึงเห็นกระดูกแลฝุ่น เขาบอกว่าเป็นกระดูกพระอานนท์ ข้าพเจ้าจึงถามเขาอีกว่า ธาตุองค์นี้เป็นมาดังลือ เขาบอกว่าเป็นมาแต่ปู่บอกกล่าวกันมา ตูข้าจึงนับถือมาจนบัดนี้ ข้าพเจ้าจึงอธิษฐาน แล้วแต่งเครื่องบูชาด้วยสิ่งของต่าง ๆ พระธาตุนั้นก็เกิดมีลมพัดผ้ากะจ๋าคำขึ้นไปบนอากาศ แล้วข้าพเจ้าจึงอธิษฐานในใจ ผ้าก็ตกลงมาทั้ง 500 ชั้น นี่ก็เป็นอัศจรรย์ จึงได้วิงวอนวานถึงท้าวพญาอยู่หลายวัน จึงได้ผงธุลีประมาณว่าเท่าเต็มเปลือกไข่นกกระเรียน กับกระดูเท่าดอกสังวาล ข้าพเจ้าได้นำกลับมาถึงแล้ว แลว่าจักสร้างพระธาตุบรรจุอัฐิที่ดอนปู่ปาว เกิดความติฉินนินทาว่าผิดรีตโบราณ จึงได้ขับไล่ข้าพเจ้าหนีมาอยู่กับขอมนานว่าได้ 3 ปี จึงได้ชักชวนขอมชื่อเอียงเวธา ผู้เป็นใหญ่มาสร้างไว้ในดงผีสิง อันว่าดงผีสิงแห่งนี้ไกลจากบ้านคนเจ็ดร้อยชั่วขาธนู(ประมาณ 30 เส้นหรือ 1 กม.เศษ) อูบหีบเป็นดังสิงห์ใส่เครื่องสร้างพระธาตุ ฝังไว้ในทิศพายับไกลร้อยเจ็ดชั่วขาธนู(ประมาณ 5 เส้น 7 วา) แลสิ่งของในพระธาตุก็มีหลายสิ่ง เมื่อคนอยากรู้แจ้งจงศึกษาในประวัติเล่มใหญ่แลท่านเอย อันหนึ่งเขียนใส่แผ่นทองแดงไว้มุมพระธาตุทิศตะวันตก ทางใต้ อีกแผ่นหนึ่งเขียนใส่แผ่นทองคำธรรมชาติไว้ใต้พื้นพระธาตุ ส่วนประวัติพิศดารนั้นเอียง เวธาเจ้าบ้านแลเป็นผู้สร้างได้เก็บรักษาไว้ ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยบ้านน้อยบ้านใหญ่ได้พากันสร้างสิ้นเวลา 8 เดือน 25 วันจึงสำเร็จ ในภายหน้า ถ้าจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อไปก็อย่าต่อเติมให้สูงเกินกว่าพระเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุคือ ‘พระธาตุพนม’ไม่เช่นนั้นจะถูกอสนีบาต ส่วนประวัติที่เป็นคำยกย่องและคำสาปแช่งซึ่งพบแห่งเดียวกันมีใจความปริศนา ดังนี้ ไผผู้มาก่อสร้างสีใครเจดีย์ใหม่ ตูอยากให้สูเจ้าเพิ่งบุญดอกนา เพราะว่าปวงชนเชื้อนครสีมักโลภหาแต่ความอยากได้บ่กลัวย่านบาปกรรม ไผผู้ปฏิบัติให้เจดีย์มั่นเที่ยง ขอจงรู้เหตุเบื้องประวัติไว้อย่าลืม ไผผู้บุญมากล้นจึงได้มาปฏิบัติ บุญบ่เคยมีมาบ่ได้ปฏิบัติแท้ อันมีมาก่อสร้างเจดีย์นี้ยากยิ่ง คนตายนับบ่ได้ถ้าขืนสร้างต่อไป พอเมื่อก่อสร้างแล้วผีดงกลับเพศ นำสิ่งของค่าล้านถวายให้แก่หมู่คน ตูจึงขอเจดีย์ให้ผีดงรักษาเขต บุญที่เคยสร้างไว้จึงเห็นแจ้งแห่งตำนานท่านเอย พระธาตุพระอานนท์ได้รับการดูแลรักษาเป็นศูนย์กลางศรัทธาในพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อทางด้านภูตผีวิญญาณ แม้ว่าบ้านเมืองจะได้รับผลกระทบจากสงคราม ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองก็ตาม แต่พระธาตุพระอานนท์ก็ยังเป็นสถานที่เคารพบูชาของชาวยโสธรและปวงชนใกล้เคียง ตลอดระยะเวลานับพันปีที่ผ่านมาไม่เคยถูกทำลาย หรือถูกฉกฉวย เบียดบังจากพวกมิจฉาชีพ พวกจิตอกุศล เนื่องจากทุกคนทราบกิตติศัพท์ดีว่า ผลกรรมของผู้ล่วงล้ำทำลายทรัพย์สินของมีค่าต่าง ๆ ภายในอาณาเขตของพระธาตุคือ มักจบลงด้วยความตายอันน่าเวทนา อีกทั้ง เขตแดนแห่งนั้นยังเป็นสถานที่ ‘สาบาน’อันขมังยิ่งนัก ชาวเมืองยโสธรจึงจัดให้มีเทศกาลนมัสการพระธาตุโดยกำหนดเอาวันขึ้น 13 – 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปีเป็นระยะเวลามหามงคล ประเพณีพิธีกรรมนี้ยังได้รับการสืบทอดจากอนุชนรุ่นหลังโดยไม่เคยว่างเว้น เพื่อน้อมรำลึกถึงเจตตานุวิน จินดาชานุ เอียงเวธา และบูชาบุญญาภินิหาริย์ของพุทธสาวกเจ้าสายธารธรรมแห่ง ‘เถรวาท’ ผู้มีนามเป็นอมตะว่า ‘พระอานนท์’ ในห้วงยามมหามงคลฤกษ์นั้น เสียงสวดดังกึกก้องเหนือท้องฟ้าเมืองยโสธร กาเยน วาจาปิ เจตสา จ อานนทตเถรสส ธาตุ อภิวายาม ทีปลกกรว รามิเสน อานนทตเถรสส ธาตุ อภิปูชยาม ตสสานุ ภาเวน สุข สพพทา สพพญจ ทุกขํ ขียติ อเสสกํ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขออภิวาทกราบไหว้ พระธาตุแห่งพระอานนท์เถระเจ้า ด้วยกาย วาจาและใจ ขอสักการะพระธาตุของพระอานนท์เถระเจ้า ด้วยสักการะวรามิส มีธูปเทียนเป็นต้น ด้วยอานุภาพแห่งการกราบไหว้บูชานั้น ขอความสุขจงมีทุกเมื่อ ส่วนความทุกข์จงสิ้นไป หาส่วนเหลือมิได้เทอญ.
อ่านฟรีสำหรับผู้ใช้งานใหม่
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอป
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    ผู้เขียน
  • chap_listสารบัญ
  • likeเพิ่ม