บทที่ 2 ลูกไม้ใต้ต้น
นับจากวันที่บุษบงคลอดลูกแฝดมาจนถึงวันที่เธอหอบลูกกลับมาอยู่บ้านจัดสรรหลังเก่า เวลาผ่านไปสิบเจ็ดปีแล้ว
นางปทุมครุ่นคิดขณะนั่งเอนหลังเหยียดยาวบนเก้าอี้โซฟา เธอไม่โกรธลูกสาวที่แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดจนถึงขั้นขว้างปาสิ่งของบ่อยครั้ง และวันนี้เธอคว้าจานจากมือของนางโยนลงพื้นอย่างแรงจนเศษกระเบื้องกระเด็นใส่หน้าแข้งของนาง
นางปทุมนึกหาเหตุผลให้กับการกระทำของบุษบง นางเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเป็นเพราะความกดดันของชีวิตที่บุษบงได้รับจึงทำให้เธอกลายเป็นคนที่มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ โดยเฉพาะช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเงินในบัญชีของเธองวดแห้งลงไปโดยไม่มีเงินโอนเข้ามาจากสามี เธอกลุ้มใจที่ไม่มีเงินใช้จ่ายเต็มไม้เต็มมืออย่างเคย
ชีวิตแต่งงานสิบเจ็ดปีอันไร้สุขของบุษบงยังไม่จบลงเด็ดขาดแม้ว่าเธอได้ย้ายออกจากบ้านสามีมาแล้ว มันยังคาราคาซังค้างคาอยู่ เพราะหัวเด็ดตีนขาดเธอไม่ยอมเซ็นใบหย่ากับอภิชัยตามที่ผู้จัดการมรดกเสนอ บุษบงจำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียดและอดทนในช่วงนี้เพื่อรอแบ่งสมบัติจากครอบครัวของเขาเมื่อถึงเวลา
นางปทุมกะพริบตาถี่ขณะหวนย้อนคิดถึงชีวิตตนเอง
เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยสาวนางเองก็ไม่ต่างจากบุษบงที่ต้องการหนีจากสภาพชีวิตที่ตนคุ้นชิน นางคิดว่าการแต่งงานจะพานางไปไกลเท่ากับที่นางฝันไว้ แต่เปล่าเลย...
...นางสาวปทุมเกิดในครอบครัวคนจีนที่ค้าขายอยู่ในตลาดที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เตี่ยและแม่ของนางเคยหมั้นหมายหนุ่มจีนไว้ให้นางคนหนึ่ง แต่นางไม่ยอมรับ เพราะนางเกรงว่าจะต้องไปยืนขายของที่ร้านค้าของเขาเช้าถึงเย็นอย่างที่นางทำอยู่ทุกวันตั้งแต่เด็ก
นางสาวปทุมเกลียดสภาพของตัวเองที่ต้องตื่นแต่เช้ามืด เปิดหน้าร้าน ยกของทั้งหนักและเบาออกมาเรียงตั้ง ฟังเสียงขโมงโฉงเฉงของพ่อค้าแม่ขายในตลาดตะโกนพูดกัน กลิ่นของสดของคาวของแห้งโชยคลุ้งผสมกับน้ำเสียในร่องระบายที่คนในตลาดใช้เป็นที่สาดอาหารเหลือทิ้งลงไป นางต้องแบกยกของหนักทุกวันและถูกเตี่ยตะโกนดุว่าต่อหน้าลูกค้าบ่อยครั้ง ตกค่ำเมื่อปิดร้านแล้วนางไม่ได้ไปไหนกับใครเขาเพราะเป็นลูกสาวต้องเก็บเนื้อเก็บตัว นางจึงต้องการไปให้ห่างชีวิตแบบนี้
แล้ววันหนึ่งก็มีข้าราชการหนุ่มผู้ซึ่งทำงานเป็นเสมียนศาลเข้ามาซื้อของที่ร้าน เขาชื่อบุญเกื้อ อายุยี่สิบแปดปี มีผิวคล้ำ ร่างสูง ใบหน้าคมขำ ท่าทีอ่อนโยน เขาพูดจากับนางสาวปทุมด้วยท่าทีสุภาพ เขามาที่ร้านหลายครั้งเพื่อซื้อของเล็กๆ น้อยๆ และเพื่อจะได้พบหน้าพูดคุยกับลูกสาวเจ้าของร้านที่ออกมาต้อนรับเขาทุกครั้งด้วยสีหน้าเบิกบาน บางครั้งเขาขี่จักรยานผ่านหน้าร้านของเธอไปจนสุดถนนและขี่วนกลับมาเพื่อจะได้เห็นเธอออกมายืนยิ้มให้ ทั้งสองมองตากันและรู้ความนัยโดยไม่ต้องใช้คำพูด
เวลาผ่านไปครึ่งปีนายบุญเกื้อก็ให้ผู้ใหญ่มาทาบทามเพื่อสู่ขอ เตี่ยและแม่ของนางสาวปทุมมองหน้ากันก่อนพยักหน้ารับอย่างขัดไม่ได้ เพราะเถ้าแก่ที่มาทำหน้าที่พูดจาสู่ขอนั้นเป็นเจ้านายผู้เคยให้ความสะดวกบางอย่างแก่คนค้าขาย แม้จะอยากได้ลูกเขยคนจีน แต่ในเมื่อสอบถามลูกสาวแล้วนางไม่ปฏิเสธ ก็เป็นอันว่านางสาวปทุมได้แต่งงานกับเสมียนศาลผู้นั้นและได้ออกจากตลาดสมใจ
นายบุญเกื้อสามีของนางปทุมนับว่าเป็นคนดีแสนดี เขาไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ทำอะไรเกินตัว เขาวางตนอย่างซื่อสัตย์และสุจริต ไต่เต้าไปตามลำดับขั้นของระบบงาน เขามาจากครอบครัวชาวนาเช่นเดียวกับคนไทยรุ่นเก่าส่วนใหญ่ เขารู้จักค่าของเงินและมีนิสัยเก็บหอมรอมริบ กินอยู่ประหยัด เขามอบเงินเดือนทั้งหมดให้นางปทุมใช้จ่ายในบ้าน
ช่วงที่ยังไม่มีลูกนางปทุมก็ใช้จ่ายไปตามสมควร ซึ่งเมื่อครั้งยังอยู่ร้านของพ่อแม่ซึ่งเป็นเถ้าแก่นั้นนางมีกินมีใช้ไม่ขาดแคลน ไม่เคยต้องอดอยากปากแห้ง แต่เมื่อแต่งงานและต่อมามีลูกสามคนที่คลานตามกันออกมาปีเว้นปี เงินเดือนที่ได้รับจากนายบุญเกื้อผู้เป็นสามีก็ต้องจัดการให้พอใช้ในบ้าน อาหารดีๆ ที่นางเคยได้กินก็ต้องปรับระดับลงมาให้พอดีค่าใช้จ่ายที่พ่อบ้านหาคนเดียวแต่ต้องเลี้ยงห้าปากห้าท้อง
ต่อมานายบุญเกื้อย้ายไปรับราชการที่จังหวัดนครปฐม นางปทุมและลูกทั้งสามต้องย้ายตามไปอยู่ด้วยกัน ช่วงที่บุษบงและน้องสองคนกำลังเติบโตเป็นช่วงที่ทุกคนต้องช่วยกันประหยัดอย่างที่สุด แต่นายบุญเกื้อก็พยายามจัดสรรค่าใช้จ่ายที่ตนมีรายได้อยู่คนเดียวมาดูแลครอบครัวอย่างไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินใคร เขามีบ้านหลวงอยู่ไม่ต้องเสียค่าเช่า ลูกๆ ได้เข้าโรงเรียนรัฐบาลที่เขาสามารถเบิกค่าเล่าเรียนได้ นานๆทีนายบุญเกื้อจะพาเมียและลูกออกไปกินอาหารนอกบ้าน ซึ่งวันพิเศษดังกล่าวนางปทุมได้แต่งตัวแต่งหน้าสวย ส่วนบุษบงกับปัทมาและวาทินได้สวมชุดเก่งซึ่งมีกันคนละชุดนอกเหนือจากชุดนักเรียน แล้วนายบุญเกื้อก็พาครอบครัวนั่งรถโดยสารไปกินที่ร้านอร่อยในตลาด เท่านี้พวกเด็กๆ ก็แสนดีใจ
สำหรับนางปทุมแล้ว นางรู้สึกผิดหวังไม่น้อยกับการที่ตนเลือกแต่งงานกับนายบุญเกื้อ เพราะภาพฝันของนางในวันที่ยืนคล้องแขนกับเจ้าบ่าวผู้สวมชุดขาวอันงามสง่าก็คือการมีชีวิตที่สนุกสนาน ได้แต่งตัวออกไปเที่ยวเตร่ ไปงานเต้นรำ ไปพักผ่อนหย่อนใจ ได้คบหาสมาคมกับคนที่มีเกียรติ ได้คุยสังสันทน์กันตามห้องรับแขกอย่างที่นางเคยเห็นในหนังไทยหลายเรื่องที่นางชอบดูเมื่อครั้งยังอยู่ที่ร้านค้า
แต่สิ่งที่นายบุญเกื้อมอบให้นางหลังจากวันวิวาห์คือหน้าที่แม่บ้าน นางต้องอยู่เหย้าเฝ้าเรือนไม่มีโอกาสไปเที่ยวไหนบ่อยครั้งและต้องใช้จ่ายเงินตามจำนวนที่สามีมอบให้ เมื่อมีลูกนางต้องแบ่งซอยรายจ่ายออกไปเป็นค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือ สมุด นางแทบไม่ได้ตัดชุดใหม่ใส่เลย นางปทุมเหน็ดเหนื่อยอยู่คนเดียวในบ้านขณะที่นายบุญเกื้อออกไปทำงานตั้งแต่เช้าและกลับเข้าบ้านห้าโมงตามเวลา ส่วนลูกๆ ก็ไปโรงเรียนกันหมด ทิ้งนางไว้กับจานชามกองโต เสื้อผ้าที่ต้องซักรีด ช่วงพักผ่อนของนางคือการนั่งกินขนมหวานหน้าจอโทรทัศน์และงีบหลับไปหลังจากนั้น
จนเมื่อบุษบงได้แต่งงานกับอภิชัย ชีวิตของนางก็เปลี่ยนไป
โดยเฉพาะหลังจากที่เพชรและพลอยเติบโตขึ้นและเข้าโรงเรียนแล้ว ในเวลาดังกล่าวบุษบงและนางมีความใกล้ชิดกันเพิ่มมากขึ้น เพราะบุษบงผู้มีชีวิตสมรสที่ไร้สุขมักขับรถมารับนางไปเป็นเพื่อนเดินห้าง ดูภาพยนตร์ ไปกินอาหารตามร้านมีชื่อเรื่องราคาและของอร่อยปาก บุษบงถือเอามารดาเป็นเพื่อนปรับทุกข์ เธอไม่มีเพื่อนใกล้ชิดพอจะแบ่งปันปัญหาคับข้องใจ คนรอบตัวเธอที่บ้านตึกห้าชั้นล้วนแล้วแต่เฉยชากับเธอโดยเฉพาะนางสนิทผู้เป็นแม่สามี
บุษบงมักขับรถมารับมารดาในเวลาสายหลังจากที่อภิชัยไปทำงานและลูกแฝดไปโรงเรียนแล้ว โดยเธอโทรศัพท์นัดนางปทุมให้แต่งตัวรอไว้ เมื่อห้างเปิดหญิงทั้งสองก็จับมือกันเดินเข้าไป นางปทุมชอบขึ้นบันไดเลื่อนที่ทำให้นางรู้สึกราวกับตนเองกำลังลอยละล่องขึ้นสู่ความฝันที่นางเคยมี นางจะยิ้มและนึกเปรียบเทียบตนเองในเวลาดังกล่าวกับนางปทุมเมื่อครั้งอดีตที่ไม่เคยได้ออกไปไหนไกลกว่าตลาดสด นายบุญเกื้อไม่เคยหยิบจับงานบ้านเท่าไรนัก เขามีหน้าที่มอบเงินเดือนของเขาให้นางใช้จัดการในบ้านที่มีสมาชิกห้าคน ซึ่งนางก็ใช้มันอย่างคุ้มค่าทั้งซื้ออาหาร เสื้อผ้า และของใช้ นางแทบไม่ได้ซื้อของสิ่งใดให้ตัวเองเป็นพิเศษ นางกินของเหลือจากที่ลูกกินไม่หมด เสื้อผ้าชิ้นไหนที่นำมาเย็บซ่อมปะชุนได้นางจะใช้เวลาว่างลงมือทำ โลกของนางอยู่แต่ในอาณาเขตบริเวณบ้านขณะที่ลูกทั้งสามออกไปเรียนหนังสือและสามีออกไปทำงาน
โลกของนางเปิดกว้างขึ้นหลังจากบุษบงแต่งงานและมีปัญหาชีวิต นางมีโอกาสติดสอยห้อยตามบุตรสาวไปตามสถานที่ต่างๆ ที่ทำให้นางเพลิดเพลินใจ บุษบงชอบพานางไปห้างใหญ่ที่อุดมด้วยข้าวของนับพันอย่าง นางปทุมชอบเข็นรถไปตามช่องสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตและกวาดตาเลือกหาสิ่งของที่นางเคยเห็นโฆษณาในโทรทัศน์ บุษบงควักเงินจ่ายซื้อเครื่องสำอางราคาแพงและเสื้อผ้าสวยงามให้นางได้สวมใส่ รวมทั้งซื้อรองเท้าส้นเตี้ยที่นางอยากได้มานาน นอกจากนั้นเธอยังหมั่นพานางไปนั่งกินอาหารกลางวันในร้านที่มีพนักงานเสิร์ฟแต่งเครื่องแบบเรียบกริบ พวกเขาคอยดูแลเอาใจใส่ทุกความต้องการของนาง
ในช่วงเวลาที่บุษบงทุกข์ทรมานกับชีวิตที่น่าผิดหวังของตน แต่นางปทุมกลับรู้สึกพอใจกับชีวิตของนางเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อนายบุญเกื้อเกษียณจากราชการในปี 2547 และกลับมาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ เขามองดูความเปลี่ยนแปลงของนางปทุมและการเพิ่มเข้ามาของสิ่งต่างๆ ในบ้าน บนโต๊ะเครื่องแป้งของนางปทุมเต็มไปด้วยขวดครีม ลิปสติก แป้งพัฟ และน้ำยาต่างๆ มีเสื้อผ้าสวยๆ มากมายในตู้ มีรองเท้าคู่ใหม่วางเรียงใต้บันได เขาเดาได้ว่าคงเป็นบุษบงที่ซื้อหามาให้ เพราะปัทมาลูกสาวคนที่สองนั้นเป็นคนประหยัด รู้จักใช้เงิน และเธอไม่มีรสนิยมในการเลือกหาสิ่งของราคาแพงมาสวมใส่
“พ่อไปกินข้าวข้างนอกด้วยกันนะคะ” บุษบงมักโผล่หน้ามาชวนเขาขณะจอดรถไว้หน้าบ้านเพื่อรอรับนางปทุมไปซื้อของ เขาส่ายหน้าและบอกให้เธอขับรถดีๆ
“พ่อแกเขาไม่ชอบเข้าห้างหรอก เขารอปัทชวนไปดูต้นไม้ที่สวนจตุจักร” นางปทุมกล่าวดักคอนายบุญเกื้อ แล้วสองแม่ลูกก็เดินคล้องแขนกันไปขึ้นรถคันหรูของบุษบง
นายบุญเกื้อถอนหายใจเมื่อนึกถึงว่าที่ผ่านมาเขาได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วในการเลี้ยงดูภรรยาและลูกสามคน เขาเคยนึกเปรียบเทียบฐานะของตนเองกับเพื่อนข้าราชการที่รับสินบน ประจบพ่อค้า หรือแม้กระทั่งฉ้อราษฎร์บังหลวง คนเหล่านั้นล้วนมีรถราคาแพงขับพาลูกไปส่งโรงเรียนทุกเช้า มีเงินซื้อเครื่องเพชรให้ภรรยา มีแม้กระทั่งบ้านและที่ดินราคาแพงซุกไว้ แต่เขาไม่มีสิ่งเหล่านั้นให้นางปทุม บุษบง ปัทมา และวาทิน เพราะเขาเป็นข้าราชการที่มีรายได้แค่พอเลี้ยงครอบครัว เขาบอกลูกทั้งสามว่า “พ่อไม่ร่ำรวยล้นฟ้าเหมือนคนอื่น สิ่งที่พ่อสามารถมอบให้ลูกได้คือการเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ลูก”
แต่เขารู้ตลอดมาว่านางปทุมมีความใฝ่ฝันถึงชีวิตหรูหราร่ำรวยล้นฟ้า เขาเป็นข้าราชการต่างจังหวัดผู้ไม่สามารถเติบโตอย่างพรวดพราดได้เพียงข้ามปี เขาใช้เวลาทั้งชีวิตในการก้าวขึ้นตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงานเล็กๆ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีอะไรให้ต้องทำมากนักเพราะผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นมักมานั่งหลับบ้างตื่นบ้างเพื่อรอวันเกษียณ
ดังนั้นการที่บุษบงลงมือทำในสิ่งที่เขาไม่เคยได้ทำให้นางปทุม เขานึกขอบใจลูก แต่อีกมุมหนึ่งของความรู้สึกเขานึกเวทนาเธอ เขารู้ว่าลูกสาวไม่มีความสุขกับการอยู่ร่วมกับครอบครัวของสามีที่ตึกห้าชั้น
มีครั้งหนึ่งนายบุญเกื้อเปรยกับบุษบงว่า “ลองฝึกหัดอาชีพอะไรทำสักอย่างไหมลูก เวลาว่างมีเยอะไม่ใช่หรือ เพชรพลอยก็โตเข้าโรงเรียนแล้ว กลางวันแทนที่จะไปเข้าห้างทุกวัน หนูลองหัดทำโน่นทำนี่ดู วันหน้าอาจจับเป็นอาชีพได้”
บุษบงส่ายหน้าอย่างเศร้าสร้อย เธอตอบบิดาว่า “หนูไม่ชอบงานที่หาเงินยากค่ะ และตอนนี้ลูกหนูต้องใช้เงินเยอะ หนูไปเริ่มต้นขายของที่ได้กำไรแค่บาทสองบาทก็คงไม่ไหว”
นายบุญเกื้อมองหน้าบุษบงและเห็นริ้วรอยความทุกข์ใจภายใต้เครื่องสำอางราคาแพงที่ฉาบทาไว้ เขากล่าวขอโทษเธออยู่ในใจที่เขาเลี้ยงเธอมาอย่างอัตคัดจนทำให้เธอโหยหาแต่ความสะดวกสบายและการมีสรรพวัตถุมาสนองความต้องการ ขณะเริ่มทำงานเธอทำตนใกล้ชิดกับอภิชัยจนเกินขอบเขตและตั้งครรภ์เพื่อที่จะได้แต่งงานกับเขา แล้วเธอก็มีเงินใช้จ่ายอย่างเต็มไม้เต็มมือจากเงินกองกลางของครอบครัวสามี มีที่อยู่อาศัยกว้างขวาง มีรถเก๋งยี่ห้อดีขับ มีข้าวของเครื่องใช้เต็มบ้าน เสื้อผ้าสวยงามเต็มตู้ แต่นายบุญเกื้อมองเห็นความทุกข์ทรมานของลูกสาวจากดวงตาของเธอ
ขณะที่มีอายุ 67 ปีนายบุญเกื้อถึงแก่กรรมไปในปี 2553 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เขาทิ้งเงินก้อนหนึ่งไว้ให้นางปทุมได้ใช้เลี้ยงชีวิตที่เหลือไปตามอัตภาพโดยที่นางจะไม่ต้องลำบากหากไม่มีใครเลี้ยงดู