ตอนที่ 3 / 2

1285 คำ
บริษัท มัน(ส์)ดี จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในอาคารรูปทรงโมเดิร์น ลอฟท์ สองชั้นครึ่ง เจ้าของบริษัทก็คือนักแสดงชายหญิงรุ่นใหญ่คู่หนึ่งที่ร่วมหุ้นกันเปิดบริษัทนี้ขึ้นมา เพื่อผลิตละคร รายการต่าง ๆ ป้อนให้กับทางช่องโทรทัศน์ บางครั้งก็รับทำสปอร์ตโฆษณาไปในตัว และภายในตัวอาคารยังมีสตูดิโอกว้างขวางเพื่อใช้ถ่ายทำรายการและละครดังอีกด้วย                    ปวริศาขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจ เข้าไปจอดยังลานจอดรถ แน่นอนเมื่อต้องผ่านพี่รปภ.เธอก็ต้องแลกบัตรก่อน จากนั้นจึงถอนหายใจอย่างโล่งอกเมื่อก้มดูนาฬิกาข้อมือที่บอกเวลาว่า เธอมาถึงก่อนเวลานัดหมายถึงสิบห้าที ตั้งสิบห้านาทีเชียวนะ! ที่แลกกับการไม่ต้องอาบน้ำเช้านี้ไป ทว่า ถอนหายใจอย่างโล่งอกไปไม่ทันไร สายตาดันเหลือบเห็นท้ายรถเก๋งราคาเหยียบล้านของเอมี่ที่จอดอยู่แล้วก็ต้องถอนหายใจอีกรอบ                                            คิดว่าตัวเองมาถึงก่อนเวลานัดมากแล้ว แต่ถือว่าก็ยังช้ากว่าอีกฝ่ายอยู่ดี เอมี่ หรือ อัมรินทร์ เป็นชายหนุ่มร่างอ้อนแอ้นตัวเล็กบาง มีความสูงอยู่ราว ๆ ร้อยหกสิบเซ็นติเมตร อีกทั้งผิวพรรณก็สดใส จึงทำให้เอมี่สามารถโกงอายุตัวเองลงได้เป็นสิบๆ ปี ทั้งที่ความจริงเจ้าตัวมีอายุสามสิบห้าปีแล้ว แต่รูปร่างและใบหน้ายังทำให้ดูเหมือนคนยี่สิบห้าปีอยู่เลย                                  ด้วยเพราะเอมี่เป็นคนที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ อาหารการกิน เน้นกินคลีนเป็นหลัก มีความแฟชั่นนิสต้าอยู่ในตัวสูง คือ ต้องแต่งตัวให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ ไม่อินเทรนด์มาก แต่ก็ไม่เอาต์เทรนด์จนเกินไป แต่งตัวไม่มากเหมือนพวกแบกตู้เสื้อผ้าและเครื่องประดับเคลื่อนที่ ใช้นิยามคำว่า เรียบ หรู ดูน้อย แต่ให้ดูแพงเข้าไว้                                                                                 เอมี่ลงรถมาเห็นปวริศาจึงเรียกไว้ "อ้าว ศา..."                     "สวัสดีค่ะ พี่มี่"                                                               เอมี่รับไว้ แล้วถามกลับ "เพิ่งมาถึงเหรอ..."                          "ค่ะพี่มี่ วันนี้ศาเอาเจ้า 'บับเบิ้ลบี' มา...." เธอทำท่าแว้นให้ดู เอมี่จึงเข้าใจว่า เธอใช้มอเตอร์ไซค์คันสีเหลืองอ๋อยเลยต้องตั้งชื่อให้มันว่าเจ้าบับเบิ้ลบี เพราะปกติปกติเธอก็มีรถเก๋งคันเก่าอีกคันไว้ใช้เวลาที่ต้องขับไปทำงานไกล ๆ แต่เมื่อคืนที่ต้องไปหาพ่อ เช้านี้จะขี่ไปเปลี่ยนเป็นรถเก๋งอีกคันก็เห็นว่าคงจะไม่ทัน ทำให้เธอต้องใช้บริการเจ้าบับเบิ้ลบียาวจนมาถึงเช้านี้                      "ว่าแต่มีอะไรให้ศาช่วยมั้ยพี่มี่"เธอถามอย่างกระตือรือร้น       เอมี่จึงยิ้มแล้วหันไปมองทางด้านหลังก่อนจะตอบ "งั้น...มาช่วยพี่ถือชาร์ต บอร์ดหน่อยก็แล้วกัน"                              ว่าแล้วจึงหันไปเปิดประตูรถ หยิบชาร์ต บอร์ดสองอันส่งมาให้เธอ      ปวริศารับชาร์ต บอร์ดนั้นไว้ในมือ จากนั้นทั้งสองก็เดินเข้าไปในตัวอาคารพร้อม ๆ กันทันที                                         พูดถึงการทำงานในวันนี้ มันต่อเนื่องมาจากครั้งที่แล้ว หลังจากได้คุยกับผู้จัดละครไปแล้วถึงลักษณะ สไตล์การแต่งตัวของตัวละครในเรื่อง เอมี่ที่นำไปทำเป็นชาร์ต บอร์ดเพื่อนำมาเสนอต่อผู้จัดละครและผู้กำกับแล้ว ทำให้การเตรียมงานในส่วนของเสื้อผ้าและเครื่องประดับของละครเรื่องล่าสุด จึงเป็นที่เรียบร้อยไปกว่าเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่คั่งค้างในวันนี้ ก็คือในส่วนที่พี่เอมี่ได้นำกลับไปแก้ไขอีกนิดหน่อย แล้วจึงนำมาให้ผู้จัดดูอีกครั้งก็เท่านั้นเอง                                                             'จินตนาการสำคัญกว่าการเรียนรู้' อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกเคยกล่าวเอาไว้ แต่เมื่อได้มาทำงานอยู่ฝ่ายเสื้อผ้าให้กับกองละคร ทำให้ปวริศาพบว่า จินตนาการและการเรียนรู้ทั้งสองสิ่งนี้ช่างสำคัญเทียบเท่ากัน อย่างเช่น การแต่งตัวให้กับตัวละคร จะต้องอาศัยการทั้งจินตนาการและการเรียนรู้ ในส่วนของจินตนาการเธอ และเอมี่ต้องนึกถึงบุคลิกของตัวละครนั้น ๆ ที่ทำให้ตัวละครมีนิสัยแตกต่างกัน เสื้อผ้าการแต่งกายจึงต้องแตกต่างกันออกไปด้วย      ปวริศาจึงต้องคอยอัปเดตเรื่องเทรนด์ของเสื้อผ้า และ เครื่องประดับ จากนิตยสารและสื่ออื่น ๆ อยู่เสมอ นั่นจึงถือว่าเป็นการเรียนรู้ในวงกว้าง ส่วนการเรียนรู้อีกอย่างก็คือ การเรียนรู้ในเชิงลึก เช่น การทำเสื้อผ้าให้เจาะจงกับละครแนวพีเรียดที่ต้องอ้างอิงถึงยุคสมัยนั้น ๆ เพื่อเป็นเกณฑ์การแต่งกายให้กับตัวละคร                                                                                     อย่างละครเรื่องหนึ่งแนวพีเรียดอิงประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัยที่เธอเคยทำ ด้วยความที่ทีมอยากได้ผ้าที่ตรงกับยุคสมัยนั้นมาให้นักแสดงใส่เข้าฉากให้ได้มากที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องยากแล้วที่จะหาผ้าในสมัยนั้นมา ทางทีมเสื้อผ้าจึงต้องอาศัยการหาองค์ความรู้ของลายผ้าที่คนในยุคนั้นใส่ อย่างผู้ดีนุ่งห่มอย่างไร ไพร่นุ่งห่มอย่างไร จนไปถึงวรรณะกษัตริย์ มีการตั้งทีมกันทำรีเสิร์ชข้อมูล แล้วหาผ้ามาประดิษฐ์ให้ได้ลวดลายที่ใกล้เคียงการลายผ้าเครื่องนุ่งห่มในยุคนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด แล้วละครเรื่องนั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องเสื้อผ้า    และเครื่องแต่งกายของนักแสดงด้วย เพราะปีนั้นเอมี่ได้รับรางวัลในสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมแห่งปีเลยทีเดียว                                          และอย่างที่บอก แม้ใจจะอยากแต่งตัวให้ตัวละครสวยสมใจคนทำเสื้อผ้า แต่ละครทุกเรื่องก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของสิ่งที่เรียกว่า 'งบประมาณ' อีกที จึงถือว่าเป็นเรื่องยากของคอสตูมที่ต้องแก้ปัญหาว่าทำอย่างไร ให้เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละครมีความสวยงามและเหมาะสม โดยให้อยู่ในวงเงินที่มีอย่างจำกัดให้ได้                                                                         แม้อยากจะแต่งตัวให้นักแสดงออกมาสวยงาม ให้หรูเลิศเลอไปเลย แต่ติดตรงงบประมาณนี้ล่ะ ที่ทำได้อย่างประหยัดที่สุดคือ การวิ่งเต้นยืมแล้วส่งคืนจากสปอนเซอร์ที่มีอยู่หลายรายที่มักจะขึ้นเครดิตให้ตอนท้ายเรื่อง แต่บางครั้งที่หายืมไม่ได้จริง ๆ และบางตัวก็ใช้ลากยาวไปหลาย ๆ เดือนจะยืมหรือเช่าไม่ได้ ทำให้ต้องมีการซื้อหรือนำผ้ามาตัดเอาไว้เอง ...ก็อาศัยพากันเดินซื้อหาเองตามแหล่งขายเสื้อผ้าชื่อดัง อย่างเช่น แถวพาหุรัด จตุจักรหรือประตูน้ำ แล้วเสื้อผ้าพวกนี้ก็ต้องอาศัยสายตาที่เฉียบคม ใช้หลักการมิกซ์แอนด์แมชให้เขากัน ถ้าเป็นคนมีพรสวรรค์ในการเลือกชุดเสื้อผ้าอย่างเอมี่ ที่หยิบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากตลาดนัดมาแต่งให้นักแสดง คนยังมองว่าเป็นของแบรนด์เนมได้ทั้งตัวเลย                                                                                    ปวริศาคิดต่ออีกว่า โชคดีที่ละครเรื่องล่าสุดนี้เป็นแนวรักโรแมนติก คอมเมดี้ มีดราม่าบ้างแต่ก็ไม่หนัก ตัวละครหลักเป็นวัยใส ๆ โดยเฉพาะนางเอก ที่ออกแนวอินโนเซนต์ บ้องแบ๊ว จึงไม่ต้องใช้เสื้อผ้าที่เว่อร์วังหายาก ส่วนเสื้อผ้าของพระเอกก็อยู่ในวัยทำงาน เป็นนักธุรกิจหนุ่มหล่อ มีมาดแบดบอยนิด ๆ เจ้าชู้กรุ้มกริ่มหน่อย ๆ การแต่งกายสไตล์นี้ก็แต่งให้ไม่ยากเช่นกัน
อ่านฟรีสำหรับผู้ใช้งานใหม่
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอป
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    ผู้เขียน
  • chap_listสารบัญ
  • likeเพิ่ม