ตอนที่ 1 : เริ่มต้นใหม่..บนเส้นทางสายเก่า
อินทุภากำลังปอกมันฝรั่ง หลังจากหั่นหอมหัวใหญ่กับมะเขือเทศเสร็จแล้ว เตรียมจะใส่ในหม้อที่กำลังเคี่ยวเนื้อวัวติดมันที่หั่นเป็นก้อนๆ ส่งกลิ่นหอมฉุยอบอวลไปทั่ว เธอตั้งใจเคี่ยวให้นานหน่อย เพื่อที่เนื้อจะได้เปื่อยนุ่มละลายในปาก สำหรับผู้สูงอายุก็สามารถทานได้ สตูเนื้อนี้เข้ากันได้ดีกับหมั่นโถวเนื้อนุ่ม ที่ญาติพี่น้องกำลังช่วยกันทำอยู่ที่ครัวภายในตัวบ้าน
เธอมาเมืองจีนเป็นครั้งแรกกับพ่อ เพื่อร่วมฉลองวันครบรอบอายุร้อยยี่สิบปีของคุณทวดซุนเหม่ยหลิง ซึ่งเป็นญาติสนิทกับคุณทวดเยว่ไท่อิงทวดของเธอเอง มีสังคญาติมาร่วมกันอวยพรเยอะแยะมากมายหลายสกุล
คุณทวดเยว่ไท่อิงเคยเล่าให้พ่อฟังว่า ต้นสกุลของตระกูลคือแซ่กุยและแซ่เหยา สองแซ่นี้ เป็นแซ่โบราณสืบทอดมาจากจักรพรรดิตี้ซุ่น ประสูติ ณ เหยาซวีจึงใช้แซ่เหยา ประทับ ณ แม่น้ำกุยสุ่ยจึงใช้แซ่กุย สกุลสาขาแตกออกเป็นหลายสกุล เช่น แซ่อวี๋ เฉิน หู เถียน หยวน หวาง ซุน ลู่ เชอ เยว่
แม่ของคุณทวดเยว่ไท่อิงเดิมแซ่ซุน แต่แต่งงานกับญาติห่างๆ แซ่เยว่ จึงเปลี่ยนมาใช้สกุลสามี พ่อของอินทุภาจึงแซ่เยว่ แต่ค่อนข้างจะใกล้ชิดสนิทกับญาติฝั่งสายแซ่ซุนมากกว่า
อินทุภาทำแต่งานไม่ได้ไปมาหาสู่กับญาติพี่น้อง เธอทำงานในบริษัทของแม่ ในตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายฯ มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานผลิตเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ และอัญมณี รวมทั้งการทำสื่อโฆษณาทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ในกิจการของแม่ทั้งหมด
เธอยังรับงานฟรีแลนซ์ ออกแบบเครื่องประดับสตรีให้อีกหลายๆ แบรนด์ อยู่เบื้องหลังแบรนด์ทั้งดังและไม่ดัง ซึ่งในเครื่องประดับแต่ละประเภท บางรุ่นยังฮิตติดตลาด ขึ้นเทรนด์สินค้าขายดีในสื่อโซเชียลหลายสัปดาห์ แต่มีชื่อเสียงจำกัดเฉพาะในวงการออกแบบเท่านั้น ไม่ได้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ซึ่งเธอก็พอใจแล้วกับความสำเร็จเล็กๆตรงนี้
เวลาคิดงานไม่ออก เธอมักจะออกไปเมคไอเดียที่ยิมมวย สนามขี่ม้า สนามยิงปืน สนามฝึกซ้อมธนู หรือไม่ก็ออกชนบทไปเลย แบกเป้ตั้งแคมป์ในป่า และมีไม่กี่คนที่รู้ว่าเธอเก่งเรื่องศิลปะป้องกันตัว และพึ่งจะได้ยูโดสายดำขั้นที่ห้าเมื่อไม่นานมานี้เอง เธอยังถนัดศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่าหย่งชุนอีกด้วย ซึ่งเข้าทางกันดีกับสรีระร่างกายที่เล็กบางอย่างเธอ เพราะสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ว่องไว
นิรชา เพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นประถม มักจะชอบค่อนขอดกิจกรรมความชอบส่วนตัวของเธอเสมอ
“หนังหน้าแกมันขัดกับไลฟ์สไตล์อย่างแรง!” นิรชาเท้าสะเอว ชี้หน้าบ่นอินทุภาแรง
“โตแล้วจะชอบอะไรก็ได้ย่ะ” เธอลอยหน้าโต้กลับบ้าง
“ถึงบอดี้จะดูบอบบางเป็นนางเอก แต่ถ้าหล่อนยังไม่แก้สันดานชอบใช้ความรุนแรง หล่อนก็จะนอนเหงาเหงือกแห้งอยู่บนคานเหมือนเดิม!”
อินทุภาบอกเพื่อนเสมอว่าโนสนโนแคร์ เพราะเธอถือคติ “จีบได้แต่อย่าจับ”
คนที่สนใจและคิดอยากสานสัมพันธ์กับเธอส่วนใหญ่ คิดเอาเองว่า เธออ่อนหวาน อ่อนโยน ตัวเล็กและบอบบาง เลยเสนอตัวเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องสตรี คงตัดสินจากรูปลักษณะที่เห็นภายนอก แต่พอรู้จักไปสักพักก็ขยาดและรีบถอยห่าง ส่วนใหญ่จะเป็นพวกมือปลาหมึก เจอท่าตัดหนวดก็หนีหายกันหมด
อินทุภาสูงร้อยหกสิบห้า มีรูปร่างโปร่งบาง ผิวพรรณนวลเนียนเปล่งปลั่งเหมือนแม่ซึ่งเป็นคนทางเหนือ ผสมกับผิวขาวจากพ่อซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-จีน และยังถ่ายทอดใบหน้าที่คมสันของพ่อ และนัยน์ตากลมโตแววหวานของแม่มาอย่างครบถ้วน ทำให้เธอมีความงามที่สะดุดตา พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ตกหลุมรักแม่ตั้งแต่แรกเห็น เพราะสะดุดที่นัยน์ตาสวยหวานคู่นี้เอง
อินทุภารู้สึกตัวเองว่าโชคดี ที่เกิดในครอบครัวที่มีความอบอุ่น และต่างคนต่างเคารพในไลฟ์สไตล์ของอีกฝ่ายเสมอ ตัวอย่างเช่น พ่อชอบไปเป็นแพทย์อาสาตามประเทศต่างๆ หรือแม่ที่มีหัวเรื่องการค้า มีความชอบในหลายๆ เรื่อง สามารถหยิบจับอะไรเป็นธุรกิจได้หมด ซึ่งความชอบบางอย่างของเธอ บางส่วนก็มีอิทธิพลมาจากมารดาด้วยเหมือนกัน
อรรพี แม่ของเธอเป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านเครื่องประดับอัญมณี ฟิตเนต มีแม้กระทั่งโรงเรียนสอนดนตรี และแน่นอนว่าหญิงสาวซึมซับความสนใจทางด้านนี้ไปโดยปริยาย
เธอไม่ได้สนใจเครื่องดนตรีสากลเหมือนมารดา แต่หลงใหลได้ปลื้มเครื่องดนตรีของจีน โดยเฉพาะ ผีผา ซอเอ้อหู และขลุ่ยผิว กิจกรรมยามว่างในครอบครัว เธอมักจะเล่นดนตรีต่างชนิดด้วยกันกับแม่บ่อยๆ โดยมีพ่อนั่งอ่านหนังสืออยู่ใกล้ๆ บางทีก็ร่วมวงรับหน้าที่เป็นมือกลอง (เคาะโต๊ะ) ไปด้วย
จิรพงศ์ หรือเยว่หัว พ่อของอินทุภา ทำงานเป็นแพทย์อายุรกรรมเฉพาะทางในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แม่ของพ่อเป็นคนจีน พบรักและแต่งงานกับหนุ่มไทย สร้างครอบและตั้งรกรากอยู่ที่ไทยกับสามี แต่ในทุกๆปีจะพาลูกชายกลับไปเยี่ยมคุณทวดทั้งสองท่านเสมอ
“อาอิง! อาอิง! เยว่อิง!”
อินทุภาสะดุ้ง เพราะกำลังคิดอะไรเพลินๆ ไม่ได้ยินเสียงเรียกของซุนจ่งซาน ซึ่งเป็นหลานของพ่อดังมาแต่ไกล
“อยู่นี่ พี่ซาน!”
“เรียบร้อยหรือยัง? จะตั้งโต๊ะกินข้าวกันแล้วนะ”
“เสร็จพอดี จะยกไปเดี๋ยวนี้แหละจ้ะ”
ซุนจ่งซานเดินเข้ามาในครัวแยกด้านนอกตัวบ้าน มือเท้าสะเอว กวาดตามองไปที่ถ้วยซุปที่วางเรียงรายอยู่ในถาดโดยรอบ
“ต้องเดินกี่รอบกันล่ะนี่!?!” เขาบ่น คิ้วขมวดมุ่นจนญาติผู้น้องต้องหัวเราะ
“เรายกไปคนละถาดก่อน แล้วให้น้องๆ ข้างในมาช่วยกันยกทีหลังก็ได้” หญิงสาวพูดพร้อมกับวางถ้วยซุปร้อนๆ ถ้วยสุดท้ายใส่ถาดเรียงจนครบตามจำนวนคน ซุนจ่งซานเข้ามายกถาด ยืนรอจนหญิงสาวยกอีกถาดขึ้น จึงออกเดินนำไปก่อน
เขารู้สึกเอ็นดูญาติผู้น้องตัวเล็กๆ เชื้อสายไทยคนนี้ยิ่งนัก อายุยี่สิบห้าแต่หน้าตาละม้ายคล้ายเด็กอายุสิบแปด ดูยังไงก็ยังเหมือนสาวน้อยมากกว่าอยู่ในวัยเบญจเพส และไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาเท่านั้นที่เขารู้สึกถูกชะตา เขายังชอบนิสัยร่าเริง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรอยยิ้มสว่างสดใสนั่นด้วย
“หลังกินข้าว พี่จะออกไปตรวจคนไข้ตามหมู่บ้านที่ตกค้างจากวันก่อน วันนี้จะไปด้วยกันกับพี่อีกไหม? หรือไม่ไหวแล้ว?” ซุนจ่งซานถาม ระหว่างเดินเข้าตัวบ้านไปด้วยกัน
“เมื่อวานได้ยินพี่บอกว่าจะไปที่ร้านในเมือง หนูยังคิดเลยว่าจะติดรถเข้าเมืองไปด้วย”
“อ๋อ ไปสิ นั่นต้องไปอยู่แล้ว เสร็จจากตรวจคนไข้ก็จะเลยเข้าไปในเมือง ต้องเอาสมุนไพรไปเพิ่มที่ร้าน”
“หนูเห็นในภาพถ่ายของพ่อที่เคยถ่ายไปให้ดู รู้สึกคุ้นตาอยู่ที่หนึ่ง เข้าเมืองหนนี้เลยอยากไปดูสถานที่จริงด้วยตัวเอง แต่พี่ซานอยู่ดูร้านก็ได้นะ หนูออกไปเดินดูรอบๆ คนเดียวได้”
“อืม ก็คงไม่หลงหรอกถนนทางเดียวไม่มีซอยสลับซับซ้อนอะไร แต่ยังไงก็ต้องระวังคนแปลกหน้าไว้ด้วยนะ เพราะเรามาต่างถิ่น คนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ”
“เยส เซ่อร์!” อินทุภารับคำ ทำท่าตบเท้าแบบทหาร ซุนจ่งซานหันมายิ้มให้อย่างเอ็นดู จนตาหยีเป็นเส้นเดียว
เมื่ออินทุภาเดินเข้ามาในตัวบ้าน ก็มองเห็นคุณทวดซึ่งเป็นคนสำคัญของงานเลี้ยง นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานที่หัวโต๊ะ กำลังมองมาที่เธอ คุณทวดมีรูปร่างผอมบาง ถึงแม้จะนั่งอยู่บนรถเข็นแต่ก็ยังดูน่าเกรงขามและยังแข็งแรง หน้าตาภายนอกเหมือนหญิงชราวัยแค่เก้าสิบปลายๆ ผมสีดอกเลาเกล้าเป็นมวยไว้ข้างหลัง เสียบไว้ด้วยปิ่นหยกสีขาวใส
อินทุภาสังเกตว่าตั้งแต่พบคุณทวดครั้งแรกจนถึงตอนนี้ ท่านมักจะมองที่เธอนิ่งอย่างพิจารณา และมองนานๆ ภายใต้กรอบแว่นตาสีทองทุกครั้ง แต่เธอก็รู้สึกว่าลักษณะสายตาแบบนี้ไม่ได้มีแววของความรังเกียจเดียดฉันท์เลยแม้แต่น้อย จึงไม่ได้อึดอัดแต่อย่างใด แต่กลับสัมผัสได้ถึงคำถามมากมายในดวงตา ที่กำลังรอการค้นหาคำตอบ
“อาอิงมานั่งใกล้ๆ ทวดนี่” คุณทวดกวักมือเรียก พร้อมแตะพนักเก้าอี้ข้างๆ ตัว
“ไม่ได้ออกไปไหนใช่ไหมวันนี้ กินข้าวเสร็จแล้ว อยู่คุยกับทวดหน่อยสิ”
“ไปในเมืองกับผมครับย่า” ซุนจ่งซานตอบแทน
“อ้อ” คุณทวดแตะหลังมืออินทุภา ที่วางประสานมืออยู่บนตัก
“งั้นแวะไปหาทวดก่อนนะ มีอะไรจะให้ดู”
“ได้ค่ะ” อินทุภารับคำ ยิ้มกว้างจนดูสว่างสดใสไปทั้งใบหน้า ทำให้คุณทวดชะงักนิดหนึ่ง
“เหมือนกันจริงๆ” คุณทวดรำพึงออกมาเบาๆ
“อะไรนะคะ คุณทวด?” อินทุภาถามอีกครั้งเพราะได้ยินไม่ถนัด คุณทวดได้สติ กะพริบตา ก่อนจะก้มหน้าน้อยๆ แล้วพูดตัดบท
“กินข้าวก่อน แล้วไปหาที่ห้อง”
………………………………….
อินทุภาเดินมาหยุดอยู่หน้าประตูห้องคุณทวด เห็นป้าลี่ก้มๆ เงยๆ หาอะไรสักอย่างในลังไม้ใบใหญ่ของคุณทวด ได้ยินเสียงนางดีใจเหมือนหาของสิ่งนั้นเจอเสียที
“อันนี้ใช่ไหมเจ้าคะ คุณท่าน! ลักษณะเหมือนที่คุณท่านบอกเป๊ะเลย” ป้าลี่เดินถือของในมือมาใกล้ๆ ให้คุณทวดเห็นชัดๆ
“อืมใช่ นี่แหละ เออนะ! หามาตั้งนาน หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ! เหมือนถูกใครจับซ่อน มาวันนี้กลับเจอง่ายๆ ซะอย่างนั้น ราวกับรู้ว่าเจ้าของเขามาแล้ว!” คุณทวดพูดพร้อมกับจ้องมองของในมือนิ่งนาน ก่อนจะเงยหน้ามองเห็นหญิงสาวที่ยืนอยู่หน้าประตู
“เอ้า มาแล้ว มานี่ มานั่งใกล้ๆ” คุณทวดเรียก เมื่อเห็นอินทุภายืนเก้ๆ กังๆ
“ดูซิ สวยไหม?”
อินทุภาแบมือรับแหวนที่คุณทวดส่งมาให้ ลักษณะตัวแหวนไม่หนา และไม่ใหญ่เกินไป ส่วนที่เป็นสีเหลืองผสมสีส้มแกมแดง หรือสีทองแดง มีความมันวาวเหมือนขี้ผึ้ง มองดูนุ่มนวลเหมือนปุยนุ่น
สีสันตรงส่วนนี้สอดผสานขึ้นเป็นลวดลายคล้ายกับการแกะสลักในเนื้อหยก ด้านนอกเป็นมันเรียบโค้งมน มีเส้นสีแดงเข้ม พาดซิกแซกตรงลวดลายไปมา ส่วนเป็นสีขาว มีความขาวใสบริสุทธิ์ราวกับหิมะ เนื้อละเอียดโปร่งใส ถือเป็นหยกคุณภาพดีมีมูลค่าสูง ไม่มีมลทินภายนอก ซึ่งมลทินภายนอกนั้นก็คือรอยตำหนิ รอยแตกร้าวต่างๆ มลทินภายในคือ แร่สีดำหรือน้ำตาลเข้มเป็นหย่อมๆ
เธอเพ่งพินิจใกล้ๆ และแน่ใจว่าเป็นชนิดเดียวกันกับ ไวท์ เจไดต์ ที่เป็นหยกหาได้ยากมีราคาสูง และได้รับความนิยมรองจากหยกสีเขียวจักรพรรดิ ถ้าไม่เป็นแหวนสำหรับนิ้วก้อยของผู้ชาย ก็คงเป็นขนาดนิ้วกลางของผู้หญิง
“สวยค่ะคุณทวด สีสันในเนื้อหยกสอดผสานกันเป็นลวดลายดูสวยแปลกตามากๆ หนูเคยเห็นหยกมามากมายหลายชนิด แต่ไม่เคยเห็นหยกที่มีสีและลวดลายแบบนี้มาก่อนเลย”
“ของเก่าสมัยราชวงศ์ฯ น่ะ นัยว่าเป็นหยกประจำตระกูลท่าน คนให้เขาให้ไว้เป็นของแทนใจ ทวดกะว่าถ้ายังหาแหวนไม่เจอ ก็จะให้ดูภาพวาดไปก่อน”
“หนูรับไว้ไม่ได้หรอกค่ะ! ของเก่ามีมูลค่าสูงแบบนี้!” เธอรีบส่งคืน แต่คุณทวดไม่รับ
“ดูนี่ก่อน” คุณทวดพูด พลางส่งม้วนภาพเขียนมาให้ อินทุภารับมาแล้วคลี่ม้วนภาพออกดู
“ผู้หญิงคนนี้ใครหรือคะ? งดงาม แล้วก็ดูน่ารักเหมือนตุ๊กตาจีน จิตรกรเขียนภาพเหมือนกับถ่ายด้วยกล้องสมัยปัจจุบัน ราวกับภาพมีชีวิตเลยค่ะ แต่เค้าหน้าดูคุ้นตาเหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน แต่นึกไม่ออก.." อินทุภายืดภาพไปจนสุดแขน
เอ๋...!?!
เธอมองหน้าคุณทวด เห็นท่านกำลังยิ้มน้อยๆ มองอยู่ก่อนแล้ว ก่อนจะเอ่ยปากถาม
“เหมือนใช่ไหม? เห็นใช่ไหมว่าเหมือนใคร?”
ยังไม่ทันที่เธอจะตอบอะไร ก็เห็นคุณทวดหันหน้าไปทางเสียงที่กำลังจะเดินเข้ามาในห้อง จึงมองตาม
“อาอิง! คงต้องเลื่อนนัดแล้วล่ะ พี่ต้องไปดูลุงหมิ่นแกป่วยตั้งแต่เมื่อวาน เมียแกพึ่งจะมาตามให้พี่ไปดูเช้านี้ บ้านแกอยู่ไกลคงเสียเวลาทั้งวัน”
“ไม่เป็นไรพี่ หนูกำลังอยากอยู่คุยกับคุณทวดพอดี” เธอกำลังอยากรู้ ในสิ่งที่คุณทวดกำลังจะบอก
“งั้นเป็นพรุ่งนี้ ออกเช้าหน่อย ตื่นไหวไหม?”
“โนพร็อบเบล็ม!”
“ตามนั้น เออ! เตรียมคิดเมนูเย็นนี้ไว้ได้เลย ขากลับคงจะมีเนื้อหมูติดมือมาฝาก” ซุนจ่งซานพูด แล้วยิ้มอย่างนึกขัน
“แถวนั้นมีตลาดด้วยหรือคะ?” อินทุภาอดแปลกใจไม่ได้ เพราะแต่ละบ้านมีพื้นที่อยู่ห่างกันมาก มองไม่เห็นว่าตรงไหนจะเป็นตลาด
“หมูลุงหมิ่นน่ะแหละ แกเลี้ยงไว้ขาย แกจ่ายค่ารักษาให้พี่เป็นเนื้อหมูแทน”
“เขาก็อยากให้เป็นเงินไม่ใช่หรือเล่า แต่แกตะหากที่ไม่เอา เขาก็ต้องตอบแทนเป็นอย่างอื่น นี่ถ้ามีเป็ด มีไก่ มีวัวก็คงยัดเยียดให้แบกมาด้วยน่ะแหละ” คุณทวดพูด พลางส่งสายตาค้อนหลานชายไปด้วย
“ก็ลุงเขาต้องส่งเงินให้ลูกชายไว้เรียนหนังสือ เหลือไว้ใช้ไม่เท่าไหร่ แล้วผมก็ไม่ได้เสียเงินซื้อสมุนไพรมาจากไหน ผมหาเอาจากในป่าทั้งนั้น” ซุนจ่งซานพูด มือลูบท้ายทอย พลางหัวเราะแก้เก้อไปด้วย
ซุนจ่งซาน เป็นแพทย์แผนจีนโบราณ อายุสามสิบปลายๆ ผิวขาว นัยน์ตาดำยาวรีคมสวย ขนตางอนยาว เครื่องหน้าโดยรวม ทำให้ใบหน้าดูหวานกว่าผู้ชายทั่วไป ผมดำดกหนาอยู่เหนือหน้าผากกว้าง บอกลักษณะเป็นคนฉลาดเฉลียว เขาเป็นคนสูงมาก อาจจะถึงร้อยแปดสิบห้า รูปล่างล่ำสันก็จริงแต่ดูเพรียว มีกล้ามเล็กน้อย แต่คล้ายกล้ามของนักเทนนิสมากกว่ากล้ามของนักยกน้ำหนัก
เขาเป็นแพทย์มีปริญญา เลือกที่จะศึกษาศาสตร์ด้านสมุนไพรจีน เขาเปิดคลินิกรักษาโรคด้วยสมุนไพรในตัวเมือง และไม่ค่อยจะร่ำรวยเหมือนแพทย์ปริญญาคนอื่นๆ
คนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในละแวกชุมชน และมีเงินน้อย บางครั้งก็รักษาฟรี แล้วก็ได้ค่ารักษาเป็นผัก เป็นเนื้อ ติดมือกลับมาอยู่บ่อยๆ แต่ซุนจ่งซานก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร
เขาบอกว่า ก็ไม่ต่างอะไรกับอาเยว่หัวพ่อของเธอ ที่ไปเป็นแพทย์อาสา ตัวเขาไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ที่เรียนหมอก็เพื่อตอบแทนบุญคุณท่านหมอคนหนึ่ง ที่เคยช่วยชีวิตเขาไว้ในวัยเด็ก จากที่ป่วยหนักจนเกือบจะหมดลมหายใจอยู่รอมร่อ กลับฟื้นคืนชีวิตราวกับปาฏิหาริย์ เขาเคยเป็นผู้ได้รับมาก่อน ชีวิตเหมือนได้เกิดใหม่ ก็สมควรแล้วที่จะเป็นผู้ให้บ้าง
“พี่ไปนะอิงอิน ผมไปแล้วครับย่า”
ซุนจ่งซานเดินไปกอดคุณทวดไว้หลวมๆ แล้วหันมายิ้มให้ญาติผู้น้องนิดหนึ่งก่อนจะเดินออกไป
อินทุภาอมยิ้มตามหลัง เขาชอบล้อเธอว่ามีเชื้อจีนอยู่เพียงเสี้ยวเดียว แต่ก็ยังอุตส่าห์มีชื่อจีนกับเขาด้วย จึงเรียกชื่อไทย-จีนของเธอผสมกันแบบนี้ รู้สึกว่าเขาจะสนุกของเขา
อินทุภามีชื่อจีนว่า “เยว่อิง” ซึ่งแปลว่า จันทร์กระจ่าง พ่อได้ไอเดียมาจากนางเอกเรื่องสามก๊ก และตรงกับคำแปลชื่อไทยที่แม่ตั้งให้อินทุภา แปลว่า แสงจันทร์
อินทุภากับคุณทวด คุยกันลืมเวลา จนป้าลี่เดินถือถ้วยชาเข้ามาแล้วอุทาน
“อั๊ยหยา! คุณท่าน! วันนี้เอาเรี่ยวแรงมาจากไหนเจ้าคะ ไม่เหนื่อย ไม่เพลียเลย” นางพูด พลางอมยิ้มขำๆ ไปด้วย
“ตายจริง หนูลืมเวลานอนกลางวันของคุณทวด” อินทุภาขอโทษคุณทวด รู้สึกแย่ ที่ไม่ได้ใส่ใจคุณทวดเท่าที่ควร ไม่สมกับที่พ่อไว้วางใจให้ดูแล กำชับแล้วกำชับอีก ก่อนออกเดินทางไปแอฟริกา
“ไม่เป็นไร ย่าไม่ได้เพลียอะไร มีความรู้สึกว่าต้องรีบพูดรีบบอกก่อนที่จะไม่มีเวลาให้พูดอีกแล้ว”
“หนูยังอยู่อีกหลายวันค่ะ กว่าพ่อจะกลับจากแพทย์อาสา”
“ทวดมีชีวิตอยู่เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับคุณทวดเยว่ฮวา เพื่อมอบของสองสิ่งนี้ให้ถึงมือของเจ้าของ เมื่อหมดพันธะ จิตวิญญาณก็คงจะเป็นอิสระเสียที”
คุณทวดพูด พลางถอนใจยาว จับมือข้างที่อินทุภากำแหวนไว้ในมือมาบีบเบาๆ แล้วมองเธอนิ่งนาน
“จำคำทวดไว้นะ.. เมื่อพระจันทร์ดวงเดียวเด่นเต็มดวง แสงแห่งจันทร์โชติช่วงอีกดวงจะกลับมา”