“แต่พั้นช์สงสารลูกต้น ดูสีหน้าไม่ดีเลย สงสัยป่านนี้ต้องกลุ้มใจอยู่แน่ๆ” แม้ว่าแผนจะสำเร็จ ติณณพัฒน์ยอมทำตามความต้องการของนาง แต่พอจณิสตาเห็นหน้าของลูกชายคนโต คนเป็นแม่ก็จิตใจห่อเหี่ยวไปด้วย
“พั้นช์ครับ เราไม่ได้ทำร้ายลูกนี่ ที่เราทุกคนทำไปทั้งหมดเพราะอยากให้ลูกต้นมีชีวิตที่สมบูรณ์ มีครอบครัวที่อบอุ่น ไม่ใช่ลอยไปลอยมา เปลี่ยนผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า เจ้าชู้ไปวันๆ อย่างที่เป็นอยู่” ติณณ์ให้เหตุผล จณิสตารู้สึกดีขึ้นเมื่อคิดตามคำพูดของสามี
“คุณติณณ์จะให้ลูกต้นแต่งงานกับหนูหยกจริงๆ เหรอคะ” มีเพียงจณิสตาเท่านั้นที่เรียกหยกแก้วว่าหนูหยก คนอื่นๆ จะเรียกว่าเง็กซึม ตามเกษมศักดิ์บิดาของหยกแก้ว
“ถ้าต้นหาไม่ได้จริงๆ คุณติณณ์ก็จะให้ต้นแต่งงานกับเง็กซึม” เขาตั้งใจไว้อย่างนั้น แต่เขาจะรอ รอจนกว่าจะถึงกำหนดเส้นตาย
“ลูกต้นบอกว่าจะกลับมาอยู่ที่นี่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ พั้นช์ไม่ต้องนอนป่วยพะงาบๆ บนเตียงไปตลอดเหรอคะ” จณิสตาพูดขึ้นเมื่อนึกถึงคำพูดของลูกชาย
“เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วงค่ะพี่พั้นช์ เดี๋ยวพั้พท์จะโทรไปบอกหลานต้นเองว่าไม่ต้องกลับมาอยู่ที่นี่ ให้หาเมียให้ได้ก่อนแล้วค่อยกลับมา จะได้พาว่าที่เมียในอนาคตมาด้วย เพราะถ้ากลับมามือเปล่าประเดี๋ยวอาการของพี่พั้นช์ก็จะกำเริบ” ลลิตาเป็นคนเสนอตัวสกัดไม่ให้ติณณพัฒน์กลับมาบ้าน ให้อยู่ที่คอนโดฯ จนกว่าจะหาภรรยาได้แค่นี้พี่สาวของเธอก็ไม่ต้องแสดงละครอีกต่อไป
“แหม คุณติณณ์ว่าไหมคะ นับวันพั้พท์ยิ่งมากแผนการขึ้นไปทุกวัน ทำให้หลานต้นยอมหาเมียแล้ว ก็คิดวิธีให้ต้อมหาเมียบ้างสิ รายนั้นนะยากพอๆ กับหลานต้นเลยนะ” ต้อมหรือตุลาการ คือลูกชายคนเล็กของตุลากับลลิตา ผู้มีนิสัยเหมือนติณณพัฒน์ไม่มีผิด แต่เหตุผลนั้นต่างกัน ตุลาการรอการกลับมาของกชกร หญิงสาวที่ตุลาการปักใจรัก ไม่มองผู้หญิงคนไหนเลย ผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตของตุลาการเป็นได้แค่ดอกไม้ริม ทางเท่านั้น
“พั้พท์กำลังหาวิธีอยู่ค่ะ แต่รับรองไม่รอดมือพั้พท์แน่”
ลลิตาเป็นห่วงลูกชายคนสุดท้องมากที่สุด ตุลาการเป็นคนรักแรงเกลียดแรง ลองได้ปักใจรักใครแล้ว จะไม่ถอนสลักรักเด็ดขาด เวลาผ่านไปแปดปีแล้ว แต่ตุลาการยังไม่ลืมรักแรกของตัวเอง และรอคอยรักนั้นกลับคืนมา ลลิตาจึงต้องวางแผนให้แนบเนียนและรัดกุม เพราะถ้าพลาดแล้วนางจะไม่มีโอกาสเป็นครั้งที่สอง
“เอ้า...นี่เงินค่าจ้างของเธอ ส่วนนี่เงินพิเศษ ฉันให้ เพราะเธอทำงานได้ผลดีเกินคาด”
คุณนายเจิดจรัสยื่นเงินสองพันบาทให้กับพิมพิชชา เป็นค่าตอบแทนที่นางได้ว่าจ้างหญิงสาวไปวีนใส่หน้าภรรยาน้อย ที่ขึ้นชื่อว่าปากกรรไกร จนนางเถียงแทบไม่ทัน แต่พอเจอฝีปากของพิมพิชชาเข้าไปก็ถึงกับหงายท้องเถียงไม่ออก ด่ากลับไม่ทัน สะใจคุณนายเจิดจรัสจนไม่เสียดายเงินค่าจ้างเลย
“ขอบคุณค่ะคุณนาย คราวหน้าจะให้ไปด่า ไปวีนเมียน้อยคนไหน บอกพิมนะคะ พิมจัดให้” พิมพิชชาพูดด้วยรอยยิ้ม รีบเก็บเงินใส่กระเป๋ากางเกงยีนส์ทันที ไม่ลืมที่จะเสนอตัวทำงานในครั้งต่อไป
“ฉันว่าคงไม่มีคราวหน้าแล้วล่ะ สามีฉันคงเข็ดไปอีกนาน แต่ถ้ามีรับรองฉันเรียกใช้บริการเธอแน่”
“ค่ะ คุณนาย พิมขอตัวกลับก่อนนะคะ”
พิมพิชชาเดินออกมาจากบ้านคุณนายเจิดจรัสด้วยรอยยิ้ม แนบฝ่ามือตรงกระเป๋ากางเกงที่เก็บเงินไว้ไปตลอดทาง ถ้าหากเธอมีงานอย่างนี้ทุกวัน เงินค่าเทอมของน้องสาวที่ค้างกับทางมหาวิทยาลัยไว้ ต้องหามาจ่ายทันกำหนดก่อนพิมวดีสอบแน่นอน
เดิมทีภาระค่าเล่าเรียนของน้องสาวเป็นความรับผิดชอบของบิดามารดาเธอ แต่ท่านทั้งสองจากสองพี่น้องไปเมื่อสี่ปีก่อน ภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับพิมพิชชาเพียงคนเดียว ตอนที่บุพการีเสียชีวิต เธอมีอายุเพียงสิบเก้าปีเท่านั้นและกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่สองในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ส่วนน้องสาวอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก พิมพิชชาต้องแบกรับภาระทั้งค่าผ่อนบ้านที่ยังคงเหลืออีกห้าปี ค่ากินอยู่ ค่าเล่าเรียน
เธอจึงเสียสละลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อออกมาหางานทำ หาเงินมาใช้จ่ายภายในบ้าน ส่งเสียน้องสาวให้ได้ร่ำเรียนหนังสือจนถึงทุกวันนี้ งานแรกที่หญิงสาวทำนั้นคือพนักงานในห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีรายได้ไม่มากนัก ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายภายในบ้านที่ต้องใช้เงินแต่ละเดือนร่วมสองหมื่นบาท เพราะแค่ค่าผ่อนบ้านก็ตกเดือนละหนึ่งหมื่นสามพันบาทเข้าไปแล้ว เธอจึงมองหางานพิเศษอย่างอื่นทำ ไม่ว่าจะรับจ้างเป็นพนักงาน ล้างจานในร้านข้าวต้มโต้รุ่ง ร้อยมาลัยขายในวันโกนและวันพระ รับจ้างซักรีดเสื้อผ้า ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้
จนกระทั่งเธอมาค้นพบตัวเองกับงานที่เธอทำในปัจจุบันคือการรับจ้างวีนทั่วราชอาณาจักร ไม่ว่าจะให้เธอไปด่าราวีใคร เมียน้อย บรรดากิ๊กทั้งหลาย ลูกหนี้ แม่ค้าปากตลาด ที่ใครด่าไม่ทันแต่เธอสวนกลับชนิดที่แม่ค้าอ้าปากค้างและแม้แต่รับจ้างประท้วง แต่ไม่ใช่ประท้วงทางด้านการเมือง เป็นการเข้าไปเสริมกำลังมากกว่า อย่างเช่นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งกำลังประท้วงเรื่องการขึ้นเงินเดือน พวกแกนนำจะต้องรวบรวมคนให้มากที่สุด พนักงานบางคนไม่กล้าที่จะลุกฮือขึ้นมาประท้วง ทำให้จำนวนคน ที่มาประท้วงไม่มากพอ การว่าจ้างจึงเกิดขึ้น งานนี้รับเหนาะๆ ห้าร้อยบาท พิมพิชชาจึงยึดอาชีพนี้เป็นงานเสริม ส่วนงานหลักก็ไม่ทิ้งแม้ว่าเดือนเดือนหนึ่งรายได้จะน้อยกว่างานเสริมก็ตาม
“ว่าไงยายโน้ต อย่าบอกนะว่าที่แกโทรมาหาฉันเนี่ย จะบอกว่ามาตามนัดไม่ได้”
พิมพิชชากรอกเสียงใส่โทรศัพท์มือถือ หลังจากมันดังหลายครั้ง ระหว่างที่เธอกำลังนั่งรถประจำทางไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
“ขอโทษทีนะ พอดีคุณต้อมไม่ค่อยสบายน่ะ ฉันเลยต้องดูแลเขา แกไม่โกรธฉันนะ” เบญจวรรณให้เหตุผลที่ไม่สามารถมาตามนัดได้ พิมพิชชากลอกตาขึ้นสูงคล้ายกับเบื่อหน่ายที่ได้ยินชื่อนี้
“งั้นก็ไม่เป็นไร ฉันไปเอาของคนเดียวก็ได้”
“เย็นนี้ฉันไปหาแกที่บ้านก็แล้วกันนะ”
“อืม เอาอย่างนั้นก็ได้ แค่นี้นะ ฉันจะลงรถเมล์แล้ว”
พิมพิชชาตัดสายทิ้ง ก่อนจะเดินไปที่ประตูรถเมล์เพื่อเตรียมตัวลงในป้ายถัดไป หญิงสาวก้าวเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าแล้วเดินตรงไปยังร้านรับสกรีนภาพถ่ายลงบนเสื้อ หรือสิ่งของต่างๆ ตามแต่ลูกค้าจะสั่ง