อาถรรพ์ช้างเผือก
พระเจ้าช้างเผือกหรือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ซึ่งเป็นพระสวามีของสมเด็จพระสุริโยทัย
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีบุญบารมีสูงส่งยิ่งนัก ยากที่จะหากษัตริย์พระองค์ใดที่ผ่านมาเทียบเทียมได้ !
เพราะในสมัยนั้นมีการจับช้างป่า/ช้างเผือกได้จำนวนมากมายสามารถนำมาฝึกเตรียมทำสงครามได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลอาณาจักรใกล้เคียงใดๆ
แต่ไม่น่าเชื่อ
ความมีโชคเรื่องช้างของพระองค์จะนำไปสู่การสูญเสียพระมเหสีบน ‘หลังช้าง’ และต้องเสีย ‘ส่วยช้าง’ ให้กับพม่าจนทำให้กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ยุควิกฤต อ่อนแอ หมดศักยภาพการรบในเวลาต่อมา
เหตุการณ์เกี่ยวกับช้าง ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ต่อไปนี้คือเส้นทางที่นำไปสู่สงคราม !
๑.เสด็จไปคล้องช้าง ตำบลบางละมุง ได้ช้างพลายพัง ๖๐ เชือก
๒.ได้ช้างเผือกพรายจากตำบลกาญจนบุรีสูงสี่ศอกเศษ ให้ชื่อว่า “พระคเชนทโรดม”
๓. เสด็จไปคล้องช้างตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายพัง ๖๐ เชือก
๔. เสด็จไปคล้องช้างตำบลแสนตอ กาญจนบุรี ได้ช้างพลายพัง ๔๐ เชือก
๕. เสด็จไปคล้องช้างตำบลวัดกะได ได้ช้างพลาย ๕๐ เชือก
๖.เสด็จไปคล้องช้างตำบลไทรย้อย ได้ช้างพลาย ๗๐ เชือก
๗.เสด็จไปคล้องช้างตำบลไทรย้อย ได้ช้างเผือกพลายสูงสี่ศอกสิบนิ้ว ให้ชื่อว่า “พระรัตนากาศ”
๘.เสด็จไปคล้องช้างป่าเพชรบุรี ได้ช้างเผือกพลายสูงสี่ศอกเศษ ให้ชื่อว่า “พระแก้วทรงบาศ”
๙.เสด็จป่าตำบลมหาโพธิ์ ได้ช้างเผือกทั้งแม่และลูก
๑๐.เสด็จไปทะเลชุบศร ลพบุรี ได้ช้างเผือก ให้ชื่อว่า “พระบรมไกสร”
๑๑. เสด็จไปตำบลป่าน้ำทรง ได้ช้างเผือกพลายสูงสี่ศอกคืบ ให้ชื่อว่า “พระสุริยกุญชร”
จากกิตติศัพท์ในเรื่องช้างทำให้เลื่องลือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือพม่า ซึ่งหวาดระแวงอยู่แล้วจึงมีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที
กองทัพพม่าเคลื่อนพลประชิดชายแดนไทย พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ทรงเป็นจอมทัพ และมีนายทัพที่สำคัญคือ บุเรงนอง พระเจ้าแปร พระยาพสิมเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ผ่านกาญจนบุรี ปากแพรก พังตรุ บ้านทวนโดยไม่มีการต่อสู้ใด ๆ
เข้าเขตสุพรรณบุรี ผ่านเส้นทางเมืองจรเข้สามพัน เมืองโบราณอู่ทอง บ้านโค่ง ดอนระฆัง หนองสาหร่าย แล้วเข้าตีสุพรรณบุรี
ปรากฎว่ากองทัพไทยต้านไม่ไหว พม่าตีได้สุพรรณบุรีแล้วก็ยกเข้าทางลำน้ำสามโก้ ป่าโมก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแถวบางโผงเผง เข้าประชิดพระนครทางทุ่งลุมพลี ล้อมกรุงอยู่เป็นเวลานาน
ส่วนความเคลื่อนไหวกองกำลังไทย
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ สมเด็จพระสุริโยทัย และพระโอรสทั้งสองคือ พระราเมศวรกับพระมหินทร์ เสด็จออกไปพร้อมกันแล้วเปิดศึกรบที่ทุ่งลุมพลี
สมเด็จพระสุริโยทัยถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์ซบอยู่บนคอช้าง
สงครามครั้งนี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์สูญเสียพระมเหสี
เมื่อระงับความโศกเศร้าได้แล้ว ทางกรุงศรีอยุธยาก็เตรียมการป้องกันศึกพม่าเป็นการใหญ่ ถึงกับจับช้างเป็นอันมากเพื่อใช้ในการทัพ ทรงมีช้างไว้ในครอบครองจำนวนมาก โดยเฉพาะช้างเผือกพระองค์มีถึง ๗ เชือก
ตามความเชื่อในสมัยนั้นก็คือเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก ได้รับการยอมรับจากประชาชน และสามารถจะแผ่อิทธิพลไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างง่ายดายและอาจมีความชอบธรรมในการรุกรานใครก็ได้ที่ไม่ต้องการให้เข้มแข็งขึ้นมาเป็นคู่แข่งพระบารมี
พระเจ้าหงสาวดีกษัตริย์พม่าดำเนินกุศโลบายเพื่อลดทอนกำลังของกรุงศรีอยุธยา
พระองค์รับสั่งให้พวกอาลักษณ์จารึกพระราชสาส์นในพระสุพรรณบัตร ๓ ข้อสั้น ๆ เป็นปริศนา ดังนี้
๑.ต้องการช้างเผือก ๒ เชือก !
๒.เชือก!
๓.ถ้าไม่ให้จะเอาเชือกไปล่า !
ครั้นจารึกแล้ว จึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปถวายพระมหาจักรพรรดิ์
เมื่อพระมหาจักรพรรดิทราบก็ทรงพิโรธ จึงสั่งให้พวกอาลักษณ์จารึกพระราชสาส์นโต้ตอบเป็นตัวอักษร ๓ ข้อเช่นกัน คือ
๑.ถ้าเป็นการขอทานก็จะให้
๒.ไม่หวั่น
๓.เราก็มีความสามารถในการล่า
แล้วเหตุการณ์ต่อมา !
พระเจ้าหงษาวดีกรีฑาทัพมีจำนวนพล ๕๐๐,๐๐๐ นายมารับคำท้า โดยจัดเป็น ๕ ทัพคือ
๑.ทัพหลวง พระเจ้าบุเรงนองหงสาวดี เป็นจอมทัพ
๒.ทัพพระมหาอุปราช เป็นแม่ทัพ
๓.ทัพพระเจ้าอังวะ ราชบุตรเขย
๔.ทัพพระเจ้าแปร ราชอนุชา
๕.ทัพพระเจ้าตองอู ราชอนุชา
พระยาพสิม น้องยาเธอ เป็นกองทัพหน้า เดินทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เข้าประชิดกรุงได้อย่างง่ายดาย
กองกำลังไทยที่แตกพ่ายมาจากหัวเมืองต่าง ๆ ต้องถอยเข้าพระนคร
แต่พม่าแก้เกมทันท่วงที
ปิดล้อมพระนครทั้งสามด้าน คือ ด้านตะวันออก พระเจ้าแปร ตั้งที่วัดโพธาราม ด้านเหนือ พระมหาอุปราชตั้งที่ทุ่งพะเนียด พระยาพสิมตั้งที่ทุ่งลุมพลี ตะวันตก พระเจ้าตองอูตั้งที่ทุ่งประเชด
ส่วนพระเจ้าอังวะตั้งที่วัดพุทไธสวรรค์ ต่างระดมยิงปืนใหญ่เข้ามาในพระนครไม่เว้นแต่วัน
เมื่อเห็นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเด็ดขาดแล้ว
พม่ามีพระราชสาส์นเข้ามาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ว่าจะรบต่อไปหรือไม่
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ยอมเสด็จออกมาเป็นไมตรี
ยินยอมมอบช้างเผือก ๔ เชือกแก่พระเจ้าหงสาวดี และต้องส่งส่วยช้างปีละ ๓๐ เชือก
เงินปีละ ๓๐๐ ชั่ง ทั้งยอมยกภาษีอากรที่เก็บได้ในเมืองมะริดแก่พม่าโดยไม่มีเงื่อนไข!
******