ความลับของตำนาน

1140 Words
ความลับของตำนาน เรามักได้ยินคำว่า"ตำนาน"อยู่บ่อยครั้งในวงสนทนาหรือในการอ่าน ทั้งๆที่ตำนานมีความหมายไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าใดนักในสายตานักการศึกษา นักวิชาการ แม้ว่าวิทยาการสมัยใหม่มีความก้าวหน้าไปมาก แต่เรื่องราวในตำนานก็ยิ่งเป็นที่สนใจมากขึ้นตามไปด้วย แสดงว่าตำนานต้องมี"ของ"หรือความลับอะไรสักอย่างที่ถูกปกปิดไว้ เราไปค้นหาคำตอบนั้นกันดีกว่า ความหมายของตำนาน ก่อนอื่นเราต้องรู้นิยามความหมายกันก่อน คำว่า “ตำนาน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เรื่องแสดงกิจการอันมีมาแล้วแต่ปางหลัง เรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบ ๆ มา เช่น ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” กล่าวได้ว่า ตำนาน คือ นิยายหรือเรื่องเล่าที่เล่าสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน จนหาต้นตอไม่ได้ และมีเนื้อหาเพื่ออธิบายที่มาของสิ่งต่าง ๆ หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่คนในสมัยนั้นยังไม่สามารถเข้าใจได้ ลักษณะการเล่าเรื่องเพื่อตอบคำถามที่คนไม่สามารถเข้าใจได้นี้เป็นลักษณะร่วมของมนุษย์ทุกชนชาติ เพราะมนุษย์มีปัญญา ย่อมต้องการรู้และต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงเป็นส่วนที่ทำให้ตำนานเกิดขึ้นมา ประเภทของตำนาน ตำนานประจำท้องถิ่น (Legend) เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับคตินิยม อย่างใดอย่างหนึ่งของคนในท้องถิ่น โดยมีเค้าของความจริงอยู่บ้าง เช่น ตัวบุคคล สถานที่ แม้ว่าในการดำเนินเรื่องจะใช้การเล่าที่แทรกเรื่องเหนือธรรมชาติลงไปบ้างก็ตาม ตำนานเหล่านี้ได้แก่ 1.ตำนานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์พบเห็นคุ้นเคย แต่มนุษย์ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเกิดจากอะไร จึงมีผู้รู้แต่งเป็นเรื่องเล่าอธิบายที่มาของปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้ออกมาเป็นรูปธรรม 2. ตำนานเกี่ยวกับสถานที่ ด้วยมนุษย์มีสมองจึงพยายามแสวงหาเหตุผลและมโนภาพเพื่ออธิบายที่มาของสิ่งต่าง ๆ จึงเกิดเป็นเรื่องเล่าตำนานเกี่ยวกับสถานที่และภูมิประเทศรอบ ๆ ตัว เรื่องเล่าเหล่านี้ได้เล่าสืบทอดกันมาหลายชั่วคน จึงมีการเสริมเรื่องอื่น ๆ ตามลักษณะความเชื่อและความนิยมของคนในท้องถิ่นเข้าไปจนคนปัจจุบันอาจถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หากทว่าตำนานเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยให้เรเข้าใจความคิดและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราได้เป็นอย่างดี 3.ตำนานเกี่ยวกับบุคคล มักเป็นเรื่องที่กล่าวถึงคุณธรรม ความฉลาด ความสามารถ ความกล้าหาญของบุคคล ซึ่งจะมีตัวตนจริง มีสถานที่ และกำหนดระยะเวลาของเหตุการ์ที่แน่นอน แม้บางครั้งจะมีเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่บ้าง ก็เกิดจากการเล่าตกแต่งเสริมขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ฟังยังเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวมีเค้าความจริงอยู่ ตำนานประเภทเทพนิยาย (Myth) “คำว่า เทพนิยาย ซึ่งแปลมาจากคำว่า Myth นี้ จะหมายถึงนิทานที่เทวดา นางฟ้าเป็นตัวบุคคลในเรื่องนิทานนั้น เช่น เรื่องพระอินทร์ หรือที่เป็นแต่เพียงกึ่งเทวดา อย่างเช่น เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ เจ้าแม่ต่าง ๆ เทพนิยายเหล่านี้มักมีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์ปฏิบัติในทางศาสนา” ตัวบุคคลในเรื่องอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวเอกในตำนานที่เกี่ยวกับวีรบุรุษ แต่เทพนิยายจะต้องเกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นศาสนาดั้งเดิมของมนุษย์ก็ได้ ตำนานประเภทนี้ได้แก่ เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพระอินทร์ ท้าวมหาสงกรานต์ เมขลา – รามสูร เป็นต้น วิธีการเล่าตำนาน การเล่าตำนานจะเรียบเรียงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้อ่านฟังเข้าใจเรื่องได้ง่าย และจะบรรยายอย่างละเอียดถึงความคิดของตัวละคร ภาษาที่ใช้จะใช้ถ้อยคำง่าย ๆ ในท้องถิ่น ถ้ามีคำศัพท์ก็เป็นคำศัพท์ที่ชาวบ้านเข้าใจได้ เช่น ถวาย กริ้ว อธิษฐาน ฯลฯ และเนื้อความจะแทรกเรื่องอภินิหารเพื่อแสดงบุญญาธิการของตัวละคร การเล่าจะเน้นการอธิบายที่มาของสิ่งต่าง ๆ หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่คนในสมัยก่อนยังไม่สามารถเข้าใจได้ ตำนานแต่ก่อนสืบทอดกันด้วยปาก ปัจจุบันมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและบันทึกเสียงลงในไฟล์ต่างๆ ตำนานกับการดำรงชีวิต ตำนานเป็นการอธิบายสภาพการดำรงชีวิตของกลุ่มชนในท้องถิ่น ว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมและล่าสัตว์ จึงมีตำนานหลายเรื่องที่มีเรื่องเกี่ยวกับการล่าช้าง การยิงกระกรอกมาเป็นอาหาร การปลูกพืชพื้นบ้าน เช่น น้ำเต้า เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพและการผลิตอาหารก็เป็นเครื่องมือทำจากธรรมชาติ เช่น ครก สาก ฯลฯ เป็นลักษณะสังคมแบบพึ่งพิงตนเองกับธรรมชาติมากกว่าเครื่องจักรกล ตำนานภาพสะท้อนอดีต ตำนานหลายเรื่องสะท้อนบทบาทของผู้หญิงเป็นผู้ตาม ผู้ชายเป็นผู้นำ ผู้หญิงมีหน้าที่หุงหาอาหาร ดูแลที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องนุ่งห่มของสมาชิกในครอบครัว ในตำนานจึงมักจะมีตัวเอกเป็นผู้ชาย ยกเว้นเรื่องจามเทวีวงศ์ที่ได้ขึ้นครองนครหริภุญชัย ที่สุเทวฤาษีสร้างขึ้นตามพุทธทำนาย ซึ่งตำนานเรื่องนี้ แม้จะมีตัวเอกเป็นผู้หญิง แต่บทบาทก็ต่างจากตำนานที่มีตัวเอกเป็นผู้ชาย เพราะนางจามเทวีไม่ได้แสดงความกลาหาญหรือความสามารถในการรบแต่จะแสดงความสามารถในการใช้เล่ห์เหลี่ยมและมารยาหญิง ตำนานสะท้อนอะไรบ้าง 1.ตำนานสะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ว่า กว่าจะรวมกันเป็นประเทศชาติในปัจจุบันต้องรบพุ่งเสียเลือดเนื้อมามากมาย 2.ตำนานสะท้อนความเชื่อ ตำนานสะท้อนความเชื่อเรื่องกรรม และการตั้งสัตย์อธิษฐาน ในตำนานส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นว่า ทำดีย่อมได้ผลดี ทำชั่วย่อมได้ผลชั่ว และหากตั้งสัตย์อธิษฐานใดก็จะได้สมความปรารถนา 3.ตำนานคือคำอธิบาย ตำนานเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเชื่อ เช่น น้ำท่วมโลก แผ่นดินถล่ม ประโยชน์ของตำนาน 1.ตำนานให้ข้อคิดแก่คนในเรื่องการทำความดี 2.ตำนานสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน เพราะเมื่อทราบเรื่องราวความเป็นมาของท้องถิ่นที่กว่าจะเป็นชนชาติเช่นทุกวันนี้ บรรพบุรุษของเราต้องต่อสู้กับความยากลำบากต่าง ๆ อย่างมากมายทำให้ผู้ศึกษาเกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น และมีกำลังใจที่จะต่อสู้พัฒนาสังคมของตนต่อไป ตำนานเป็นเรื่องราวที่เล่าสืบทอดกันมานานอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป แต่ตำนานก็มีมูลความจริงหลายอย่างให้เราค้นหาความหมายในการดำรงชีวิตและสร้างความภูมิใจของคนในท้องถิ่น อีกทั้งมีหลายตำนานไม่น้อยที่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งของผู้คน นำไปสู่การสู้รบและจบลงด้วยความตายอันแสนเศร้า
Free reading for new users
Scan code to download app
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    Writer
  • chap_listContents
  • likeADD