หญิงสาวใช้เวลาเพียงไม่นานเธอก็ส่งถุงกระดาษใบเล็กให้ชายหนุ่มสามถุง ทั้งสามถุงมีขนาดและสีแตกต่างกัน
“ถุงกระดาษสีเหลืองครีมสำหรับเป็นของฝากผู้ใหญ่ เป็นขนมโบราณ แต่สูตรทางร้านจะทำไม่หวานมากเพื่อสุขภาพ สีชมพูสำหรับสาวออฟฟิศ แป้งน้อยและไม่หวานมาก และนั่นเป็นของว่างเสียส่วนใหญ่ ถุงสีฟ้าเป็นของคุณ ฉันแถมขนมลืมกลืนเอาไว้ให้คุณลองชิมด้วยนะคะ รับประทานเพลินๆ หมดกล่องแป๊บเดียว” หญิงสาวส่งถุงให้เขาพร้อมอธิบาย ท้ายประโยคเธอบอกอย่างติดตลก แต่ทั้งหมดบอกได้ถึงความใส่ใจของร้านอีกอย่าง ทำให้ลูกค้าประทับใจตั้งแต่แรกที่เดินเข้ามาซื้อขนม
“อธิบายละเอียดขนาดนี้ เผลอกินผิดถุงจะเป็นอะไรไหม” ชายหนุ่มแกล้งเย้า
“เหมือนคุณกำลังว่าฉันพูดมากไปใช่ไหมคะ”
“ยังไม่ได้ว่าสักหน่อย คิดเอง เข้าใจเองเสียเสร็จสรรพเลย” ชายหนุ่มว่าพลางล้วงหยิบกระเป๋าสตางค์ในกางเกงออกมา
“ทั้งหมดนี่เท่าไหร่ครับ”
“หนึ่งพันเจ็ดร้อยแปดสิบบาทค่ะ” หญิงสาวตอบรับเสียงใส
ชายหนุ่มหยิบธนบัตรใบละพันสองใบยื่นให้เธอ “ไม่ต้องทอนนะ”
“รอรับเงินทอนดีกว่าค่ะ” หญิงสาวรีบบอก
ป้องเขตสบตาหญิงสาวอีกครั้ง “ทางร้านไม่มีนโยบายรับเงินพิเศษจากลูกค้าค่ะ ถ้าหากคุณยืนยันว่าจะให้ทั้งหมดโดยไม่รับเงินทอน ฉันขอเพิ่มขนมให้คุณเท่าจำนวนเงินที่คุณให้มานะคะ”
ชายหนุ่มยอมพยักหน้าอย่างจำนน จนในที่สุดเขาก็ต้องหอบขนมกลับมาที่บ้านก่อน เพราะหลังจากที่เอากระเช้าไปให้ผู้ใหญ่ เขาต้องไปงานเลี้ยงอีกงานต่อ คงไม่เหมาะที่จะทิ้งขนมไว้ในรถเป็นเวลาหลายชั่วโมง อีกส่วนคงจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างเอาไปให้พนักงานที่ออฟฟิศแทนการขับรถเข้าไปเอง นั่นเป็นแผนการที่ประหยัดเวลาที่สุด เพราะจากตอนแรกเขาตั้งใจว่าจะไปรับขนมและแวะเข้าออฟฟิศก่อนสักครู่ให้ใกล้เวลางานเลี้ยง
นางวรากุลมองลูกชายอย่างมีความหวัง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นความต้องการของนางทั้งสิ้น นางต้องการให้พวกเขาทั้งคู่เจอกัน เพื่อที่นางจะได้ตัดสินใจบางอย่างให้เด็ดขาดมากขึ้น แต่เมื่อเห็นป้องเขตยืนคุยกับศกุนตลาในร้านขนมไทยด้วยท่าทีสบายๆ บนใบหน้าเจือด้วยรอยยิ้มเป็นระยะ ความหวังริบหรี่ของนางก็เริ่มเห็นแสงสว่างบนปลายทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นนางก็กลับมาที่บ้านก่อน และทันได้เห็นภาพลูกชายถือกล่องขนมเดินยิ้มเข้ามาในบ้าน
นางวรากุลออกจากบ้านอีกครั้งในตอนเย็น เป็นเวลาที่ร้านขนมไทยศกุนตลากำลังจะปิด และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับพูดคุย
เดิมทีนางได้เกริ่นนำกับมารดาของศกุนตลาเรื่องที่อยากได้หญิงสาวเป็นลูกสะใภ้อยู่บ่อยครั้ง นางทิพย์สกุลเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง หากแต่นางไม่อยากก้าวก่ายเรื่องคู่ครองของลูกสาว นางอยากให้ศกุนตลาได้เลือกคู่ครองของเธอเองโดยจะไม่บังคับ เพราะมันเป็นชีวิตและความสุขของเธอ
นางวรากุลพยายามโน้มน้าวและหาข้ออ้าง หากแต่นางก็ได้รับคำปฏิเสธเรื่อยมาจากปากของหญิงสาว จนกระทั่งเมื่อหลายวันก่อนนางได้บอกเหตุผลจำเป็นที่สุดและเอ่ยปากขอร้องเธอ นางเพียงขอให้เธอเป็นแม่อุ้มบุญโดยไม่มีพันธะผูกมัด
“สวัสดีค่ะคุณป้า” ศกุนตลายกมือไหว้พร้อมกล่าวทักทายผู้สูงวัยก่อน หลังจากที่เธอเห็นนางเดินเข้ามาในร้าน ปกตินางวรากุลจะแวะมาที่ร้านเกือบทุกวันอยู่แล้ว อาจจะเพราะด้วยวัยที่ใกล้เคียงกับนางทิพย์สกุล และคุยกันถูกคอ รวมไปถึงเอ็นดูศกุนตลามาตั้งแต่เธอเป็นสาวแรกรุ่น
นางวรากุลยิ้มทักทายและเอ่ยถามไปด้วย “ทำอะไรอยู่จ๊ะ หอมเชียว”
“ตลากำลังเจียวหอมเก็บไว้ทำหม้อแกงเผือกพรุ่งนี้ค่ะ”
“พรุ่งนี้มีหม้อแกงเผือกด้วยเหรอ ป้าสั่งไว้เลยห้ากล่อง คนที่บ้านชอบกินมาก” นางวรากุลบอกกับหญิงสาวและเดินตรงไปหานางทิพย์สกุลที่กำลังล้างทำความสะอาดถั่วทองสำหรับนึ่งทำขนม
“ได้ค่ะ” หญิงสาวตอบรับพร้อมกับใช้กระชอนช้อนหอมเจียวที่เหลืองกรอบกำลังสวยขึ้นพักในตะแกรงตาถี่อีกอัน
เพราะเห็นว่าลูกสาวกำลังง่วนอยู่กับของบนเตา นางทิพย์สกุลจึงเป็นฝ่ายสนทนาต่อ “พรุ่งนี้มีงานสั่งทำลูกชุบ หม้อแกงเผือก และขนมชั้นกุหลาบไปออกงานที่เทศบาลค่ะ เลยต้องเตรียมของเยอะหน่อย”
“อย่างนั้นเหรอ มีอะไรให้ฉันช่วยหรือเปล่า” นางวรากุลย่อตัวลงนั่งข้างๆ มารดาของศกุนตลา
“นั่งคุยเฉยๆ เถอะ จะเสร็จแล้วเหมือนกัน” นางทิพย์สกุลตอบ แต่นางก็ยังง่วนอยู่กับการคัดเม็ดถั่วที่เสียออก
การมาของนางวรากุลไม่เป็นที่แปลกใจของคนที่นี่ ปกตินางจะชอบมาพูดคุยและช่วยเตรียมของทำขนมที่ร้านเป็นประจำอยู่แล้ว จากที่รู้กันว่านางจะอยู่คนเดียวที่บ้านพักหลังใหญ่โต ชีวิตประจำวันก็แค่คอยเก็บค่าเช่าตึกและที่ดิน เพราะที่ดินแถบนี้เกือบทั้งหมดเป็นสมบัติเก่าแก่ของตระกูลนาง
นางวรากุลเป็นคนติดดิน แม้จะเกิดในตระกูลเก่าแก่ ปู่ทวดเป็นถึงเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่นางก็ทำตัวเป็นกันเองกับทุกคน จึงเป็นที่รักใคร่ของบุคคลแถบนี้ มีสิ่งใดที่นางจะช่วยเหลืออุดหนุนจุนเจือนางก็ไม่รั้งรอที่จะทำ
ผู้คนย่านนี้จะเข้าใจว่านางไม่มีทายาทสืบสกุล เว้นเสียแต่คนเก่าคนแก่ที่รู้จักกันมานาน ป้องเขตใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านอีกหลังใจกลางกรุงเทพฯ เพราะเขาต้องเรียน และเมื่อเรียนจบเข้าทำงานในสำนักงานการท่องเที่ยวที่ต้องใช้ชีวิตประจำอยู่ในเมืองและต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อกลับมาบ้านพักที่เมืองนนท์ของมารดา เขาก็ไม่ชอบที่จะออกไปไหน
ศกุนตลาและมารดาของเธอก็ไม่เคยเห็นหน้าลูกชายของนางวรากุลเลยสักครั้ง แม้ว่านางจะพูดทีเล่นทีจริง ทาบทามหญิงสาวไปเป็นลูกสะใภ้อยู่บ่อยๆ ในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา เธอรู้แต่เพียงว่าเขาทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จนกระทั่งเมื่อสองสามวันก่อนนางเริ่มเข้าเรื่องอย่างจริงจัง ขอร้องอ้อนวอนเธอให้ช่วยเหลือ
“ฉันมาคุยกับเธอเรื่องที่คุยกันค้างไว้วันก่อน” นางวรากุลเปิดหัวข้อสนทนา
ศกุนตลาวางมือและหันกลับมาฟังอย่างตั้งใจ หัวใจของเธอเต้นตึกตัก อยากรู้ว่าสิ่งที่เธอกำลังคิดเป็นความจริงหรือเปล่า ผู้ชายคนเมื่อตอนบ่ายเป็นเขาหรือใคร
“ฉันคงต้องถามความสมัครใจของลูกก่อน” คำตอบของอีกฝ่ายทำให้นางวรากุลหันกลับไปมองหญิงสาวอีกครั้ง
“หนูตลาว่ายังไงจ๊ะ จะยอมช่วยป้าหรือเปล่า”
“หนูแล้วแต่แม่จะตัดสินใจค่ะ” หญิงสาวโยนลูกกลับไปให้มารดา
“อ้าว! แล้วกัน แม่ลูกคู่นี้ โยนกันไปโยนกันมา” นางวรากุลบอกกลั้วหัวเราะในลำคอ นางเงยหน้าขึ้นสบตาศกุนตลา ส่งสายตาขอร้องและเว้าวอน
“อย่าคิดถึงเรื่องเงินทองที่ป้าพูดถึงเมื่อวันก่อนนะ แต่ถือว่าเป็นคำขอร้องของป้า ช่วยป้าสักครั้ง”
“เอ่อ...” หญิงสาวอึกอัก
“คราวนี้ป้าจนปัญญาแล้วลูก ไม่คิดว่าป้องเขตจะรีบเดินทางเร็วขนาดนี้ ป้าคิดถึงวิธีอื่นไม่ทันจริงๆ ช่วยป้าสักครั้ง หรือว่าหนูมีข้อแลกเปลี่ยนอะไรป้าก็ยอมทุกอย่าง”
ศกุนตลาหันไปสบตามารดาของเธออย่างขอความเห็น ท่านพยักหน้าเป็นเชิงตอบรับ “ถ้าตลาไม่มีแฟน ไม่มีพันธะ และถ้ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร แม่ก็เห็นด้วยที่ลูกจะอุ้มท้องหลานให้คุณป้า”
ศกุนตลาทำหน้ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็จริงที่ตอนนี้เธอไม่มีแฟน ไม่มีพันธะผูกมัดกับใคร แต่การอุ้มท้องลูกที่เป็นสายเลือดของตัวเองครึ่งหนึ่งแล้วต้องตัดขาดจากสถานะแม่ มันเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวด และเมื่อยิ่งได้เห็นเขาเติบโต โดยที่เขาไม่มีโอกาสรับรู้ว่าเธอคือแม่ เธอคิดว่ามันเป็นความเจ็บปวดทั้งคนเป็นแม่และตัวลูกเอง
เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อลืมตาดูโลกและจำความได้ก็รับรู้ว่าเขาเป็นเด็กกำพร้าแม่ ในขณะที่หัวอกคนเป็นแม่ก็เฝ้ามองได้เพียงห่างๆ มันเป็นความรู้สึกที่โหดร้าย
ความรู้สึกหนักอึ้งก่อตัวขึ้นตั้งแต่แรกเริ่ม และตอนนี้มันยิ่งกลับทวีความหนักหน่วงในหัวใจของเธอมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
“หนูมีเรื่องกังวลใจอะไรหรือเปล่า” นางวรากุลถามย้ำเมื่อเห็นแววตาของหญิงสาว
“หนูเพียงแค่สงสารเด็กที่เกิดขึ้นมา หนูไม่อยากให้เด็กคนไหนในโลกกลายเป็นเด็กกำพร้าที่ต้องขาดพ่อหรือแม่ เขาควรจะเกิดขึ้นมาจากความรัก” เธอบอกสิ่งที่อยู่ในใจออกมา
“จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ภาพทุกสิ่งเกิดขึ้นได้อย่างที่หนูบอก ป้าอยากได้หนูมาเป็นลูกสะใภ้มากที่สุด หากหนูตลายอม มันเป็นสิ่งที่จะทำให้ป้ามีความสุขที่สุด แต่ทางเลือกของป้าตอนนี้มันน้อยนิดเหลือเกิน ลูกชายของป้าอายุสามสิบเก้าเข้าไปแล้ว” แววตาของคนพูดสะท้อนได้ถึงความไม่สบายใจข้างใน