เพราะคิดการใหญ่เกินตัว ชีวาจึงต้องถึงคราวบรรลัยด้วยมิอาจลุล่วงในหน้าที่...
เพราะคิดการใหญ่เกินตัว ชีวาจึงต้องถึงคราวบรรลัยด้วยมิอาจลุล่วงในหน้าที่...
เมื่อมิอาจสำเร็จสิ้นและกุมชัยชนะในสงครามระหว่างแว่นแคว้นยักษา ราชกุมารแห่งแคว้นเวรุฬาอันเป็นองค์เชลยถูกนำตัวออกจากห้องคุมขังมายังลานประหารหลังจากถูกขังไว้เป็นเวลากว่าเจ็ดทิวาเจ็ดราตรี คราแรกเขาถูกจองจำในฐานะองค์ประกัน เหตุนั้นเป็นเพราะเจ้าแคว้นแห่งปรมะนครคิดว่ายักษ์หนุ่มเป็นถึงราชกุมาร ต่อให้นำทัพพลาดท่าเสียที ไม่ว่าอย่างไรก็คงจะมีทัพกษัตริย์ยกพลมาให้การช่วยเหลือ ทว่า...ช่างน่าผิดหวังนัก นอกจากจะไร้ซึ่งทัพใดๆ ยกพลมา กษัตริย์ยักษาแห่งแคว้นเวรุฬายังแสร้งทำลืมสิ้นว่าตนนั้นมีราชบุตรผู้นี้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไข
ในเมื่อการจับเป็นองค์ประกันเป็นการประวิงเวลาโดยเสียเปล่า กษัตริย์ปรมะนครอันเป็นแคว้นอริราชย์จึงไม่ใคร่ให้มีชีวิตอยู่ต่อเป็นหอกข้างแคร่ คำสั่งพิฆาตถูกบัญชาลงมา เมื่อนั้น...ยักษาหนุ่มจึงได้ถูกนำตัวออกจากที่คุมขัง
ข้อมือและข้อเท้าถูกตีตรวนด้วยโซ่โลหะเส้นใหญ่ เสียงดังครูดไปตามพื้นทำลายความเงียบงันรอบข้างตั้งแต่บริเวณคุกเชลยจนถึงลานประหาร
วิรัลย์ยักษาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตนจะมาจบสิ้นชีวิตอย่างน่าอดสูเช่นนี้ การขันอาสาพระราชบิดามาออกรบนั้นก็เพื่อหมายจะสร้างคุณงามความดีและทำให้พระราชบิดาตระหนักรู้ว่ายังมีเขาเป็นราชบุตรอยู่อีกผู้หนึ่ง เพราะตั้งแต่ที่เขาถือกำเนิดมา พระราชบิดาก็ไม่เคยเหลียวแล หลงลืมไปเสียสิ้นว่ายังมีเขาสืบเชื้อสายกษัตริย์อยู่
แต่ความทะเยอทะยานของเขานั้นช่างเกินตัว ต่อให้เคยออกรบทัพจับศึกกับเหล่าจอมทัพผู้เก่งกาจมามากมายนับครั้งไม่ถ้วนเพียงไร เขาก็รับผิดชอบหน้าที่เพียงกระผีกเดียว กล่าวได้ว่าแทบไม่เคยลงสนามรบเสียด้วยซ้ำ นอกจากจะวางกลอุบายการรบกับเหล่าอำมาตย์ในฐานที่มั่นเท่านั้น
ผลที่เกิดขึ้นนี้ล้วนมาจากความทระนงตนของเขาทั้งสิ้น...
เมื่อมาถึงยังหลักประหารที่อยู่ในลานกว้าง วิรัลย์ก็ถูกบังคับให้คุกเข่าลงต่อหน้ากษัตริย์แห่งปรมะนครที่ประทับอยู่บนพลับพลา ทอดพระเนตรรอเพชฌฆาตสังหารยักษ์ตรงหน้าเสียให้สิ้น
ด้วยเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ต่อให้เป็นอริราชศัตรูก การประหารจึงมิอาจกระทำได้โดยการฟันคอให้ขาดในดาบเดียว ท่อนจันทน์[1]ถูกอัญเชิญมาเบื้องหน้า วิรัลย์ราชกุมารถูกปลดโซ่ตรวนและจับมัดมือไพล่หลัง ถุงผ้ากำมะหยี่สีแดงสดถูกนำมาคลุมศีรษะตลอดจนลำตัว โลหิตของเชื้อราชวงศ์มิอาจปล่อยให้ตกสู่พสุธา แต่นั่นจะสำคัญอย่างไรกัน ในเมื่อเพลานี้ จุดจบของเขาคือความตาย ก่อนเพชฌฆาตจะดึงทึ้งให้เขานอนลงไปบนเบาะขลิบดิ้นทอง
ดวงตาคมเหลือบมองไปยังเบื้องหน้าอย่างเลื่อนลอย ไร้ซึ่งการวิงวอนขอชีวิต วิรัลย์รู้ดีว่าการถูกประหารด้วยท่อนจันทน์นั้นนับว่าเป็นการให้เกียรติอย่างสูงสุดของกษัตริย์แห่งปรมะนครแล้ว อีกทั้งการขอชีวิตตนนั้นเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยิ่ง แม้ตัวต้องตาย แต่เขาก็จะไม่เอื้อนเอ่ยคำใดออกมาเพื่อประวิงเวลาให้ตนได้มีลมหายใจ
วิรัลย์สูดลมหายใจเข้าเสียเฮือกใหญ่ราวกับจะดื่มด่ำกับการมีชีวิตอยู่เป็นครั้งสุดท้าย พลันปิดเปลือกตาลง น้อมรับความตายที่ถูกมอบให้โดยศิโรราบ
หมดสิ้นแล้วซึ่งชีวี แต่มอดม้วยไปเสียก็ดี ไม่ว่าอย่างไร ข้าก็เป็นเพียงราชกุมารที่ไม่มีผู้ใดต้องการ...
เขารำพึงในใจ ปล่อยวางทั้งหมดและปล่อยให้ทุกสิ่งดำเนินไปตามชะตากรรม
หากแต่ยังไม่ทันที่เพชฌฆาตจะได้เหวี่ยงท่อนจันทน์ลงมายังศีรษะ พลันก็ได้ยินเสียงแหบห้าวดังเข้ามาในโสตอย่างไม่ทันตั้งตัว
“เสด็จอา... กระหม่อมมีเรื่องจะกราบทูล”
เสียงนั้นหยุดทุกการกระทำ ขณะที่กษัตริย์แห่งปรมะนครเหลือบพระเนตรมองคนตรงหน้า พยักพระพักตร์เล็กน้อยให้อีกฝ่ายได้กล่าวต่อ
เมื่อได้รับพระราชทานอนุญาต คนขัดเหตุการณ์ก็เปล่งวาจาออกมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
“กระหม่อมใคร่จะทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ราชกุมารแห่งเวรุฬาพ่ะย่ะค่ะ”
เป็นที่ประจักษ์กันดีในหมู่วงศาคณายักษ์ว่าแคว้นปรมะนครและแคว้นเวรุฬานั้นหาได้เป็นมิตรต่อกัน เนิ่นนานหลายร้อยขวบปีแล้วที่แคว้นอสุราทั้งสองต่างห้ำหั่นกันเป็นเนืองนิตย์ เหตุใช่ว่าเพราะมีเรื่องบาดหมางกันแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพราะปรมะนครเป็นแว่นแคว้นดินแดนใหญ่ อำนาจแผ่ไพศาลไปทั่วแดนยักษา ทำให้กษัตริย์ผู้ครองนครได้พระทัย หมายจะชิงชัยเอาแคว้นน้อยใหญ่มาอยู่ในการปกครอง การยุรยาตรทัพทหารเกรียงไกรจึงเป็นไปทั้งหัวและท้ายปีไม่มีเว้นว่าง ยักษาวัยฉกรรจ์ล้วนถูกเกณฑ์มาเป็นไพร่พลในกองทัพ ทุกหัวระแหงที่กองทัพปรมะนครย่างก้าวไปเป็นต้องมีการหลั่งโลหิต เพียงไม่นาน ปรมะนครก็เรืองรองด้วยอำนาจ แคว้นใหญ่ถูกตีพ่าย แคว้นน้อยจำยอมศิโรราบด้วยมิอาจต่อกร เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานแล้ว
แต่...มีเพียงแคว้นเวรุฬาเท่านั้นที่ยังมิตกอยู่ในอุ้งพระหัตถ์ ทำให้กษัตริย์แห่งปรมะนครใคร่จะยึดครองแคว้นนี้ยิ่งนัก หากทว่าการเอากำลังบุกเข้าโจมตีเวรุฬามิอาจเป็นไปโดยง่าย ด้วยแคว้นเวรุฬานั้นมีถิ่นฐานอยู่ยังยอดเขาสูงลึกเข้าไปในพนาวัน การยาตราทัพเข้าประชิดเมืองนั้นเป็นไปได้ยากยิ่ง อีกทั้งเหล่ารากษสเวรุฬายังมีอุปนิสัยดุร้าย เมื่อถูกรุกราน ก็มิยอมให้ถูกข่มเหง สำแดงความอาจหาญออกมาอย่างหมดสิ้น ไล่คร่าฟาดฟันอริราชย์อย่างไม่ใคร่ครวญเสียดายชีวิต เป็นเหตุให้ทัพของปรมะนครที่รบชนะมาทั่วทุกทิศต้องแตกพ่ายทุกครั้งไป
การต้องเสียไพร่พลจากการรบเพราะปราชัยให้แก่เหล่ายักษ์ป่าพวกนั้นช่างน่าอับอายยิ่งนัก!
กษัตริย์แห่งปรมะนครขุ่นแค้นพระทัยยิ่งนัก เรียกเหล่าเสนาอำมาตย์และจอมทัพฝีมือดีมาปรึกษาหารือ ด้วยหมายจะวางกลอุบายยึดครองกรุงเวรุฬาให้ได้ในเร็ววัน
[1] ท่อนจันทน์ เป็นเครื่องมือประหาร เป็นไม้ค้อนขนาดใหญ่ที่มีปลายด้านหนึ่งใหญ่กว่าอีกด้าน รุปร่างคล้ายสากตำข้าว ทำจากไม้จันทน์หอม ใช้ทุบศีรษะเพื่อสำเร็จโทษเจ้านายเชื้อพระวงศ์ตามกฎมนเทียรบาล ด้วยมีความเชื่อว่าการประหารโดยตัดศีรษะให้ขาดนั้นเป็นการไม่ให้เกียรติ ดังนั้นการประหารเชื้อพรวงศ์ พระมเหสี พระสนมจะใช้ท่อนจันทน์ทุบศีรษะจนถึงแก่ความตายแทน