ภาค 1 หมู่บ้านริมธาร
บทที่ 1 จดหมายจากโนอาห์
วันเสาร์ 28 มีนาคม 2020
เช้าตรู่วันที่อากาศเย็นสบายบนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมฆหมอกลอยเรี่ยระยอดเขา ดอกไม้ป่าโชยกลิ่นหอมเคล้ากลิ่นดอกไม้บ้านที่บานสะพรั่งในกระถางดินเผารูปทรงต่างๆ พระอาทิตย์เริ่มทอแสงอ่อนแผ่คลุมเนินเขาราวตาข่ายสีทอง
ขณะที่ฤดีกำลังนั่งจิบชาหอมกรุ่นชื่นใจบนระเบียงบ้านอันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลในอาณาบริเวณ “เจมส์ใจแกลเลอรี” ห้องแสดงงานศิลปะแห่งนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและซื้อหาสินค้าตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ทุกวัน
ทันใดนั้นโทรศัพท์ที่วางนิ่งบนโต๊ะตัวเล็กก็ดังขึ้น ฤดีคว้าเครื่องมือสื่อสารรูปทรงสี่เหลี่ยมสีดำขึ้นมาดูหน้าจอก่อนยกแนบหูและพูดทักทาย
“กู้ดมอร์นิ่งค่ะ หมี่ยะ ไม่ได้คุยกันนานเลย”
“พี่ฤดี พี่ฤดีขา มาเชียงใหม่วันนี้ได้ไหมคะ!...” เธอได้ยินเสียงที่ฟังแทบไม่รู้เรื่องในสาย “คุณโนอาห์...คุณโนอาห์ตายแล้วค่ะ...” หมี่ยะพยายามพูดจนจบประโยค
“ว่าไงนะคะ!”
ฤดีเข้าใจว่าหูที่เริ่มชราเกิดอาการฟั่นเฟือน วัยหกสิบสี่ปีของเธอมีความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมลงหลายประการ ทั้งนัยน์ตาที่ต้องสวมแว่นหนา เดินเหินเชื่องช้า เรื่องการได้ยินที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนบ่อยขึ้น และอีกเหตุผลหนึ่งคือ หมี่ยะเป็นชาวอาข่า[1]ที่แม้พูดภาษาไทยได้คล่อง แต่สำเนียงเสียงสั้นยาวของเธอทำให้ฤดีเข้าใจผิดเป็นบางครั้ง
“คุณโนอาห์เสียแล้วค่ะ”
หมี่ยะพูดซ้ำ หญิงวัยห้าสิบผู้นี้เป็นภรรยาของโนอาห์ ทั้งคู่คือมิตรแท้ของเธอ หมี่ยะอายุน้อยกว่าฤดีสิบสี่ปีและอ่อนกว่าสามียี่สิบห้าปี
“โอ้ จริงหรือ” ฤดีอุทาน “เป็นไปได้อย่างไร หมี่ยะ คุณโนอาห์เป็นอะไรตาย” ฤดีสนิทสนมกับหมี่ยะมากพอจะใช้คำถามตรงๆ แบบไม่ต้องอ้อมค้อมหรือพยายามหาศัพท์อื่นมาใช้แทนคำว่าตาย
“คุณโนอาห์ป่วยมาเกือบเดือนแล้ว เขาไม่ยอมไปโรงพยาบาล ไม่ให้บอกใครว่าไม่สบาย เขาบอกว่าจะตายที่บ้านที่เชียงใหม่นี่แหละค่ะ เมื่อคืนเขาปวดท้องมาก อาเจียนเป็นเลือด หมดสติ หมี่ยะเลยเรียกรถพยาบาลมารับ ไปถึงโรงพยาบาลสักชั่วโมงก็หยุดหายใจ”
หมี่ยะร้องไห้ออกมาเต็มเสียงหลังจากพูดจบ
“หมี่ยะ ทำใจดีๆไว้ค่ะ”
ฤดีถือโทรศัพท์ไว้ครู่ใหญ่ก่อนหาคำพูดได้ เธอรู้สึกมึนงงเหมือนถูกฟาดศีรษะ เธอนึกเห็นภาพโนอาห์ผู้คร่ำเคร่ง ทำงานหนัก รักครอบครัว มีอารมณ์ขัน มีน้ำใจกับคนรอบข้าง เธอรู้จักโนอาห์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 ในเวลานั้นเธอเพิ่งลาออกจากการเป็นนักวิจัยของสถาบันศึกษาชาวเขา ส่วนโนอาห์เป็นช่างภาพอิสระและนักเขียนบทความ เขาต้องการมาถ่ายภาพผู้คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย อาจารย์ท่านหนึ่งแนะนำให้โนอาห์จ้างเธอเป็นผู้ช่วย เธอพาเขาขึ้นดอยนับลูกไม่ถ้วนและทำหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อประกอบงานเขียนของเขา ต่อมาโนอาห์พบรักกับหมี่ยะผู้เป็นลูกสาวหัวหน้าหมู่บ้านชาวอาข่า ทั้งสองแต่งงานกันและก่อตั้งมูลนิธิเพื่อให้ทุนการศึกษาเด็กนักเรียนชาวอาข่าจากหลายหมู่บ้าน ส่วนเธอทำหน้าที่เป็นผู้จัดการมูลนิธินานถึง 14 ปีจนถึงวันที่เธอลาออก ค.ศ. 2005 โนอาห์มอบโบนัสก้อนใหญ่จากเงินส่วนตัวของเขาให้เธอซึ่งมากพอสำหรับซื้อที่ดินหนึ่งแปลงและปลูกบ้านหลังเล็ก เธออยู่คนเดียวอย่างมีความสุขบนดอยแม่สลองมาจนถึงวันนี้...
หมี่ยะยังสะอื้นไม่หยุด
“ตอนนี้หมี่ยะอยู่ที่ไหนคะ” ฤดีพยายามกุมสติไว้ให้มั่น
“อยู่ที่โรงพยาบาลค่ะ” หมี่ยะบอกชื่อโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ “ศพคุณโนอาห์เขากำลังชันสูตร ตอนบ่ายถึงจะรับกลับได้”
“แล้วหมี่ยะโทรบอกญาติพี่น้องหรือยังคะ” ฤดีถาม
“สุจาโทรไปบอกทุกคนแล้วค่ะ พวกพี่น้องหมี่ยะบนดอยกำลังเดินทางมา”
“อ้อ...ค่ะ”
ฤดีกระแอมเรียกเสียงที่ติดขัดในลำคอออกมาก่อนพูดต่อ “เอาอย่างนี้นะคะ เดี๋ยวตอนสายพี่จะขับรถไป คงถึงบ้านคุณโนอาห์ก่อนบ่ายสาม อย่างไรจะโทรบอกอีกที” ประโยคท้ายเธอพูดเสียงแผ่ว “หมี่ยะ พี่เสียใจด้วยจริงๆ ค่ะ”
“พี่ฤดีคะ” หมี่ยะเรียกไว้ก่อนที่ฤดีจะกดวางสาย “อาทิตย์ที่แล้วคุณโนอาห์เขียนจดหมายถึงพี่ค่ะ เขาเก็บมันไว้ในลิ้นชักโต๊ะที่ห้องสมุด เขาขอให้พี่มาอ่านอย่างเร็วที่สุดค่ะ”
ฤดีอึ้ง เธอเดาว่าอาจเป็นเรื่องที่โนอาห์สั่งเสียให้เธอกลับไปช่วยดูแลมูลนิธิและนักเรียนทุนระยะหนึ่งจนกว่าจะหาคนมาช่วยได้เต็มเวลา
“ได้ค่ะ หมี่ยะ พอไปถึงแล้ว พี่จะไปค้นที่ห้องสมุด หมี่ยะไม่ต้องกังวล”
“ค่ะ ขอบคุณค่ะ พี่ฤดีขับรถปลอดภัยนะคะ แล้วเจอกัน”
หญิงทั้งสองพูดกันอีกสองสามประโยคก่อนกล่าวลา ครู่หนึ่งฤดีกดรับโทรศัพท์อีกครั้ง
“พี่ฤดีขา เมื่อกี้พี่หมี่ยะโทรมาบอกเรื่องคุณโนอาห์แล้วใช่ไหม”
ผู้ที่โทรมาคือสุจา วัย 49 ปี เขาพูดด้วยน้ำเสียงเศร้าสลด สุจาเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับโนอาห์และหมี่ยะ ด้วยเหตุผลที่โนอาห์เป็นผู้รับอุปถัมภ์ให้การศึกษาสุจาตั้งแต่เขายังเป็นเด็กชายชาวอาข่ายากจน ในเวลานั้นเขากับย่าอาศัยอยู่กับญาติในหมู่บ้านบนดอย สุจาได้มีโอกาสเข้าโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่พร้อมกับเรียนเสริมสวยไปด้วยโดยพักอยู่ที่บ้านโนอาห์พร้อมกับย่าของเขา หลายปีผ่านไปสุจาประสบความสำเร็จในทางอาชีพ เขาเป็นช่างเสริมสวยที่มีฝีมือ ลูกค้าติดใจและให้รางวัลบ่อยครั้ง สุจาเก็บหอมรอมริบอยู่หลายปีจนมีเงินเพียงพอสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศ บัดนี้สรีระของเขาเป็นหญิงเต็มตัวแล้ว สุจาไปมาหาสู่กับหมี่ยะและโนอาห์เป็นประจำรวมทั้งเข้านอกออกในได้เช่นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน สุจาและฤดีมีความสนิทสนมกันตั้งแต่เมื่อครั้งที่ฤดียังเป็นนักวิจัยชาวเขา เธอเป็นผู้สอนหนังสือให้สุจาจนอ่านออกเขียนได้
“ใช่ค่ะ พี่เพิ่งวางโทรศัพท์จากหมี่ยะสักครู่นี้เอง ไม่ได้ถามรายละเอียด หมี่ยะร้องไห้มากจนพี่ใจคอไม่ดี สุจาพอจะเล่าให้พี่ฟังได้ไหม” ฤดีนั่งนิ่ง เธอหลับตาและแนบโทรศัพท์ไว้กับหู
“คุณโนอาห์เป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหารระยะสุดท้ายค่ะ แต่ไม่ยอมบอกใคร หนูรู้เพราะหนูแอบถามคุณหมอตอนขับรถพาเขาไปโรงพยาบาลเดือนที่แล้ว พอรู้ตัวว่าจะไม่มีโอกาสหาย คุณโนอาห์ก็เลิกรักษา เขาบอกว่าการนอนป่วยรอความตายที่โรงพยาบาลนั้นเป็นการเสียเวลาของความสุข เขาอยากใช้ชีวิตที่เหลือเพียงน้อยนิดแบบสบายใจ ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องให้ใครเอาท่อเอาอะไรมายัดปากหรือสอดร้อยเข้าจมูก ไม่ต้องเจาะแขนเจาะขาแทงเข็มน้ำเกลือ เขาต้องการอยู่กับทุกสิ่งที่เขารักจนนาทีสุดท้าย” สุจานิ่งไปเมื่อพูดถึงตอนนี้ ฤดีได้ยินเสียงเขาสั่งน้ำมูก
ฤดีปล่อยให้ความเงียบเข้าครอบงำจนสุจาพูดขึ้นอีกครั้ง
“พี่ฤดี คุณโนอาห์พูดถึงพี่ก่อนตาย เขามีธุระด่วนให้พี่ทำอย่างหนึ่งค่ะ เขาเขียนไว้ในจดหมาย มันอยู่ในห้องสมุด”
“หมี่ยะบอกพี่แล้วค่ะ สุจา พี่ยินดีช่วยเขาทุกอย่างหากทำได้” ฤดีตอบ “เดี๋ยวตอนสายพี่จะขับรถลงเชียงใหม่ แล้วเจอกันค่ะ”
“ขับรถดีๆนะคะ หนูเป็นห่วง จริงๆอยากให้พี่มาเครื่องบินจะปลอดภัยกว่า แต่หนูรู้ว่าพี่ชอบขับรถเพราะไปไหนได้สะดวก” สุจาบอกมาตามสาย
“ขอบคุณค่ะสุจา พี่จะขับรถระวังๆค่ะ ดูแลหมี่ยะด้วยนะ”
“ค่ะ เดี๋ยวหนูโทรบอกพี่ชดและคนอื่นๆ เผื่อใครว่างจะได้มาช่วยงานศพ หนูโทรบอกพวกญาติพี่หมี่ยะให้ส่งข่าวบอกต่อกันไป บ่ายๆพวกเขาคงมาถึงค่ะ”
เมื่อฤดีวางสายจากสุจาแล้ว เธอรีบลุกขึ้นและจัดลำดับความคิดว่าควรทำอะไรก่อนหลัง แกลเลอรีเจมส์ใจคงต้องปิดอย่างไม่มีกำหนด เพราะเธอดูแลกิจการนี้คนเดียว ถ้ามันเปิดแปลว่าเธออยู่บ้าน ถ้ามันปิดแปลว่าเธอไม่อยู่ ง่ายๆแบบนี้
ฤดีเดินเข้าไปในบ้าน จัดเสื้อผ้าลงกระเป๋าใบใหญ่ แล้วไลน์บอกเพื่อนสนิทบ้านติดกันว่าเธอจะไม่อยู่อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นเธอยกป้ายขึ้นแขวนบนตะขอหัวเสาหน้าแกลเลอรี มันเขียนไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “ปิด/Closed”
ฤดีหันซ้ายหันขวาแล้วเดินอ้อมไปหลังบ้าน เธอสับสวิตช์ไฟเปิดก๊อกน้ำหยดอัตโนมัติซึ่งจะฉีดพ่นละอองน้ำให้ความชุ่มฉ่ำแก่ต้นไม้ดอกไม้ทุกหกชั่วโมง โชคดีที่เธอไม่มีสัตว์เลี้ยง แม้ว่าเธอชอบทั้งหมา แมว และสัตว์อื่นๆเกือบทุกประเภท แต่เธอเลือกที่จะไม่ผูกพันกับสิ่งมีชีวิตใดๆนอกจากต้นไม้ใบหญ้า
ฤดีรู้สึกใจหาย เธอไม่เคยจากบ้านหลังนี้นานเกินสองหรือสามวันนับแต่ย้ายมาอยู่แม่สลองเมื่อปี 2006แต่คราวนี้เธอแน่ใจว่าเธอคงต้องไปนานเกินหนึ่งสัปดาห์
หลังจากอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าและดูแลความเรียบร้อยรอบบริเวณบ้านอีกครั้งแล้ว ฤดีก็ลากกระเป๋าใบใหญ่ลงมาจากบ้านและยกใส่ท้ายรถ จากนั้นรถแวนคันกะทัดรัดก็แล่นฉิวออกสู่ถนนลาดยาง
ระยะทาง 28 กิโลเมตรจากดอยแม่สลอง ฤดีใช้เวลายี่สิบนาทีก็ถึงแยกแม่จัน จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่อำเภอเมืองเชียงรายบนถนนพหลโยธิน สี่สิบนาทีต่อมาเธอเลี้ยวขวาอีกครั้งสู่ทางหลวงแผ่นดินสาย 118 ทุกครั้งที่ขับรถไปบนถนนสายนี้ ฤดีรู้สึกเบิกบานใจเพราะเป็นเส้นทางร่มรื่นตัดผ่านเทือกเล็กดอยน้อย ทัศนียภาพสองข้างดูแล้วเพลิดเพลิน แต่คราวนี้ฤดีรู้สึกหม่นหมอง เพราะเธอกำลังเดินทางไปสู่บ้านของโนอาห์ ผู้ซึ่งบัดนี้ไม่มีลมหายใจแล้ว
ก่อนบ่ายสามโมงฤดีเลี้ยวรถผ่านประตูใหญ่เข้ามาจอดใต้ต้นมะกอกในบริเวณบ้านพักและที่ทำการมูลนิธิหมี่ยะ-โนอาห์ ถนนนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หมี่ยะและสุจากำลังรอรับศพโนอาห์ที่โรงพยาบาล อาตุหลานชายวัยรุ่นของหมี่ยะออกมาต้อนรับฤดี
“อาโฮหมี่ยะอยู่โรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อคืน ไม่ได้กลับบ้านเลยครับ” อาตุรายงาน
ฤดีนั่งพักดื่มน้ำฝางสีแดงที่อาตุใส่แก้วถือมาให้ เธอหายใจยาวและมองไปรอบๆ ครั้งสุดท้ายที่ฤดีมาเยี่ยมบ้านหลังนี้คือสองปีที่แล้วคราวที่โนอาห์และหมี่ยะจัดงานฉลองสมรสครบยี่สิบสี่ปี ทั้งคู่แต่งงานกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 และปีถัดมามูลนิธิหมี่ยะ-โนอาห์เริ่มก่อตั้งขึ้น
ภายในอาณาบริเวณเกือบสองไร่แห่งนี้คือที่ทำการมูลนิธิและเป็นที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างกลางพื้นที่คือบ้านหลังใหญ่ซึ่งเป็นเรือนพักของเจ้าบ้านและที่ทำงาน มีอาคารสองชั้นสามหลังอยู่ชิดรั้วกำแพงด้านใน อาคารหลังแรกเป็นหอพักนักเรียนทุนสิบสองคน อาคารหลังที่สองเป็นเกสต์เฮาส์ที่พักอาสาสมัครและแขกผู้มาเยือน ส่วนอาคารหลังที่สามเป็นห้องสมุดที่ฤดีกำลังจะก้าวเท้าเข้าไปเพื่ออ่านจดหมายของโนอาห์ แต่เธอเปลี่ยนใจ สมองเธอล้าเกินกว่าจะรับข้อมูลข่าวสารใดๆ ได้อีก
ฤดีหันหลังเดินกลับไปยังทางปูอิฐแผ่นหนาที่พาลัดเลาะเข้าไปในสวน กระท่อมหลังหนึ่งตั้งอยู่ด้วยท่าทีสงบเสงี่ยมในมุมรื่นรมย์ที่เต็มไปด้วยพืชสมุนไพรมากมาย พวกมันเติบโต งอกงาม ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
ผู้ที่เคยอยู่อาศัยในกระท่อมหลังนี้คือ “อาผี่ญิผ่า” หญิงชราผู้เป็นย่าของสุจา คำว่า “ญิผ่า” ในภาษาอาข่าหมายถึงผู้ทรงความรู้ด้านสมุนไพร การเยียวยา และคาถาโบราณ อาผี่ญิผ่ารู้จักตัวยาต่างๆ ทั้งสัตว์และพืชเป็นอย่างดี นางใช้ชีวิตบั้นปลายในกระท่อมหลังนี้จนวันสุดท้าย ความรู้เก่าแก่ที่นางถ่ายทอดให้ฤดีบันทึกไว้นั้นมีมากมาย แต่น่าเสียดายที่นักเรียนทุนรุ่นใหม่ๆ ของโนอาห์ไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษา
ฤดีเปิดประตูรั้วซึ่งสูงแค่เอวของเธอ รั้วไม้ไผ่สร้างล้อมกระท่อมไว้เพื่อให้ไม้เลื้อยบางชนิดมีที่เกาะเกี่ยว สมุนไพรแห้งที่เก็บไว้อย่างเป็นระบบในกระท่อมส่งกลิ่นอวลอยู่รอบบริเวณ ตัวยาต่างๆ เหล่านี้แทบไม่มีใครรู้จัก แม้แต่ฤดีเองที่ศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอาข่าเป็นเวลาหลายปีก็ไม่อาจบอกได้หมดว่าอะไรเป็นอะไร
อาผี่ญิผ่าย้ายลงจากดอยมาพักอาศัยที่บ้านเช่าของโนอาห์ตั้งแต่สุจาได้เรียนหนังสือ จนเมื่อหมี่ยะและโนอาห์ซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้านที่ถนนนันทารามแห่งนี้ นางขอโนอาห์สร้างกระท่อมอยู่ในสวน ซึ่งเขาก็ไม่ขัดข้อง จากนั้นนางเริ่มปลูกพืชผักสมุนไพรต่างๆไว้โดยรอบบริเวณที่นางอาศัยอยู่ พืชสมุนไพรแห้งที่เก็บรักษาไว้ในกระท่อมนอกจากนางจะเป็นผู้ปลูกเองแล้ว ทุกปีสุจาพานางกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านบนดอยผาชันเพื่อเก็บต้นอ่อนสมุนไพรมาปลูกเพิ่ม อีกทั้งยังรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชยาต่างๆ เท่าที่สามารถหาได้ในป่า บางครั้งนางพักอยู่ในหมู่บ้านบนยอดดอยผาชันนานนับเดือนเพื่อรอการงอกของพืชบางชนิดซึ่งขึ้นได้เฉพาะที่สูงอุณหภูมิต่ำแวดล้อมด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์
ฤดีเปิดประตูกระท่อมที่งับไว้โดยไม่ได้ใส่กุญแจ ความมืดสลัวถูกแทนที่ด้วยแสงที่ลอดเข้ามา โครงสร้างกระท่อมนี้ไม่แตกต่างจากบ้านของชาวอาข่าทั่วไปบนดอยสูง โนอาห์ติดตั้งมุ้งลวดไว้ที่ประตูและหน้าต่างรวมทั้งรอบชายคาเพื่อกันยุง อีกทั้งเดินสายไฟฟ้าต่อเข้ามาจากบ้านใหญ่เพื่อให้ความสว่างไสว
ภายในกระท่อมมีผนังไม้ไผ่สานกั้นส่วนที่เป็นห้องนอนเล็กๆ ไว้ด้านใน ด้านนอกใช้นั่งเล่นและเสวนากับผู้มาเยือน เตาไฟอันประกอบด้วยก้อนเส้าสามก้อนตั้งอยู่ทิศปลายเท้า ภาชนะดินเผา น้ำเต้าลูกใหญ่ใช้บรรจุน้ำวางไว้บริเวณเดียวกัน เหนือขึ้นไปคือคานไม้ไผ่ที่ถูกควันไฟรมจนแกร่งไร้มอดแทะ ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของหญิงชราซึ่งมีไม่มากนักจัดเก็บไว้ในกระบุงทรงสูงตั้งชิดมุมด้านในที่ใช้นอน
ฤดียืนพิจารณาทุกสิ่งในกระท่อมอย่างเงียบงัน เธอนึกถึงหญิงชราผู้ซึ่งบัดนี้คงนั่งปรุงยาอยู่ที่ไหนสักแห่งในปรภพ ความรู้ที่นางมอบให้โนอาห์และบรรดานักเรียนทุนทั้งหลายได้รับการบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ ชาวอาข่าไม่มีภาษาเขียน ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรและการเยียวยาของอาผี่ญิผ่านั้นได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษซึ่งสืบขึ้นไปได้กว่าสามสิบรุ่น โนอาห์เคยกล่าวว่าความจำของนางนั้นเทียบได้กับหนังสือหลายร้อยเล่มในห้องสมุด เพราะนางสามารถบอกได้ว่าพืชชนิดไหนใช้รักษา พืชชนิดไหนใช้ป้องกัน พืชชนิดไหนกินได้ พืชชนิดไหนกินแล้วตาย
ขณะที่ฤดีกำลังยืนพิจารณาสิ่งของต่างๆ ในกระท่อม เธอก็ได้ยินเสียงแตรรถบีบกระชั้น มันดังมาจากบริเวณหน้าบ้าน
ทุกคน...รวมทั้งโนอาห์ มาถึงแล้วสินะ
Footnote
[1] ชาวอาข่า คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และทางตอนใต้ของประเทศจีน ปัจจุบันมีชาวอาข่าในประเทศไทยประมาณ 110,000 คน