ตอนที่ 6 วิถีชาวนา

2109 Words
ยามเฉิน (07.00-08.59น.) แสงตะวันยามเช้าส่องกระทบทุ่งนาสีเหลืองอร่าม ตอนนี้ข้าวกำลังสุกเต็มที่พร้อมที่จะได้รับการเก็บเกี่ยว ที่นา 10 หมู่ของฝูเฟยเมี่ยวนี้ทุกปีจะให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ข้าวรวงใหญ่ เมล็ดข้าวโต ไม่ลีบ ถึงมีก็มีไม่มาก “ฟางหรง เจ้าคอยดูน้องนะ หากว่าน้องตื่นแล้วให้ไปเรียกแม่ เดี๋ยวแม่จะไปเกี่ยวข้าวเสียหน่อย” “เจ้าค่ะ ท่านแม่” เด็กน้อยแก้มกลมตอบรับพลางอมยิ้ม นางแอบได้ยินมารดาโต้เถียงกับผู้เป็นป้าเมื่อวันก่อนว่าปีนี้จะไม่มีการแบ่งข้าวไปให้เหมือนเช่นทุกปี ฝูฟางหรงดีใจยิ่งนัก ปีที่แล้วเด็กน้อยจำความได้ว่าผู้เป็นมารดานั้นเหนื่อยยากเพียงใดกว่าจะทำนาได้ข้าวมา พอเกี่ยวข้าว นวดข้าวเสร็จยังจะต้องแบ่งไปให้ป้าใหญ่อีก ฝูเฟยเมี่ยวนักปั้นมือทองนั้นพื้นเพเป็นคนไทยภาคอีสาน นางเกิดในยุค 80 ซึ่งยุคนั้นแถวบ้านยังไม่มีน้ำประปาใช้ ไฟฟ้าก็ยังเข้าไม่ถึง ความเป็นเด็กบ้านนอกในยุคของความยากจนและขาดแคลนได้มอบประสบการณ์อันล้ำค่าต่างๆ ให้กับนาง ตอนเด็กๆ นางต้องไปช่วยพ่อแม่ทำนา เริ่มจากหว่านกล้า ถอนกล้า ดำนา เกี่ยวข้าวและตีข้าว (นวดข้าว) งานหลายๆ อย่างที่คนบ้านนอกทำนางล้วนเคยผ่านมาหมด ไม่ว่าจะเป็นการ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า เลี้ยงครั่ง อาหารการกินของคนสมัยก่อนสามารถหาได้ง่ายๆ จากท้องไร่ท้องนา ไม่ว่าจะเป็นกบ เขียด ปู ปลา ลูกอ๊อด จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ตั๊กแตน แมงกุดจี่ก็มา แมงจี่นูนก็มี เรียกได้ว่าอาหารการกินนั้นล้วนอุดมสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้การที่ฝูเฟยเมี่ยวต้องทะลุมิติย้อนเวลามาในยุคโบราณที่ไฟฟ้ายังไม่มี น้ำประปายังไม่เกิดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากจนแสนสาหัส เพราะนางเคยสัมผัสประสบการณ์ที่คล้ายๆ กันเช่นนี้มาแล้ว ตะวันตรงหัว เสียงทารกร้องอุแว๊ๆ ดังแว่วมา “สงสัยอาหลงจะตื่นแล้ว” ฝูเฟยเมี่ยวพึมพำกับตนเองพลางเงยหน้าขึ้นมาจากการเกี่ยวข้าว โชคดีที่ยุคนี้ยังมีเคียวให้ได้ใช้ สักพักเด็กน้อยก็วิ่งลงมาจากบ้านพร้อมกับตะโกนร้องเรียกผู้เป็นมารดา “ท่านแม่ๆ อาหลงตื่นแล้ว น้องตื่นแล้วเจ้าค่ะ ร้องไห้ใหญ่เลยสงสัยอยากกินนม” เด็กน้อยวิ่งกระหืดกระหอบมาหยุดอยู่ตรงหน้าผู้เป็นมารดา ฝูเฟยเมี่ยวตบหัวบุตรสาวเบาๆ สองทีพร้อมกับจูงแขนเด็กน้อยเดินตรงไปที่เรือนไม้หลังเก่าของพวกนาง ในมืออีกข้างกำเคียวไว้แน่น ทารกน้อยกำลังร้องไห้จ้า ทันทีที่ผู้เป็นมารดาใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดคราบเหงื่อไคลออกจากเต้านมและส่งนมเข้าปาก เจ้าก้อนแป้งน้อยก็รีบกระซวกดูดทันที “โอ๊ย!เบาๆ ลูก” ฝูเฟยเมี่ยวหัวเราะ นางทั้งเจ็บทั้งจั๊กจี้ ผ่านไปสักพักเด็กน้อยก็มีอาการสงบลง ดูดนมมารดาไปพลางตาก็เคลิ้มจะหลับไปพลาง ฝูเฟยเมี่ยวเห็นดังนั้นจึงใช้นิ้วเขี่ยแก้มบุตรชายเบาๆ “น้องหลับแล้ว” เด็กน้อยพูดออกมาด้วยความรักและเอ็นดูน้องชาย “ตื่นๆๆๆ เจ้าก้อนแป้งน้อย เจ้าอย่าเพิ่งหลับสิ ตื่นมากินให้อิ่มไปเสียทีเดียวแล้วค่อยนอนยาวๆ วันนี้แม่ต้องเร่งเกี่ยวข้าว จะได้เสร็จในเร็ววัน บ้านเราจะมีข้าวใหม่กินแล้วนะ” เด็กน้อยหลังจากถูกเขี่ยแก้มก็ลืมตาตื่นขึ้นมาดูดนมต่อ เมื่อเห็นว่าทารกน้อยกินนมอิ่มแล้ว ฝูเฟยเมี่ยวก็จับฝูเฟยหลงนั่งบนขา กางมือออกสำหรับประคองคอทารกไว้ อีกมือหนึ่งลูบหลังเจ้าก้อนแป้งน้อยเบาๆ “ท่านแม่ให้น้องนั่งหรือเจ้าคะ?” ฝูฟางหรงถามออกไปอย่างไร้เดียงสา ฝูเฟยเมี่ยวยิ้มกว้าง ก่อนเอ่ยตอบ “แม่กำลังทำให้น้องของเจ้าเรออยู่จ้ะ การเรอก็คือการไล่ลม จะทำให้น้องนอนหลับสบาย ไม่อ้วก กินนมได้เยอะ โตไวๆ อย่างไรล่ะ” โชคดีที่ก่อนหน้านี้ฝูเฟยเมี่ยวได้มีโอกาสไปเยี่ยมกองถ่ายละครของเด็กในสังกัดซึ่งต้องมีฉากเลี้ยงเด็กทารกด้วย นางจึงได้จดจำวิธีการเลี้ยงเด็กทารกมาจากกองถ่ายละครนั่นแหละ ครั้นเวลาที่เขาพักกอง นางก็ไปช่วยป้อนนมและจับเด็กเรอ เรียกได้ว่านางได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หลากหลายผ่านงานนักปั้นดาราของนางมาเกือบ 20 ปี ผ่านไปราวสามจิบน้ำชาเจ้าก้อนแป้งน้อยก็เรอเอิ้กออกมาเสียงดัง ฝูฟางหรงหัวเราะน้ำหูน้ำตาไหล “นี่คือน้องเรอใช่ไหมเจ้าคะ?” “ใช่จ้ะ เสียงนี้แหละ คือเสียงเรอ เวลาที่ฟางหรงกินเยอะๆ จนแน่นท้องก็จะเรอเหมือนกัน” พูดจบฝูเฟยเมี่ยวก็ทำหน้าสลดลง ฝูฟางหรงจะมีโอกาสได้กินเยอะจนแน่นท้องตอนไหนกันเล่า ที่ผ่านมาชีวิตของเด็กน้อยนั้นมีแต่อดๆ อยากๆ “ท่านแม่ น้องง่วงอีกแล้วเจ้าค่ะ” เด็กน้อยเห็นว่าน้องชายตัวน้อยกำลังหลับสบายในท่านั่งเรอจึงรีบบอกมารดา ฝูเฟยเมี่ยวรีบเอาเจ้าก้อนแป้งใส่อู่จากนั้นก็ไกวอู่หรือเปลที่ทำจากผ้าฝ้ายห้าหกครั้ง เมื่อเห็นว่าบุตรชายหลับสนิทดีแล้วจึงหันมาบอกบุตรสาว “เรากินข้าวกันเถอะ แม่ทำข้าวต้มไว้ โชคดีที่ป้าเจินแบ่งปลาแห้งมาให้เยอะจนกินได้ตั้งหลายวัน ช่วงนี้เราทนกินแบบนี้ไปก่อนนะ เดี๋ยวแม่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะหาของกินดีๆ ให้” ฝูเฟยเมี่ยวทำข้าวต้มโดยใส่น้ำลงไปในหม้อเยอะๆ เคี่ยวจนข้าวแตกคล้ายโจ๊ก วิธีนี้จะทำให้ได้ปริมาณข้าวที่มากขึ้นด้วย ส่วนปลาแห้งนั้นนางนำไปย่างไฟอ่อนๆ จากนั้นจึงแกะก้างออกพร้อมกับแกะเนื้อปลาแยกไว้อีกชาม “เรามีข้าวต้มกับปลาแห้งกินนี่ก็ถือว่าดีมากแล้วเจ้าค่ะ เมื่อเดือนก่อนท่านแม่ยังกินแต่ข้าวต้มเปล่าๆ อยู่เลย” เด็กน้อยพูดไปกินไปโดยไม่ได้คิดอะไร ฝูฟางหรงรู้สึกว่าอาหารมื้อนี้อร่อยยิ่งนัก นานแค่ไหนแล้วที่นางกับมารดาไม่ได้กินปลาหรือว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ ‘นี่ชีวิตของเจ้าแย่ขนาดนั้นเลยหรือ ฝูเฟยเมี่ยว ฮึ!น่าสมเพชนัก ตัวเองกับลูกอดทนกินอยู่แบบอดๆ อยากๆ เพื่อเก็บหอมรอมริบเอาเงินไปให้สามีสารเลวอย่างเจ้าฉีห่าวซวนเนี่ยนะ ฮึ!ข้าจะไม่ยอมให้เด็กทั้งสองนี่ต้องมีความเป็นอยู่อย่างอดๆ อยากๆ อีกต่อไป เชื่อมือข้าสิ’ หลังกินข้าวเสร็จฝูเฟยเมี่ยวก็กลับไปเกี่ยวข้าวต่อ ร่างกายของเจ้าของร่างเดิมนี้อ่อนแอ ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงเพราะนางนั้นน่าจะขาดสารอาหาร กินอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อ เมื่อฝูเฟยเมี่ยวนักปั้นมือทองได้เข้ามาอยู่ในร่างนี้ นางซึ่งเคยชินกับการ ‘กินเยอะ’ อยู่แล้ว จึงสามารถเพิ่มน้ำหนักและเรี่ยวแรงให้แก่ร่างนี้ได้ภายในเวลาสองสามวัน “เด็กๆ ต้องการโปรตีนที่ใช้ในการเจริญเติบโต เราจะปล่อยให้ลูกกินแต่ปลาแห้งหรือข้าวต้มเปล่าๆ เช่นนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เดี๋ยวรอให้นวดข้าวเสร็จ เก็บข้าวใส่ยุ้งฉางก่อนเถอะ” ฝูเฟยเมี่ยวพูดไปก็เกี่ยวข้าวไป นางยืดตัวขึ้นเป็นระยะๆ เพราะอาการปวดหลัง นานแล้วสินะที่นางไม่ได้ทำงานใช้แรงงานเช่นนี้ สามวันหลังจากนั้นฝูเฟยเมี่ยวก็เกี่ยวข้าวในนาจำนวน 10 หมู่ได้แล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปก็คือ…การนวดข้าว หรือที่คนทางภาคอีสานของไทยเรียกว่า ‘ตีข้าว’ นั่นเอง สมัยก่อนการตีข้าวนั้นจะต้องทำ ‘ลาน’ ก่อน การทำลานก็คือการปรับพื้นดินให้แข็ง และมีการใช้ขี้วัวขี้ควายใหม่ๆ มาทาเคลือบอีกที เพื่อให้ลานนั้นมีพื้นที่แข็ง เวลาตีข้าวจะได้ตีง่าย เมล็ดข้าวหลุดออกมาจากรวงได้ครั้งละเยอะๆ ทว่า…ในยุคจีนโบราณเช่นนี้นั้นการจะหาขี้วัวขี้ควายสดๆ ใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เพราะในเขตนี้ชาวบ้านไม่ค่อยนิยมเลี้ยงวัวควายเป็นฝูง บ้านที่มีวัวเอาไว้สำหรับเทียมเกวียนนั้นมีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน ฝูเฟยเมี่ยวเพิ่งจะได้รู้ว่าการทำนาที่นี่ชาวบ้านมิได้ใช้ควายไถนา เพราะควายนั้นหายาก พวกเขาใช้จอบเสียมถางหญ้าและขุดดินให้ร่วนซุยแทนการไถ ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จก็ใช้เวลานานหลายวัน ‘เราคงจะต้องหาที่ที่พื้นดินแข็งสักหน่อยสำหรับทำลานข้าว ทำอย่างไรได้ล่ะในเมื่อหมู่บ้านนี้หาขี้วัวขี้ควายได้ยากเหลือเกิน แต่..คนอย่างเจ้นั้นบ่ยั่นดอก’ แทนที่ฝูเฟยเมี่ยวจะตัดพ้อชีวิตว่าต้องมาเจอกับความยากลำบาก ตรงกันข้าม นางกลับนึกสนุกกับการใช้ชีวิตในยุคโบราณที่ไร้เทคโนโลยีเช่นนี้ซะอีก สามวันต่อมา ฝูเฟยเมี่ยวก็นวดข้าวคนเดียวจนแล้วเสร็จ ในขณะที่ชาวบ้านรายอื่นๆ ก็กำลังเกี่ยวข้าวและนวดข้าวของพวกเขาเช่นกัน ปีนี้สตรีหลังคลอดอย่างฝูเฟยเมี่ยวนั้นนวดข้าวเสร็จก่อนเพื่อนบ้าน นางตากข้าวในแดดจัดๆ ต่ออีกสองวัน หลังจากนั้นก็เก็บข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางเก็บข้าวซึ่งอยู่ข้างๆ เรือนนั่นเอง “ปีนี้เจ้าได้ข้าวเยอะกว่าทุกปี” ป้าเจินพูดอย่างตื่นเต้นเมื่อชะโชกหน้าขึ้นไปมองในยุ้งฉางเก็บข้าว วันนี้นางแวะเอาจิ้งหรีดคั่วมาให้ ฝูเฟยเมี่ยวแบ่งข้าวสารใหม่ให้หญิงชราเป็นการตอบแทนบ้างเพราะตอนนี้ข้าวในนาของป้าเจินยังเกี่ยวไม่เสร็จ “ท่านป้าเจิน อันที่จริงข้ามิได้ข้าวมากกว่าทุกปีหรอกเจ้าค่ะ ข้าคิดว่าก็ได้เท่าเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ปีนี้ข้าไม่ต้องแบ่งข้าวให้พี่สาวของอดีตสามีเฮงซวยแล้ว ข้าจึงมีข้าวในยุ้งฉางเยอะกว่าทุกปี เมื่อเช้าคนของเถ้าแก่เหวยก็มารับซื้อถึงบ้าน ข้าตัดใจขายไป 1 เกวียน ได้เงินมา 5 ตำลึง ที่ขายเพราะอยากมีเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายยามจำเป็นเจ้าค่ะ” ป้าเจินมองนางด้วยใบหน้ายิ้มๆ ตอนนี้สตรีอ่อนแอที่หัวอ่อนยอมให้ผู้คนโดยเฉพาะพี่สาวของอดีตสามีกดขี่ข่มเหงได้เปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ ป้าเจินดีใจที่ฝูเฟยเมี่ยวนั้นเป็นคนใหม่ เข้มแข็ง แข็งแรงและเก่งกาจ นางเป็นสตรีหม้ายสามีทิ้ง ต้องเลี้ยงลูกตัวคนเดียว ป้าเจินนึกๆ แล้วให้เวทนาสตรีผู้นี้ยิ่งนัก “ดีแล้ว คราวนี้เจ้าจะได้มีเงินมีทองเหมือนกับคนอื่นเขามั่ง มิใช่เก็บเงินได้เท่าไหร่ อาซวนก็มาเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนเสียหมด แล้วนี่ เจ้าจะทำอันใดต่อไป?” ป้าเจินถามอย่างห่วงใย สตรีผู้นี้ไม่รู้หนังสือ หากทำการค้าขายก็เกรงว่าจะโดนผู้คนเอาเปรียบหรือหลอกลวงได้ง่าย แต่หากจะทำการเกษตรเหมือนที่เคยทำมาก็คงจะพอได้อยู่ ฝูเฟยเมี่ยวหรี่ตาพลางครุ่นคิด ทำอะไรต่อไปเช่นนั้นหรือ ทำไมโครงการในหัวของนางมันมากมายซะเหลือเกิน เริ่มจากสิ่งใดก่อนดี หญิงสาวมองดูจิ้งหรีดคั่วในถ้วยกระเบื้องที่ป้าเจินแบ่งมาให้ พลัน…นางก็ตัดสินใจได้ ใช้ต้นทุนที่ไม่ต้องซื้อหา แต่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ “เลี้ยงจิ้งหรีดเจ้าค่ะ” “หา! ว่าอย่างไรนะ?จิ้งหรีดเลี้ยงได้ด้วยหรือ” ป้าเจินอุทานออกมาด้วยความแปลกใจ ฝูเฟยเมี่ยวยกยิ้มมุมปาก จิ้งหรีดนั้นแม้จะมีอยู่ตามธรรมชาติก็จริง แต่…ก็ไม่ได้หาจับได้ง่ายๆ บางฤดูแทบจะไม่มีจิ้งหรีดออกมาร้องให้ได้ยินเลย กว่าที่ป้าเจินจะจับจิ้งหรีดมาได้สักจานหนึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วยาม แต่ฝูเฟยเมี่ยวจะใช้ประสบการณ์ที่นางได้ติดตามเด็กในสังกัดไปถ่ายทำรายการมาใช้ในการทำมาหากินในครั้งนี้ ‘ฟาร์มจิ้งหรีดอย่างไรล่ะ’
Free reading for new users
Scan code to download app
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    Writer
  • chap_listContents
  • likeADD