บทที่ 7

1251 Words
บทที่ 7 สมุดบันทึกที่ผมเขียนไว้ในสมัยยังหนุ่มแน่นนั้น มีเรื่องราวของชาวบ้านมากมายหลากหลายชีวิตที่นำมาเขียนไว้ วันนี้อ่านแล้วถึงต้องก่นด่าตัวเองอยู่ในใจตะบี้ตะบันเขียนไปได้ยังไงกับสิ่งที่มันไม่ใช่ความจริง อย่างเช่นเรื่องนี้…..! ในวันหยุดอันเงียบสงบ ผมนั่งคิดปลอบปะโลมหัวใจความเป็นหนุ่มอยู่ในเวทนาตัวเอง อยู่ๆแทนที่จะมีหญิงสาวสักคนเดินผ่านมาให้เห็นเงาบ้างก็คงดีไม่ใช่น้อย แต่ก็มีชายชราคนหนึ่งปรากฎกายขึ้นท่ามกลางบรรยากาศสลัวสลางในยามบ่าย ร่างผอมเกร็งแต่ก็ดูขึงขัง แข็งแรงตามสภาพสังขารที่เหลืออยู่ เส้นผมสั้นเกรียนสีขาวใสจนมองเห็นหนังศีรษะชมพูเรื่อเรือง เส้นประสาทสีเขียวฟูฟองขึงรอบบริเวณรอยขมับที่กระตุกเต้นเบา ๆ หลังจากจอดรถจักรยานสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้ข้างอาคารเรียน แกก็รีบเดินรุดมาหาผมอย่างทะมัดทะแมง สำหรับคนอายุปูนนี้ ในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตก็จัดอยู่ในขั้นเยี่ยมยอดทีเดียว แกพยายามใช้มือลูบใบหูกระตุ้นการฟังให้เป็นปกติ “ครูใหญ่ครับ...ขอรบกวนสักเล็กน้อยช่วยออกหนังสือรับรองให้ฉันด้วย” “เปล่าครับ ผมไม่ใช่ครูใหญ่ครับ” “อ้อ ขอโทษครับ ไม่เป็นไร ครูน้อยก็ได้” “ว่าแต่ว่า จะให้ผมรับรองเรื่องอะไรครับ” “รับรองว่าฉันยังไม่ตาย” “เอ...เรื่องเป็นมายังไงครับ” “คิอว่า ทางเสมียนตราจังหวัดไม่เชื่อว่าฉันยังมีชีวิตอยู่ เขางดจ่ายเงินบำนาญมาสิบเดือนแล้ว” “โอ…!” ผมเบิกตาโพลง “ให้ผมรับรองการมีชีวิตอยู่หรือครับ” “ใช่ “แกพูดอย่างคนมีความหวัง “คนของทางราชการหน่วยงานไหนๆไม่มีใครเชื่อว่าฉันยังไม่ตาย ไม่มีใครกล้ายืนยันว่าฉัน นายบุญมาก คนนี้ยังหายใจอยู่” “ละ แล้วตอนนี้พ่อเฒ่าอายุเท่าไรแล้ว” “หนึ่งร้อยสิบสองปีถ้วนๆ นี่ไงบัตรประจำตัว ผมเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนนี้ ถ้าไม่เชื่อก็ตรวจสอบสมุดหมายเหตุประจำวันเก่าๆดูก็ได้ว่ามีคนนี้ นามสกุลนี้ปรากฏในทำเนียบครูใหญ่หรือไม่” “...อ๋อ...รู้แล้วพ่อใหญ่นี่เองนายบุญมาก บุญพามา ขนาดผมก็ยังคิดว่าพ่อใหญ่ไปสวรรค์แล้ว” “ยัง แหม ช่างแช่งกันเลย ยังอีกนาน” “เรื่องรับรองนั้นไม่มีปัญหา ยังไงเสียพ่อใหญ่ยังมีลมหายใจอยู่ก็ดีแล้ว ผมขอถามอะไรสักหน่อยนะครับ” ข้าราชบำนาญเฒ่าหัวเราะเจื่อน ๆ “จะถ่ม เฮ้ย จะถามเอาไปทำอะไร” “สารสนเทศครับ โรงเรียนจะจัดเป็นข้อมูลวิชาท้องถิ่น” “ยังมีใครสนใจอยู่หรือ ! แล้วใยไม่เชื่อว่าฉันยังมีชีวิตอยู่เล่า” ชายชราบ่นอย่างน้อยใจ “อย่างน้อยก็ผมนี่แหละที่เชื่อว่าพ่อใหญ่ยังไม่ตาย” “ฮื่อ...!” “ผมขอเริ่มถามเลยนะครับ...อันดับแรกขอทราบประวัติโรงเรียนว่ามีความเป็นมาอย่างไร” “ประการแรก ชาวบ้านอยากให้ลูกหลานมีความรู้ มีสติปัญญา จึงพร้อมใจกันหักร้างถางพงที่นี่ ตรงป่าช้านี้แหละ ตัดต้นไม้ลงทำเสา ทำแผ่นกระดานแล้วปลูกอาคารไม้ขึ้นมาหลังหนึ่ง โดยใช้เงินบริจาคจากชาวบ้านจำนวน 89 บาท 50 สตางค์ เป็นการก่อสร้างที่ใช้เงินมากที่สุดในสมัยนั้น แล้วก็มอบหมายให้ฉันเป็นครูสอนลูกหลานมาตั้งแต่บัดนั้น เนื่องจากฉันเคยบวชเรียนมาก่อน มีเงินเดือนได้มาจากขาวบ้านช่วยกันบริจาคเรียกว่าเงินพลีกรรม” “พ่อใหญ่เป็นครูใหญ่ที่นี่” “เป็นทั้งครูใหญ่ ครูน้อย รวมเวลา 51 ปี 7 เดือน 21 วัน” “เด็กนักเรียนสมัยนั้นมีนิสัยอย่างไร” “โดยรวมก็ถือว่าปกครองง่าย ไม่ดื้อ ไม่เถียง ไม่...ไม่...ไม่อะไรนะ...ไม่ทะลึ่งตึงตัง เป็นคนกลัวครู กลัวพระสงฆ์องค์เจ้า โดยเฉพาะกลัวทหาร ตำรวจกับเจ้านายในเมืองนั้นกลัวยิ่งกว่าภูตผีปีศาจเสียอีก” “พ่อใหญ่คิดอย่างไรกับเด็กสมัยนี้ที่ถูกสอนให้กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ” “ดี แต่อย่าเกินขอบเขต ความกล้าเหมือนดาบสองคน คมหนึ่งหันไปหาคนอื่น อีกคมหนึ่งหันเข้าหาตัวเอง” “แล้วสภาพภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อมทั่วไปเป็นอย่างไรในสมัยนั้น” “แถบถิ่นนี้เป็นป่าดงดิบทั้งนั้น แสงตะวันส่องไม่ถึงพื้น ซ้ายมือของเราเป็นดงตะเคียน มะค่า ประดู่ ส่วนขวามือคือ ดงลาน ดงตาล ประเภทสัตว์มีทุกอย่าง ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกกระเรียน นกยุง แม้กระทั่งเสือ ช้าง สิงโตยังเคยเดินผ่านแถวนี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตอนที่ปอ ฝ้ายมีราคา มีผู้คนจากทั่วสารทิศแห่กันมาจับจอง ปักปันเขตแดน ไม่ต้องซื้อเพราะที่ดินไม่มีเจ้าของ ใครขยันถากถางก็ได้มาก ใครขี้เกียจก็ได้น้อยหรือไม่ได้เลย” “พ่อใหญ่คิดว่าความเป็นอยู่ของผู้คนในอนาคตจะเป็นอย่างไร” “เจริญ...ร่ำรวย ! เป็นเศรษฐี ! “ “เป็นความจริงแค่ไหน” “เป็นส่วนน้อย คือกินดีอยู่ดีเป็นส่วนน้อย ในขณะที่ส่วนใหญ่ยังฝืดเคือง ขัดสน” “สาเหตุมาจากอะไร” “ เพราะการทำเพื่อขายแล้วซื้อกินเป็นที่มาของความทุกข์ คนจะคบกันเพราะหวังผลประโยชน์ทางวัตถุคือเงินทองเป็นสำคัญ ต่อไปจะไม่มีพี่ ไม่มีน้อง แก้ปัญหาความขัดแย้งกันด้วยความรุนแรง มีแต่ความอาฆาตพยาบาทกันไม่สิ้นสุด” “แล้วประวัติหมู่บ้านมีความเป็นมาอย่างไรครับ” “เหมือนนิทาน...เหลือเชื่อ...” ”หมายความว่ายังไง” “เรื่องมันยาว เอาไว้วันหลังจะเล่าให้ฟัง” พ่อเฒ่าพูดตัดบทอย่างรำคาญ พลางชะเง้อมองจักรยานสับปะรังเคของแกอย่างเป็นห่วง “ขอรบกวนถามเป็นข้อสุดท้าย ก่อนที่ผมจะเขียนหนังสือรับรอง” “ได้ รีบถามมา” “เมื่อเยาวชนได้รับการศึกษาสูงขึ้น สังคมของเราจะดีขึ้นหรือไม่” ในขณะผมกำลังก้มหน้าร่างหนังสือรับรองการมีชีวิตของแกอยู่นั้นผมก็ฟังแกสาธยายไปด้วย “อาจไม่จริงเสมอไป พวกเขาอาจไม่ได้รับอนุญาตให้รู้อะไรไปเสียทั้งหมดหรอก ลองนึกเล่นๆถ้าประชาชนรู้ว่ามีจะอะไรรอพวกเขาอยู่ในวันข้างหน้า อำนาจบางอย่างที่กดข่มอยู่จะหมดสภาพภายในเวลาชั่วข้ามคืน ฉันไม่ได้พูดเกินความจริงเลยพ่อหนุ่ม จะเกิดการจลาจล การข่มขืน การปล้นสดมภ์และตามมาด้วยสภาวะสูญญากาศทางอำนาจคือไม่มีอำนาจอะไรเลย” “เป็นไปไม่ได้แน่”ผมอดขัดคอคนแก่ไม่ได้ “ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นทั้งในที่มืดและที่แจ้ง ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายนั่นคือความเสื่อมถอยทางจิตใจ คือความเสื่อมทรุดของศรัทธาที่เคยมีต่อสวรรค์……” เสียงไอของพ่อเฒ่าดังโขลกๆ แล้วเบาหวิวคล้ายกับเสียงใบไม้ร่วงดังหวีดหวิวอยู่บนหลังคา แล้วร่างที่ยืนอยู่ตรงหน้าผมก็เหลือเพียงเงาซึ่งค่อยๆเจือจางลง ก่อนจะมีเสียงหมาหอนดังมาจากบ้านน้อยขี้หมาจอกหน้าโรงเรียนนั้น แล้วผมก็มองเห็นเมียและลูกๆของนายโวชะเง้อชะแง้อย่างกังวลกับเสียงหมาหอนอยู่หน้าบ้านนั้นดูอลวนไปหมด
Free reading for new users
Scan code to download app
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    Writer
  • chap_listContents
  • likeADD