JIN JIN : รอบนี้ไปบ้านเด็กกำพร้า ฉันแอบถามพี่รหัสมาแล้ว
ระริน ไม่ใช่ ละลิน : ไปค่า ไม่พลาด
ระริน ไม่ใช่ ละลิน : รักเด็ก อยากเลี้ยงเด็ก
JIN JIN : เด็กแบบไหนคะ
ระริน ไม่ใช่ ละลิน : เด็กทุกแบบค่ะ เด็กโตยิ่งดี
JIN JIN : พักเรื่องผู้ชายก่อนนะคะมุง วันก่อนเมาหยั่งหมา
ฉันแอบขำกับข้อความที่พวกนั้นคุยกันในกลุ่มแชตของพวกเราสามคน เพราะตอนนี้มือยังไม่ว่างจะตอบเลยได้แต่อ่านข้อความที่พวกมันคุยเล่นกัน
JIN JIN : ไปไหมน้ำค้าง อ่านไม่ตอบ
ระริน ไม่ใช่ ละลิน : ไม่ใช่แชตผู้ชาย เพื่อนดองก่อนค่ะ !
NAMKHANG : ทำขนมช่วยยายอยู่จ้า สาว ๆ อ่านแล้ว รับรู้แล้ว โอเคนะ
ฉันใช้นิ้วที่ยังไม่เปื้อนน้ำตาลจิ้มลงไปบนหน้าจอมือถือรุ่นเก่า ๆ ของตัวเองแล้วกดส่งข้อความเสียง ลำพังมันก็จะพังมิพังอยู่แล้วเลยต้องจิ้มเบา ๆ หลายทีเพราะยังไม่มีเงินจะซื้อหรอก เครื่องนี้ยายซื้อให้ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่มอสี่แล้ว
JIN JIN : อยากไปช่วย อยากไปเที่ยวบ้านน้ำค้างคนสวยจังเลยค่ะ
ระริน ไม่ใช่ ละลิน : เห็นแก่กิน เรื่องช่วยอย่ามาพูด
ฉันหัวเราะกับข้อความของพวกมันที่เถียงกันไปมา พลางทำไส้ขนมให้ยายไปด้วย ทำไส้แค่อย่างเดียวแต่ยายเอาไปทำขนมได้หลากหลายเลย ถ้าเป็นตลาดนัดตอนเช้าในช่วงวันหยุดรับรองว่าขายหมดทุกครั้งไม่เคยเหลือกลับบ้าน
“ทำเสร็จแล้วเก็บให้ยายด้วยนะเดี๋ยวมดขึ้น แล้วก็มาเก็บใบตองให้ยายหน่อย”
“ค่า~”
ฉันขานรับแล้วทำงานของตัวเองให้เสร็จตามที่ยายสั่ง ช่วยยายเก็บกวาดเรียบร้อยแล้ว พอสามทุ่มก็เข้าห้องนอน แต่ยังไม่ได้นอนหรอกเพราะอยู่ ๆ ก็มีสายโทรเข้าจากใครบางคนโทรเข้ามาขัดจังหวะก่อนที่หัวจะถึงหมอนด้วยซ้ำ
(...)
“...ฮัลโหล ใครคะ”
ฉันกดรับสายแล้วรอให้อีกฝ่ายพูดแต่ปลายสายกลับเงียบกริบจนต้องเอ่ยทักไปแทน ฉันเกือบจะกดวางสายเมื่ออีกฝ่ายยังคงเงียบ แต่อยู่ ๆ เขาก็พูดขึ้น เสียงเข้มนั้นทำให้ฉันต้องขมวดคิ้วเพราะเท่าที่จำได้ฉันไม่เคยให้เบอร์ตัวเองกับคนที่ไม่รู้จัก
(“เธอ...”)
“คะ คุณเป็นใคร”
(“เจ้าของรถที่เธอต้องรับผิดชอบ”)
พอได้ยินคำตอบฉันแทบอยากกดวางสายใจจะขาด แต่จิตใต้สำนึกที่มันมีความเป็นคนดีอยู่ห้ามเอาไว้ อีกอย่างเขามีข้อมูลของฉันทั้งหมดแถมยังยึดบัตรนักศึกษาของฉันไปอีก
จริงอยู่ว่ามันสามารถไปขอทำใหม่ได้ แต่วันนั้นฉันพูดไปแล้วว่าถ้าตัวเองไม่รับผิดชอบให้ตามมาจากที่อยู่นั้นได้เลย ซึ่งข้อมูลบนบัตรนั้นมันก็เป็นข้อมูลจริงทุกอย่าง เผลอ ๆ จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปด้วย โดยเฉพาะยาย
“คะ...คุณ เจ้าของรถวันนั้น”
(“อืม”)
“หนูต้องชดใช้ให้เท่าไรคะ แต่บอกก่อนว่าหนูยังเรียนอยู่ ถ้ามันมากมายหนูคงไม่มีปัญญาจ่าย ถ้าสองสามพันไหวอยู่”
(สองสามพัน ?)
น้ำเสียงที่เอ่ยออกมาจากปลายสายมันบ่งบอกอารมณ์ได้หลายอย่าง ทั้งตกใจ ทึ่ง หรืออาจกำลังโมโหอยู่ด้วย วินาทีนั้นฉันรู้สึกได้ว่าเรื่องนี้มันคงไม่จบง่าย ๆ แน่ ทั้ง ๆ ที่เกือบจะลืมไปแล้วเพราะเขาไม่ติดต่อมาเลยตั้งสามวัน
“ค่ะ ตอนนี้หนูมีเงินแค่นี้ บ้านหนูจน”
(“เธอทำคนอื่นเดือดร้อนแล้วจะปัดความรับผิดชอบเหรอ”)
“ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบ แต่หนูบอกว่ามีแค่นี้ ถ้ามากกว่านี้จ่ายไม่ไหว”
จะทำอย่างไรได้ล่ะ ในเมื่อฉันไม่มีจริง ๆ ไม่อยากบอกเรื่องนี้กับยายด้วย เพราะฉันไม่อยากให้ยายต้องคิดมากและมาลำบากเพราะตัวเอง แค่เรื่องน้าอิฐก็น่าปวดหัวพอแล้ว
(“ฉันไม่ได้อยากฟังปัญหาชีวิตใคร แต่เธอต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เธอทำให้รถฉันพัง”)
“คุณก็ไม่ได้เป็นอะไรนี่คะ รถก็แค่ถลอกไม่ใช่เหรอ” ฉันเดาว่าอย่างนั้น เพราะวันนั้นเขาพุ่งไปหาพงหญ้าเท่านั้นเอง
(“เธอรู้ไหมว่ารถมันราคาเท่าไร ค่าซ่อมห้าหมื่นฉันจะเก็บกับเธอแค่สองหมื่น เธอต้องหามาจ่ายไม่อย่างนั้นเธอเดือดร้อนแน่”)
“สองหมื่นเลยเหรอ...”
(“อืม วันจันทร์ตอนเช้าฉันจะไปหาเธอที่คณะ หาเงินมารับผิดชอบด้วย”)
“...”
(“ถ้าเธอตุกติก บอกเลยว่าเธอไม่รอด”)
“อย่ามาข่มขู่นะ บอกก่อนว่าหนูไม่มีให้คุณหรอก ถ้าจะให้จ่ายก็ต้องรอ หนูต้องทำงานพาร์ตไทม์มาจ่ายให้”
(“บอกพ่อแม่เธอดิวะ อย่ามาโกหกว่าไม่มี หรือไม่ได้ ฉันเป็นคนเสียหายให้เธอจ่ายไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ”)
“หนูไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีเงินสองหมื่นที่คุณอยากได้ อีกอย่างค่าซ่อมมันเท่าไรหนูยังไม่ได้เห็นเลย คุณมาหลอกเอาเงินหรือเปล่า”
(“กูมาเจอกับคนแบบไหนวะเนี่ย”) เขาสบถแล้วบ่นกับใครสักคนที่อยู่ด้วยกันนั้นก่อนจะกรอกเสียงผ่านปลายสายเข้ามาต่อว่า
(“วันจันทร์มาเจอกันหน่อย จะเอายังไงค่อยว่า แต่ฉัน ต้อง ได้ เงิน”)
ฉันกลืนน้ำลายเหนียว ๆ ลงคอเมื่อเขาย้ำคำพูดนั้นแล้วก็ตัดสายไป คำพูดของเขาแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ขู่แน่ ๆ ถึงแม้ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครแต่ฉันสัมผัสได้ถึงความมีอำนาจบางอย่าง