ย้อนอดีต 1.1

1738 คำ
เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลกำลังทำกิจกรรมอยู่ในสนาม วันนี้คุณครูพาเด็กๆ มาออกกำลังกายและเรียนรู้เรื่องการปลูกต้นไม้ แต่ด้วยความเป็นเด็กจึงวิ่งเล่นกันเสียส่วนใหญ่           “โอ๊ย!” เสียงร้องเจ็บดังจากปากเด็กหญิงรสสุคนธ์หรือน้องหวาน ที่ถูกเด็กชายอัศวินหรือโด่งแกล้งด้วยการดึงหางเปียแรงๆ จนอีกฝ่ายหน้าหงาย และไม่เพียงแค่ร้องเจ็บ น้องหวานยังร้องไห้อีกด้วย           “โด่ง เธอแกล้งหวานทำไม” คนถามเดินมาหาเพื่อนที่ถูกแกล้ง และถามหัวโจก นำตัวมาขวางร่างน้องหวาน ปกป้องเพื่อนเต็มที่ แม้ว่าเด็กชายยศวินจะตัวใหญ่กว่า ทว่ากัญญาพัชรก็ไม่กลัว           “ก็อยากแกล้ง” โด่งตอบกวน           “เธอเป็นผู้ชายนะ รังแกผู้หญิงไม่ดี แม่บอกว่าผู้ชายที่รังแกผู้หญิงเป็นผู้ชายไม่ดี” เด็กหญิงกัญญาพัชรหรือน้องขนมต่อว่าเพื่อน           “แล้วมายุ่งอะไรด้วย เราไม่ได้แกล้งเธอซะหน่อย”           “เราช่วยหวาน หวานเป็นเพื่อนเรา เธอห้ามแกล้งหวานอีกนะ ถ้าแกล้งอีกเจอดีแน่” หนูน้อยน้องขนมบอกอัศวินที่ลอยหน้าลอยตาไม่เชื่อฟัง           “เราจะแกล้ง แกล้งเธอด้วย” พูดจบก็ผลักหัวไหล่กัญญาพัชร แต่หารู้ไม่ว่า คนที่อัศวินกำลังแกล้งไม่เหมือนรสสุคนธ์ที่ยอมให้แกล้งง่ายๆ กัญญาพัชรผลักอัศวินและใช้กำปั้นน้อยๆ ชกไปที่หน้า แม้ว่าน้ำหนักในการชกจะไม่แรงมาก แต่ก็ทำให้อัศวินร้องไห้จ้า วิ่งไปฟ้องครู “น้องขนมแกล้งโด่งทำไมครับ” นิรมลเดินมาพร้อมกับอัศวินที่ตอนนี้สะอื้นไห้ “โด่งมาแกล้งน้อนขนมก่อนค่ะ แล้วก็แกล้งหวานด้วย หวานก็ร้องไห้” กัญญาพัชรบอกคุณครู “ใช่ค่ะคุณครู โด่งแกล้งหนูค่ะ แล้วก็แกล้งขนมด้วยค่ะ” น้องหวานพูดเสริม “โด่งทำอย่างนั้นหรือเปล่าครับ” ครูถามโด่งที่พยักหน้า “เป็นเพื่อนกันอย่าแกล้งกันนะครับ ต้องรักกัน ช่วยเหลือกัน โด่งทำผิดโด่งต้องขอโทษขนมกับหวานนะครับ” “เราขอโทษ” น้องโด่งเอ่ยเสียงเบา กัญญาพัชรยิ้มเอื้อมมือมาจับมือโด่ง “เราไปเล่นกันเถอะ” ความเป็นเด็กยังไม่รู้เรื่องรู้ราว เมื่อกี้ยังทะเลาะกัน ตอนนี้พากันไปวิ่งเล่นในสนามรวมกับเพื่อนๆ นิรมลยิ้มเมื่อเห็นความไร้เดียงสาของนักเรียนที่ตนดูแล โดยเฉพาะกัญญาพัชรที่มีความแสบและความน่ารักไปในตัว เป็นเด็กหญิงที่ไม่ให้ใครมารังแก และไม่เคยไปรังแกใครก่อน แถมยังชกและเตะเก่งด้วย เธอเคยถามว่าใครสอน คำตอบที่ได้คือ มารดา           ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น...   มือถือยี่ห้อดังถูกวางอยู่ตรงขาตั้งมือถือที่ปรับระดับได้สี่ระดับความสูงถึงสองเมตร เจ้าของมือถือกดตั้งระบบถ่ายวิดีโอไว้ ก่อนรีบวิ่งมายืนประจำที่เตรียมตัวถ่ายวิดีโอพร้อมกับกัญญาภรณ์และกัญญาพัชรหลานสาว           “พร้อมนะ...ไป” กัญญาภรณ์บอกชุติมาและกัญญาพัชรลูกสาว จากนั้นเสียงเพลงก็ดังขึ้น ทั้งสามกำลังร้องเพลงโคฟเวอร์เพลงยอดฮิตที่ดาราและคนดังต่างพากันทำคลิปลงยูทูป นั่นคือเพลงซุปเปอร์วาเลนไทน์ ศิลปินสามสาววง ซุปเปอร์วาเลนไทน์ สองสาวหนึ่งเด็กหญิงร้องและเต้นท่าเต้นตามที่ซักซ้อมไว้ จนมาถึงท่อนสำคัญของเพลง ทั้งสามก็ผลัดกันร้องทีละคน เริ่มจากเด็กหญิงกัญญา-พัชรวัยสี่ขวบ สวมชุดเดรสยีนลายการ์ตูน ผมหยักศกยาวเลยบ่ามาเล็กน้อยถูกเกล้าสูงมีที่คาดผมมงกุฎสวมไว้กลางศีรษะ ปล่อยผมหน้าม้าไว้เช่นเคย กัญญาภรณ์ยืนอยู่ข้างซ้าย ส่วนชุติมายืนอยู่ข้างขวา “เจนค่ะเจนค่ะ หนูชื่อเจนมากับนุ่นและก็มากับโบว์” เด็กหญิงตัวน้อยเต้นไปตามท่วงท่าที่ชุติมาสอน ตามองมือถือและยิ้มอย่างมีความสุขก่อนส่ายสะบัดไปตามจังหวะ มืออูมๆ ทำท่าทางถูอยู่ตรงบริเวณแก้มทั้งสองข้างอย่างน่ารัก “นุ่นค่ะนุ่นค่ะหนูชื่อนุ่นมากับเจนและก็มากับโบว์” ท่อนนี้กัญญาภรณ์เป็นคนร้อง เธอสะบัดเอวพลิ้วไหวอย่างสวยงาม ราวกับว่าเป็นนักเต้นมืออาชีพ “โบว์ค่ะโบว์ค่ะหนูชื่อโบว์มากับนุ่นและก็มากับเจน” เจ้าของท่อนนี้คือชุติมา ก่อนที่ทั้งสามจะร้องเพลงพร้อมกัน เต้นท่วงท่าเหมือนกัน จนกระทั่งจบเพลง “น้าขอไปดูก่อน” ชุติมาเดินไปหยิบมือถือมาเปิดดูคลิปที่อัดไว้ “โห...เพอร์เฟ็กสุดๆ” “ไหนๆ ขอดูหน่อย” กัญญาภรณ์มายืนข้างชุติมา ก้มหน้าดูคลิปที่อัดไว้เมื่อครู่ “เพอร์เฟ็กจริงด้วย” “แม่จ๋า น้อนขนมหิวข้าว” มีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เข้าไปดูคลิป เนื่องจากท้องร้องประท้วงหิว กัญญาพัชรมีปัญหาเรื่องออกเสียง ง.งู ซึ่งออกเสียงไม่ได้ คำว่าน้องจึงเป็นคำว่าน้อน เวลาเรียกแทนตัวเสียงที่ออกมาคือ น้อนขนม “น้าทำไข่พะโล้ไว้ เดี๋ยวน้าไปตักให้นะ” ชุติมาบอกหลาน “น้อนขนมไปเอากะมังให้ค่ะ” กัญญาพัชรรีบวิ่งเข้าไปในครัว โดยมีชุติมาเดินตามไป เด็กหญิงหยิบชามข้าวใบโตที่ใหญ่กว่าชามปกติและทำจากสแตนเลสที่ตัวเองเรียกว่า กะมังที่ย่อมาจากกะละมังมาวางไว้ใกล้หม้อหุงข้าว “เมื่อไหร่จะเลิกกินในชามใบนี้สักที รู้ไหมว่ามันใหญ่มาก” ชุติมาถามหลาน “น้อนขนมชอบ เหมือนไอ้ด่านไงคะ มันก็กินในกะมังใบใหญ่” คนเป็นน้าส่ายหัวและยิ้มกับคำพูดของหลานสาว เป็นเพราะเธอแท้ๆ กัญญาพัชรถึงได้ยึดชามสแตนเลสใบนี้เป็นชามข้าวประจำตัว วันนั้นเธอนั่งกินข้าวอยู่หน้าบ้านกับหลานสาว ป้ายุ่งข้างบ้านนำข้าวมาให้ไอ้ด่างหมาบ้านฝั่งตรงข้ามที่เจ้าของบ้านไว้วานให้ป้ายุ่งเอาข้าวมาให้หมาตัวเอง เป็นเพราะเจ้าของบ้านกลับบ้านไม่เป็นเวลาจึงห่วงหมาของตน กัญญาพัชรเมื่อเห็นกะละมังข้าวที่ป้ายุ่งวางไว้ก็พูดตามประสาเด็ก “ไอ้ด่านกินข้าวเยอะจัง กินชามเบ้อเริ่ม” “ไอ้ด่างมันกินจุไง กินจุเหมือนขนมน่ะ แต่มันกินทีเดียวใส่กะละมัง ไม่เหมือนขนมที่กินหลายชามก็ต้องตักหลายครั้ง” “ถ้างั้นน้อนขนมก็กินทีเดียวเหมือนไอ้ด่าน น้ายูจะได้ไม่ต้อนเหนื่อยตักหลายครั้น” พูดจบเด็กหญิงก็วิ่งเข้าไปในบ้านกลับมาพร้อมกับชามสแตนเลสที่เอาไว้สำหรับทำยำ ทำขนมและแช่ผักมาให้ชุติมา “น้ายูเทข้าวใส่กะมังให้น้อนขนมหน่อย” “ใส่ทำไมคะ” ชุติมาถามหลาน “น้อนขนมจะกินเหมือนไอ้ด่านค่ะ กินในกะมัง กินจุกินทีเดียว” ชุติมาอมยิ้มกับคำพูดช่างจ้อของหลานสาว และนับตั้งแต่นั้นกัญญาพัชรก็มีชามข้าวประจำตัว “กินจุแบบนี้ระวังอ้วนนะ อ้วนแล้วไม่สวยนะจะบอกให้” “น้อนขนมไม่กลัวอ้วน น้อนขนมกลัวอดตาย” เด็กหญิงพูดไปเรื่อย ชุติมาส่ายหัวก่อนส่งชามข้าวให้หลานสาวที่รีบวิ่งไปนั่งกินตรงโต๊ะหน้าทีวี ชุติมามองหลานสาวแล้วหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้หลายรูป ทั้งหน้าตรง ด้านข้างทั้งข้างซ้ายและขวา ยืนยิ้มกับภาพที่อยู่ในมือถือ “ยืนยิ้มแบบนี้จะส่งไปให้เขาอีกล่ะสิ” กัญญาภรณ์ถามอย่างรู้ทัน “ก็ใช่น่ะสิ นี่ก็ไม่ได้ส่งให้ดูปีกว่าแล้วนะ กระตุ้นให้นายหัวสิงห์ดิ้นพล่านซะหน่อย สะใจพี่ไม่ใช่เหรอ” “ก็ดีเหมือนกัน ไม่ได้ส่งไปนานแล้ว ป่านนี้คงดูแต่รูปเก่าๆ ส่งไปครั้งนี้เอารูปนี้นะ ไม่ต้องให้เห็นหน้า เห็นแต่ข้างๆ เหมือนครั้งก่อน จะได้ดิ้นเหมือนหมาโดนน้ำร้อนลวก” ตั้งแต่ส่งไปครั้งแรกตอนกัญญาพัชรได้สามวัน กัญญาภรณ์ได้ส่งภาพลูกสาวไปให้สิงหนาททุกสามเดือน แต่มาห่างตอนลูกสาวได้ขวบกว่า มาส่งให้ดูหน้าลูกสาวอีกครั้งตอนสองขวบสามเดือน จากนั้นอีกสี่เดือนก็ส่งให้ดูอีกหนึ่งภาพ ห่างอีกเจ็ดเดือนก็ส่งอีกภาพหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นก็ไม่ได้ส่งอีกเลย ทุกครั้งที่กัญญาภรณ์ส่งรูปน้องขนมให้สิงหนาทดู สิงหนาทจะมาบ้านพจน์ทุกครั้งเพื่อถามหาตน ทว่าพจน์ไม่รู้ว่ากัญญาภรณ์อยู่ไหน คุยกันแต่ละครั้งลูกสาวคนโตจะเป็นฝ่ายโทรหาด้วยเบอร์ใหม่ พอคุยเสร็จก็หักซิมทิ้ง ทำอย่างกับว่าไม่อยากให้ใครรู้ว่าตัวเองอยู่ที่ใด หายเข้ากลีบเมฆพร้อมลูกสาวและชุติมา ความรู้สึกของสิงหนาทตอนนี้เหมือนปลากำลังว่ายอยู่ในคลองเกือบแล้งน้ำ จะตายก็ตายไม่ได้ จะอยู่ก็อยู่แบบทรมาน เห็นหน้าลูกแต่ไม่ได้ชิดใกล้และอุ้มชู มันคือความทรมานอันเจ็บปวด กัญญาภรณ์รู้เรื่องนี้ดี เธอไม่สงสารสิงหนาท กลับสะใจที่เขาเป็นเช่นนี้ คิดพรากลูกไปจากตนเหรอ...ไม่มีทาง           ขณะที่ชุติมากำลังส่งภาพไปให้สิงหนาทด้วยวิธีเดิม คือสร้างแอปโคลนขึ้นมาในมือถือ ก่อนสมัครไลน์ใช้เข้าระบบด้วยเฟสบุ๊กที่สร้างขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ใช้วิธีนี้เขาไม่มีทางสืบหาคนส่งได้ พอส่งเสร็จก็ทำการบล็อกทันที สิงหนาทเปิดอ่านข้อความได้แต่ไม่สามารถโต้ตอบกลับมาจนกว่าชุติมาจะปลดบล็อก ซึ่งชุติมาจะปลดบล็อกก็ต่อเมื่อส่งภาพให้พ่อของน้องขนมดู แล้วที่รู้ว่าสิงหนาทคลั่งยามได้ดูหน้าลูกเป็นเพราะ กัญญาภรณ์มีสายสืบคอยดูความเคลื่อนไหวของสิงหนาท ที่รายงานทั้งเสียงและส่งภาพให้ดู ระหว่างที่ชุติมากำลังส่งภาพให้สิงหนาทดู กัญญาภรณ์เดินมานั่งใกล้บุตรสาวที่กินข้าวอย่างเอร็ดอร่อย พรางนึกถึงเรื่องราวในอดีต เรื่องที่ทำให้ตนต้องพบเจอกับสิงหนาท  
อ่านฟรีสำหรับผู้ใช้งานใหม่
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอป
Facebookexpand_more
  • author-avatar
    ผู้เขียน
  • chap_listสารบัญ
  • likeเพิ่ม