บทที่ 1 ฝันที่แตกร้าว
ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556
“แม่!”
เสียงกรีดร้องดังขึ้นเหมือนคนเสียประสาท “หนูขอโทษ หนูขอโทษจริงๆ หนูลืมตัวไป” บุษบงทรุดตัวลงนั่งคุกเข่าและกอดขามารดาไว้
“เออ ไม่เป็นไรหรอก แม่เข้าใจแก” นางปทุมพูดเสียงเนิบไร้อารมณ์ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บุษบงแผลงฤทธิ์ แต่คราวนี้นางถึงกับได้แผลเลือดออก
เรื่องเกิดขึ้นที่โต๊ะอาหารในบ้านนางปทุม
สมาชิกของครอบครัวเวลานั้นประกอบด้วยนางปทุมวัยห้าสิบเก้า บุษบงวัยสี่สิบ เพชรกับพลอยวัยสิบเจ็ดเป็นลูกสาวฝาแฝดของบุษบง
ขณะสาวน้อยทั้งสองในชุดนักศึกษากำลังเริ่มรับประทานอาหารเช้ากับแม่และยาย บทสนทนาที่ไม่สนุกนักก็เริ่มขึ้น โดยบุษบงออกปากตักเตือนลูกแฝดเรื่องการใช้จ่ายที่ค่อนข้างเกินตัว
“แกควรรู้ว่าแม่ไม่มีรายได้อะไรตอนนี้และเงินในบัญชีก็ใกล้จะหมดเต็มที จะมาขอเงินแม่ใช้วันละพันสองพันอย่างแต่ก่อนน่ะไม่ได้แล้วนะ” บุษบงจ้องหน้าเพชรแล้วเลื่อนสายตาต่อไปที่พลอย
“เพชรขอเอาไว้เติมน้ำมันรถค่ะ” คนตอบก้มหน้า มือถือส้อมเขี่ยอาหารในจาน
“ก็เพิ่งเติมไปแหม่บๆ สองสามวันที่แล้ว ขับไปเรียนหนังสือแล้วไปเที่ยวไหนต่อ” เสียงแข็งเข้มและแววตาเครียดขมึงของบุษบงทำให้ลูกสาวคนโตวางช้อนและขยับเก้าอี้ออกจากโต๊ะ
จากนั้นเป็นการตอบและถามอีกครั้ง การซักไซ้ที่เหมือนการสอบสวนประกอบกับถ้อยคำตำหนิ ตักเตือน บ่น ว่า จบลงด้วยการที่ลูกสาวทั้งสองพร้อมใจกันลุกขึ้นแล้วเดินไปหยิบกระเป๋ามาถือไว้
“จะรีบไปไหน เพชร พลอย เพิ่งกินข้าวไปสองสามคำเอง” นางปทุมเรียกหลาน
“หนูต้องเข้าคลาสแล้วค่ะ” สาวน้อยคนน้องหันมาตอบผู้เป็นยาย
ทั้งคู่รีบคว้ารองเท้าส้นสูงมาใส่แล้วหันมายกมือไหว้มารดาและนางปทุม
“สวัสดีค่ะแม่ สวัสดีค่ะยาย หนูไปละค่ะ” เสียงพลอยดังกว่าเพชรที่เพียงทำปากหมุบหมิบ
ทั้งสองต่างเดินฉับๆ ตามหลังกันโดยไม่หันหน้ามองมารดา เพชรสตาร์ทรถแล้วขับออกประตูบ้านไปจอดริมถนนขณะที่พลอยรีบปิดประตูเหล็กดัดเสียงกึงกังก่อนวิ่งแจ้นไปนั่งข้างพี่สาว รถยุโรปคันสวยมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยเอกชนอันมีชื่อเรื่องค่าเรียนที่แพงหูฉี่ ซึ่งบรรดานักศึกษาในนั้นต่างเป็นลูกหลานผู้มีฐานะที่ล้วนมีหน้าตาและชื่อเสียงในวงสังคม
แฝดทั้งสองเพิ่งเข้าเรียนเทอมแรกของปีที่หนึ่ง แต่บุษบงจ่ายค่าเทอมไปแล้วร่วมสามแสนบาท รวมทั้งซื้อกระเป๋าถือและรองเท้าใหม่ที่เพชรและพลอยต้องใช้ของดีมียี่ห้อเพื่อไม่ให้น้อยหน้าใคร ไม่นับรถเก๋งที่อภิชัยผู้เป็นบิดาของลูกสาวทั้งสองซื้อให้ขับไปมหาวิทยาลัย
“ไปถามมันทำไมตอนกินข้าว” นางปทุมติงเพราะเสียดายอาหารที่นางบรรจงทำไว้แล้วหลานสองคนกินไปแค่สองสามคำ “ก็รู้ๆอยู่ว่าเด็กมันไม่ชอบให้ไปเซ้าซี้ถามโน่นนี่ มันขอก็ให้มันไปหมดเรื่อง” นางพูดต่อ
“แม่ชอบให้ท้ายหลานอย่างนี้ มันก็เลยได้ใจ ขอเท่าไรก็ต้องให้เท่านั้น” บุษบงหันมาแหวใส่มารดา
“ฉันไม่ได้ให้ท้าย แค่บอกว่าจะถามไถ่อะไรกันก็อย่าถามตอนกินข้าว เด็กมันเบื่อก็ลุกหนีทั้งที่เพิ่งลงนั่ง เสียดายต้องเททิ้ง เก็บเอาไว้ก็เสียเปล่า หรือแกจะกินของเหลือ” นางปทุมสวนคำลูกสาว
“ใช่สิ แม่จะพูดอะไรก็ได้ หนูหอบลูกมาอาศัยแม่อยู่ ทำให้แม่มีภาระ” จู่ๆบุษบงก็วกกลับมายังประโยคที่เธอพูดบ่อยครั้งทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับเรื่องที่กำลังโต้ตอบกัน
“โธ่ ภาระอะไรกันล่ะ แกต่างหากที่ซื้อโน่นซื้อนี่ให้แม่ทุกอย่าง แม่ไม่ต้องควักเงินสักบาทเลยนะตั้งแต่แกกลับมาอยู่ที่นี่” นางปทุมพูดเชิงปลอบพลางชำเลืองดูลูกสาวที่กำลังหายใจแรง นางพูดต่อ “เพชรกับพลอยเป็นเด็กดี แม่รักพวกแกนะ”
“แต่หนูก็ทำให้แม่รำคาญใจใช่หรือเปล่าล่ะ” บุษบงตีรวน เธอจ้องมารดาผู้ซึ่งกำลังลุกขึ้นจากเก้าอี้
“พอเถอะเรื่องนี้” นางปทุมตัดบท
“หนูมันเป็นลูกที่นำความเดือดร้อนมาให้แม่เสมอ ไม่เหมือนวาทินกับปัทมาที่ไม่เคยสร้างปัญหาอะไร มีแต่คอยดูแลเอาใจใส่แม่ หนูพาลูกมาอยู่บ้านนี้ก็มาแย่งห้องน้องจนพวกเขาต้องไปอยู่ที่อื่น แม่คงคิดถึงพวกเขาจะแย่ ไปตามเขากลับมากันไหมแล้วหนูจะหอบลูกไปอาศัยวัดอยู่ แม่จะได้สบายใจเสียที เงินทองหนูก็ให้แม่ได้ไม่เต็มที่เหมือนก่อน หนูเลยกลายเป็นลูกชังไปแล้ว” บุษบงไม่ยอมจบ เธอมีนิสัยชอบพูดประชดประชัน เธอคาดหวังให้มารดากล่าวถ้อยคำประโลมจิตใจเธออย่างที่นางทำอยู่เสมอ
แต่คราวนี้นางปทุมปิดปากเงียบ นางเริ่มปาดอาหารจากจานสามใบมารวมกัน เสียงช้อนกระทบจานแก๊กๆ ฟังเหมือนนางกำลังขุ่นมัว มือที่มีเส้นเลือดขึ้นชัดขยับเป็นจังหวะราวกับกำลังกระแทกกระทั้นกระตุ้นให้บุษบงถึงจุดระเบิด เธอปรี่ไปคว้าจานกระเบื้องในมือมารดามาถือไว้และเหวี่ยงจานใบนั้นลงพื้นเต็มแรง
นางปทุมสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงเพล้งและเห็นจานใบหนาแตกกระเด็นไปรอบทิศ ข้าวผัดหมูแฮมใส่เม็ดถั่วลันเตากับบร็อคโคลีและไข่ดาวไม่สุกราดซอสสีแดงเข้มกระจายเปรอะทั่วบริเวณ
ส่วนบุษบงเมื่อกระทำการดังนั้นแล้วก็ยืนหายใจหอบถี่ เธอกราดสายตามองไปรอบๆ และเห็นมารดาที่กำลังก้มลงจับขาตนเอง นางปทุมถูกเศษจานกระเบื้องกระเด็นใส่หน้าแข้ง เลือดสีแดงเข้มหยดย้อยลงไปที่ข้อเท้า บุษบงกรีดเสียงร้องอย่างตกใจและผวาเข้าไปกอดขามารดาก่อนพร่ำคำขอโทษออกมาจนฟังไม่ได้ศัพท์ เธอจูงมารดาไปนั่งและใช้ทิชชูเช็ดเลือดให้นางแล้ววิ่งลนลานไปหาพลาสเตอร์ยามาปิดปากแผลที่ยังมีเลือดซึม
“หนูขอโทษแม่ หนูไม่รู้ตัวว่าทำไมเป็นอย่างนี้” บุษบงก้มกราบมารดาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“เอาเถอะๆ แม่ไม่เป็นไร แผลเล็กนิดเดียว สองสามวันก็หาย” นางปทุมถอนใจขณะจับแขนบุษบงให้ลุกขึ้นและพูดจาด้วยดีอีกพักใหญ่ จากนั้นทั้งสองก็ช่วยกันเก็บกวาดเศษอาหารและเศษกระเบื้องห่อกระดาษหนังสือพิมพ์หลายชั้นและยัดใสถุงถังขยะ
“แม่ไปนั่งพักเถอะ เดี๋ยวหนูล้างจานเอง” บุษบงประคองมารดาไปนั่งบนเก้าอี้โซฟาแล้วเธอก็กลับไปจัดการเคลียร์โต๊ะอาหาร ขณะนั่งคุกเข่าเช็ดพื้นห้องที่เปื้อนเป็นคราบ น้ำตาร้อนผ่าวของเธอหยดใส่หลังมือที่หยุดขยับ เธอสะอื้นเบาๆ และยกมือปิดปากตนเองไว้ไม่ให้มีเสียงลอดออกมา
หกเดือนที่ผ่านมา
ต้นปี 2556 บุษบงแยกทางกับสามีหลังจากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเขานานสิบเจ็ดปี เธอพาลูกสาวสองคนกลับมาอยู่กับมารดาในบ้านจัดสรรหลังเก่าที่เธอเคยพักอาศัยตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ วาทินและปัทมาผู้เป็นน้องชายและน้องสาวของบุษบงย้ายออกไปหลังจากเธอและแฝดสาวพากันเข้ามาอยู่ที่บ้านหลังนั้นพร้อมกับรถหรูสองคัน
ความที่บุษบงมีเรื่องคิดมากจากชีวิตสมรสที่ร้าวฉาน การกลับเข้ามาอาศัยมารดาอยู่ที่บ้านเก่าจึงเป็นเสมือนบาดแผลทางใจที่ทำให้เธอมีอารมณ์อ่อนไหวและแสดงออกอย่างรุนแรงหลายครั้ง ทั้งการแผดเสียงดุลูกสาวและการขู่จะเฆี่ยนตี มีครั้งหนึ่งเธอคว้าไม้แขวนเสื้อฟาดเพชรและพลอยอย่างไม่ยั้งจนนางปทุมต้องวิ่งเข้าไปห้าม นางดึงหลานสาวเข้าไปในห้องของนางจนบุษบงคืนสู่อาการปกติ เมื่อรู้ตัวเธอก็เข้าไปกอดขอโทษลูกและควักเงินให้หลายพันบาทเป็นค่าปลอบขวัญ
“คนเขาจะว่าหนูไม่มีทางไป ต้องมาอาศัยอยู่กับแม่” บุษบงมักพูดทำนองนี้กับมารดา
“ใครจะว่าอะไรก็ช่าง นี่มันก็บ้านของแกไม่ใช่หรือ” มารดาเธอให้กำลังใจ
“ก็หนูตั้งใจไว้ตอนหนูแต่งงานว่าหนูจะไม่กลับมาอยู่บ้านหลังนี้อีก แต่ในที่สุดหนูก็ไปไม่รอด” บุษบงคุยเปิดใจกับมารดา
“บ้านนี้ถ้าแม่ตายมันก็เป็นของพวกแกสามคนแหละ ไม่ใครก็ใครต้องเข้ามาอยู่ เจ้าทินเขามีทางไป งานการเขามีทำกับแฟนเขา ปัทย้ายไปอยู่หอพักก็มีที่จอดรถสะดวก ไม่ต้องเข็นเข้าเข็นออกให้เสียอารมณ์ เขาอยู่คนเดียวสบายจะตายไปไม่ต้องมาเหนื่อยถูบ้าน ที่แม่ชวนแกกับหลานมาอยู่ด้วยก็เพราะแกจะได้ประหยัดเงิน ไปเสียค่าเช่าอพาร์ตเมนต์เดือนละเป็นหมื่นแม่เสียดาย แกเองก็เอื้อเฟื้อเจือจานแม่มาตลอดเวลาตั้งแต่แต่งงานไป ถึงคราวแกลำบากแม่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ช่วยได้ก็ช่วยไปแม้ไม่มากมายนัก เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าถือเอาเป็นเรื่องใหญ่ เดี๋ยวจะกลายเป็นโรคประสาท แม่รักแกนะ” นางปทุมพูดยาวเพื่อให้กำลังใจลูกสาว นางเองก็รู้สึกผิดที่ชีวิตสมรสของบุษบงกับอภิชัยมีอันต้องล้มเหลวไปอย่างไม่เป็นท่า
เมื่อครั้งที่บุษบงเพิ่งเรียนจบยังไม่ได้รับปริญญา นางปทุมเป็นผู้สนับสนุนให้เธอได้แต่งงานกับอภิชัยผู้เป็นลูกชายคนสุดท้องของญาติห่างๆ ผู้มีฐานะ ซึ่งในเวลาดังกล่าวบุษบงเองนั้นก็เฝ้ามองหาคนที่จะพาเธอออกไปเสียจากครอบครัวคนชั้นกลางที่แสนธรรมดา นายบุญเกื้อบิดาของเธอเป็นข้าราชการอยู่ที่ต่างจังหวัด นางปทุมผู้มารดาได้แต่เฝ้าบ้านที่กรุงเทพฯ ไม่เคยได้ออกไปไหน เธอกับน้องชายและน้องสาวต้องเดินไกลออกจากบ้านไปนั่งรถสองแถวออกจากซอยแล้วขึ้นรถเมล์ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ทั้งหมดพักอาศัยอยู่ที่บ้านจัดสรรสองชั้นสามห้องนอนสองห้องน้ำ หมู่บ้านนี้มีบ้านเกือบสามสิบหลัง ทรงเดียวกันหมด เพื่อนบ้านส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัดเหมือนพ่อแม่ของเธอ
บุษบงมีนิสัยทะเยอทะยาน เธออยากมีชีวิตที่หรูหรา อยากอยู่บ้านหลังใหญ่โอ่อ่า อยากแต่งตัวสวยสง่า อยากขับรถราคาแพง เธอไม่เคยมีความคิดที่จะใช้วิชาชีพที่ร่ำเรียนมาทำงานเลี้ยงตัวไปอย่างที่คนอื่นทั่วไปทำกัน
“กว่าจะมีเงินพอซื้อรถดีๆ สักคันก็แก่ตายเสียก่อน”
บุษบงคิดขณะอ่านประกาศหางานในหนังสือพิมพ์ เธอรู้ตัวว่าหากสมัครเข้าทำงานในบริษัทเธอคงต้องไต่เต้านานปีกว่าจะมีรายได้ถึงระดับที่เธอพอใจ และเธอไม่อยากรับราชการอย่างบิดา เพราะมันน่าเศร้าที่ต้องมีชีวิตกระเหม็ดกระแหม่ ใช้จ่ายอย่างประหยัด รัดเข็มขัดจนเอวกิ่วจากเงินเดือนอันน้อยนิดและต้องรอเลื่อนขั้นไปตามลำดับ นอกจากนั้นยังต้องคอยเลียแข้งเลียขาเจ้านายผู้อยู่เหนือขึ้นไปหลายชั้น อีกทั้งต้องหาของขวัญไปจิ้มก้องเป็นระยะ แม้บิดาเธอพร่ำบอกว่ามันเป็นอาชีพที่มั่นคง มีสวัสดิการ รัฐเลี้ยงดูจนตาย แต่เธอไม่สนใจ
บุษบงอดทนต่อความน้อยหน้าเพื่อนร่วมชั้นมาตั้งแต่เล็กสมัยเรียนชั้นประถมอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งความจริงแล้วการเป็นลูกข้าราชการในท้องถิ่นนับว่าได้เปรียบลูกชาวบ้านมากมายนัก แต่บุษบงมักเปรียบเทียบตนเองกับลูกเถ้าแก่และลูกคนมั่งมีที่พ่อแม่ขับรถไปส่งถึงหน้าโรงเรียนทุกเช้าขณะที่เธอก้าวลงจากรถเมล์ที่เบียดกันเหมือนปลากระป๋อง อาหารกลางวันของเธอเย็นชืดจับไขอยู่ในกล่องอลูมิเนียมบุบบู้ ขณะที่เพื่อนของเธอมีคนใช้ถือปิ่นโตสามชั้นนำอาหารปรุงสุกใหม่มานั่งป้อนกันที่ใต้ร่มไม้ เธอไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่นอกจากชุดนักเรียนและกางเกงขาสั้นใส่อยู่บ้าน เมื่อออกไปไหนช่วงวันหยุดเธอมีชุดที่ใส่ซ้ำกันทุกครั้ง เธอสัญญากับตนเองว่าเมื่อเธอโตขึ้นเธอจะมีทุกสิ่งที่เธอเห็นพวกคนรวยเขามีกัน
บุษบงโตขึ้นกับการเห็นภาพพ่อแม่พี่น้องที่อยู่กินกันอย่างมัธยัสถ์ ประหยัดกันจนน่าสงสาร ภาพของมารดาที่มีใบหน้าเหนื่อยล้า สวมแต่เสื้อผ้าชุดเก่า ผมเผ้าไม่ได้ทำ ปัทมาผู้เป็นน้องสาวคนถัดมาต้องใช้เสื้อผ้าและตำราเรียนต่อจากเธอ ส่วนวาทินผู้เป็นเด็กชายนั้นนางปทุมให้ความรักใคร่เป็นพิเศษเพราะเป็นลูกคนสุดท้องจึงไม่ลำบากเท่าไรนัก
ช่วงที่บุษบงและน้องๆ ต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนมหาวิทยาลัย นายบุญเกื้อบิดาของเธอนำเงินออมที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตไปซื้อบ้านจัดสรรราคาถูกที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งแถวสะพานควาย เขาต้องการให้ลูกได้อยู่ด้วยกันเป็นการประหยัดค่าหอพัก และเพื่อเป็นที่อยู่อันถาวรของครอบครัว นางปทุมจึงต้องย้ายเข้ากรุงมาคอยดูแลลูกทั้งสาม ในเวลานั้นนายบุญเกื้อยังอยู่บ้านหลวงที่นครปฐมและนั่งรถบัสสีส้มเข้ากรุงเทพฯมาอยู่กับครอบครัวทุกสุดสัปดาห์
บุษบงสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ด้วยคะแนนหวุดหวิดและเรียนจบออกมาด้วยคะแนนหวุดหวิดเช่นกัน ส่วนปัทมานั้นเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และวาทินเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง
เมื่อบุษบงจบปริญญาตรีในปี 2538 นางปทุมบอกลูกสาวว่าจะพาเธอไปฝากให้เข้าทำงานกับญาติผู้หนึ่ง
“อาโกสนิทเขามีโรงแรมสามแห่ง ให้ลูกชายบริหารคนละโรงแรม อภิชิต อภิชาติ อภิชัยไง แกจำได้ไหม” นางปทุมถามลูกสาว
“อ๋อ หนูเคยเจอพวกเขาที่งานศพคุณก๋ง” บุษบงจำเด็กชายทั้งสามได้
“เดี๋ยวนี้โตเป็นหนุ่มกันหมดแล้ว อาโกเขาก็จำแกได้ แม่โทรไปคุยกับเขาวันก่อนบอกว่าแกเพิ่งเรียนจบกำลังหางาน เขาบอกแม่ว่ากำลังหาเลขาฯให้ลูกชายคนเล็กอยู่พอดี อภิชัยน่ะ เขาบอกว่าถ้าสนใจก็ไปลองสมัครดู”
“ดีเลยค่ะ หนูชอบงานโรงแรม ได้เจอคนเยอะ” บุษบงตอบมารดา
นางปทุมบอกลูกสาวให้แต่งตัวสวยๆ ในวันที่จะไปหาญาติผู้นี้ นางเองก็สวมเสื้อผ้าชุดใหม่และแต่งหน้าทาปากไม่ให้บุษบงต้องได้อาย
แล้วสองแม่ลูกก็พากันนั่งแท็กซี่ไปหานางสนิทเจ้าของโรงแรมใหญ่ผู้เป็นญาติห่างๆ ของนาง
“อ้อๆๆ ทำอะไรเป็นบ้างล่ะ” นางสนิทรับไหว้และมองบุษบงอย่างสำรวจตรวจตรา ชุดผ้าชีฟองอัดพลีทสีฟ้าสดเยื้องยักตรงชายกระโปรงและมุมแขนดูฉูดฉาดบาดตาไม่เข้ากาลเทศะสำหรับคนมาสมัครงาน
“เขาทำบัญชีได้ค่ะ อาโก พิมพ์ดีดก็คล่อง” นางปทุมพูดแทรก พอดีกับที่นายอภิชัยลูกชายคนเล็กของนางสนิทเปิดประตูเข้ามา เขาเห็นชุดพลิ้วไหวสีฟ้าสดของบุษบงตั้งแต่เธอเดินเข้าลิฟท์
“เอ้า มาแล้ว คนนี้ไงที่เขาหาเลขาฯ” นางสนิทเหลียวหน้าไปทางลูกชายที่ยิ้มร่าเห็นฟัน
“ผมเคยเจอน้องตอนเด็กๆ ครับ จำได้ว่าเมื่อก่อนไว้ผมม้า ชอบทำหน้าบูด” อภิชัยยกมือไหว้นางปทุมผู้ซึ่งทำหน้าบานเมื่อเห็นว่าครอบครัวนางสนิทยินดีต้อนรับ บุษบงปิดปากหัวเราะคิกอย่างใส่จริตเล็กน้อยเมื่อฟังอภิชัยพูดถึงเธอ
อภิชัยเลื่อนเก้าอี้มาพูดคุยกับนางปทุมและบุษบงอย่างเป็นกันเอง เมื่อเวลาผ่านไปสิบนาทีเขาก็ตกลงบอกรับให้บุษบงมาทดลองงานโดยที่นางสนิทไม่มีโอกาสคัดค้าน นางปทุมทำเป็นมองไม่เห็นคิ้วขมวดมุ่นของนางสนิทที่จ้องหน้าลูกชายเขม็ง นางปทุมยกมือไหว้อภิชัยและมารดาของเขาพร้อมกับกล่าวฝากฝังบุตรสาว
“มีอะไรก็ช่วยสั่งสอนตักเตือนมันหน่อยนะหลานชาย หากบุษทำผิดพลาดอะไรไปก็โทรศัพท์มาบอก น้าจะฟาดมันเอง”
“โอยไม่ถึงกับต้องทำอย่างนั้นหรอกครับคุณน้า ก็ให้น้องมาฝึกหัดเอาสักสองสามเดือน ผมดูหน่วยก้านแล้วเชื่อว่าน้องบุษต้องแจ๋วแน่” อภิชัยกล่าว เขามองบุษบงที่ก้มหน้าใช้มือจับจีบกระโปรงสีฟ้าให้ปิดต้นขาเพื่อหลบสายตานางสนิทที่มองอย่างไม่ชอบใจ
สัปดาห์ต่อมาบุษบงเริ่มไปทำงานที่โรงแรมของอภิชัยที่ดอนเมือง นางปทุมออกเงินซื้อรถมือสองให้ลูกสาวใช้ เธอไปเรียนขับรถตั้งแต่ก่อนเรียนจบด้วยคาดหวังว่าตนเองจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของรถยี่ห้อดีสักคันเมื่อโอกาสมาถึง
วันแรกที่ไปทำงานเธอแต่งกายงดงาม แต่งหน้าสวย หิ้วกระเป๋าใบเก๋ สวมรองเท้าส้นสูงมีสไตล์ ซึ่งดูขัดตากับรถญี่ปุ่นสีถลอกที่มารดาเธอซื้อให้ แต่อย่างไรก็ดีว่านั่งรถเมล์หรือรถสองแถวสายสะพานใหม่-ดอนเมือง บุษบงคิดขณะประคองพวงมาลัย
สัปดาห์แรกผ่านไปบุษบงขอเงินมารดาหลายพันบาทเพื่อตัดชุดใหม่ใส่ไปทำงาน
“เขาไม่มีเครื่องแบบให้หรือ” นางปทุมถาม “แม่เห็นคนที่โรงแรมใส่เครื่องแบบกันทุกคน ชุดเขาก็สวยดีเหมือนแอร์โฮสเตสเลย”
“หนูยังทดลองงานอยู่นะแม่ แถมทำตำแหน่งเลขาฯ ผู้จัดการใหญ่ หนูจะแต่งชุดซ้ำกันบ่อยก็อายเขา” บุษบงทำเสียงออดอ้อนมารดา
ที่สุดนางปทุมจำต้องควักเงินส่วนตัวของนางให้บุษบงไปตัดชุดใหม่สี่ชุด ซึ่งในปี 2538 ยังมีร้านตัดเสื้อผ้าสตรีทุกหัวมุมถนน
นางปทุมมองลูกสาวคนโตแต่งตัวสวยขับรถออกจากบ้านทุกเช้าด้วยความภูมิใจ นางเคยพูดกับปัทมาลูกสาวคนรองให้เอาอย่างพี่สาว “แกจะแต่งตัวเป็นทอมบอยอย่างนี้อีกนานไหม อีกหน่อยเรียนจบมาแล้วจะหางานไม่ได้นะ ดูพี่เขานี่ ขนาดยังไม่ได้รับปริญญานะยังได้งานทำแล้วเพราะเขารู้จักแต่งตัว” ปัทมาเมื่อได้ฟังสิ่งที่มารดาพูด เธอส่ายศีรษะโดยไม่ตอบอะไร
สองเดือนถัดมาบุษบงเริ่มกลับบ้านไม่ตรงเวลา
“หนูอยู่เคลียร์งานที่โรงแรมค่ะ” เธอโทรศัพท์บอกมารดา ซึ่งนางปทุมไม่ได้ว่ากล่าวอันใดและออกจะพอใจด้วยซ้ำ เพราะนางเองก็สนับสนุนให้ลูกสาวได้อยู่ใกล้ชิดอภิชัย
“หากเหนื่อยมากก็ค้างเสียที่โรงแรมเลย แม่เป็นห่วง รถราก็เก่าเดี๋ยวมันตายกลางทางจะเดือดร้อน จากดอนเมืองมาสะพานควายไม่ใช่ใกล้ๆ”
นางปทุมบอกลูกสาวทางโทรศัพท์ นายบุญเกื้อไม่เคยรับรู้เรื่องที่บุษบงกลับบ้านดึกบ่อยๆ เพราะนางไม่เคยเล่าให้เขาฟัง ปัทมาและวาทินก็ไม่อยากพูดอะไรมากเพราะทุกครั้งที่มีใครเอ่ยปากเตือนนางที่ให้ท้ายบุษบง นางปทุมจะบอกให้พวกเขาหุบปากแล้วตั้งหน้าเรียนหนังสือให้จบจะได้ออกมาทำงานดีๆ อย่างพี่สาว
เช้าวันจันทร์ต้นเดือนสิงหาคม
นางปทุมได้ยินเสียงบุษบงอาเจียนโอ้กอ้ากในห้องน้ำ วันต่อมาเธอยังมีอาการเช่นเดิม นางประเล้าประโลมสอบถามลูกสาวจนได้ความจริง
เมื่อบุษบงขับรถออกจากบ้านไปแล้วนางปทุมก็โทรศัพท์หานางสนิทผู้กำลังนั่งทำงานในห้องผู้อำนวยการที่โรงแรมของลูกชายคนโต
“เจ๊หนิด นี่ฉันนะ” นางปทุมพูดใส่หูโทรศัพท์
“สวัสดีค่ะ มีอะไรหรือปทุม” นางสนิทพูดด้วยน้ำเสียงเป็นงานเป็นการ
“คือยังงี้นะ เจ๊ สองวันมานี้บุษเขาไม่สบาย”
“อ้าว เป็นอะไร ก็เห็นไปทำงานเป็นปกตินี่ เมื่อวานตอนบ่ายฉันเข้าไปที่โรงแรมอภิชัย เขายังออกมาไหว้เลย”
นางสนิทพูดตอบนางปทุมผู้เป็นญาติห่างๆ มารดาของนางเป็นลูกพี่ลูกน้องกับมารดาของนางปทุมแต่อาศัยอยู่คนละจังหวัด ตัวนางเองไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับญาติทางแม่เท่าใดนักหลังจากแต่งงานและช่วยสามีค้าขายจนกระทั่งเขาตายลงไป นางต้องพยุงฐานะ เลี้ยงลูกชายสามคน และลงทุนสร้างโรงแรมสามแห่งจากเงินกู้จำนวนมหาศาล นางต้องนำโฉนดที่ดินหลายแปลงอันเป็นมรดกของสามีไปค้ำประกันกับธนาคาร นางมุ่งมั่นบริหารโรงแรมจนสามารถชำระหนี้ได้เกินครึ่งไปแล้ว ต่อมานางมอบหมายให้ลูกชายทั้งสาม คือ อภิชิต อภิชาติ อภิชัยเข้ามารับผิดชอบโรงแรมทั้งสาม ซึ่งแต่ละแห่งตั้งชื่อตามพวกเขา
“เขาอาเจียนตอนเช้า ไม่มีแรง ฉันถามไปถามมาเขาก็บอกว่าประจำเดือนเขาขาดมาสองเดือนแล้ว” นางปทุมชี้แจง
“อ้าว แล้วมาบอกฉันทำไม” นางสนิทวางปากกาที่กำลังไล่จี้ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแฟ้มบนโต๊ะ
“เจ๊หนิดก็ บุษเขาท้องนะ เขาบอกว่าได้เสียกับอภิชัยตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนา” นางปทุมลดเสียงพูดเบาลงเหมือนกำลังซุบซิบบอกความลับให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้
“อ้อ อย่างนั้นหรือ”
นางสนิทรับฟังสิ่งที่นางปทุมบอกเล่าด้วยอาการสงบ เพราะนางเองสังเกตเห็นความเป็นไปที่โรงแรมนั้นเช่นกันว่าบุษบงผู้ทำงานไม่เป็นโล้เป็นพายกำลังทำตัวสนิทสนมกับอภิชัยจนเกินงาม นางเคยเรียกลูกชายมาตักเตือนว่าเขากำลังทำงานใหญ่ อย่าทำตัวเหลวไหลโดยการเอาลูกจ้างมาทำเมีย
“เจ๊จะว่าอย่างไรเรื่องนี้” นางปทุมถามขึ้น
“เขาไปให้หมอตรวจแล้วหรือ” นางสนิทถามหลังจากเงียบไปอึดใจหนึ่ง
“ไม่ต้องหมอหรอกเจ๊ ฉันคนเป็นแม่ดูออก ตอนฉันท้องลูกคนแรกฉันก็แบบนี้แหละ โก่งคออ้วกมีแต่ลมกับน้ำลายออกมา เจ๊เองก็เป็นเหมือนกันใช่ไหมตอนท้องอภิชิตน่ะ” นางปทุมพูดจาราวกับกำลังคุยกับคนในในครอบครัว
นางสนิทนิ่งคิด นางกำลังใคร่ครวญถึงบาปกรรมหากนางจะแนะนำให้ปทุมพาลูกสาวไปทำแท้ง นางจึงเอ่ยว่า
“เอาอย่างนี้นะปทุม เดี๋ยวฉันจะเรียกอภิชัยมาถาม ถ้าเขายอมรับว่ามีอะไรกับพนักงานคนนั้นจริง ฉันจะให้เขาจัดการให้มันถูกต้อง แต่ฉันคงไม่เกี่ยวข้องด้วย”
“อ้าว เจ๊หนิด ทำไมพูดอย่างนั้นล่ะ” นางปทุมเริ่มเสียงดัง “ก็อภิชัยเขาเป็นลูกเจ๊ไม่ใช่หรือ ทำไมเจ๊ถึงจะไม่เกี่ยวข้องล่ะ”
นางสนิทพ่นลมหายใจพรืดใส่โทรศัพท์ขณะตอบด้วยน้ำเสียงที่ควบคุมอารมณ์ไว้
“ฉันหมายถึงว่าถ้าอภิชัยเขาไปทำใครท้องแล้ว เขาก็ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ฉันเตือนเขาแล้วให้ตั้งใจทำงาน เพราะเรายังต้องส่งดอกเบี้ยธนาคารเดือนละหลายแสน แต่เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นมา ตัวเขาต้องเป็นคนรับภาระ ไม่ใช่ฉัน”
“อ้อ งั้นฉันจะไปพูดกับอภิชัยเองละกันนะเจ๊”
“ปทุมไม่ต้องมาที่นี่ ฉันจะคุยกับลูกฉันก่อน”
เมื่อนางสนิทพูดตัดบทและวางสายแล้ว นางให้เลขาฯ ไปตามอภิชัยมาพบนางที่โรงแรมอภิชิต เมื่อเขามาถึงนางสอบถามเขาเรื่องบุษบง ซึ่งเขายอมรับโดยดี
“แล้วแกจะเอาอย่างไร” นางสนิทถามลูกชายซึ่งมีสีหน้าไม่สบายใจ
“ก็เขาท้องแล้ว ผมคงต้องรับผิดชอบ”
“แหม ทีอย่างนี้ละรับผิดชอบ หนี้สินโรงแรมของเราเกือบร้อยล้านแกกลับไม่สนใจจะช่วยทำให้มีกำไรไปจ่ายดอกเบี้ย แล้วนี่ไปคว้าผู้หญิงแบบนี้มาเป็นเมีย...”
นางสนิทพูดเพียงเท่านี้ก่อนสงบคำ เพราะนางต้องการรักษาเส้นประสาทของนางไว้เพื่อใช้ทำงาน นางกล่าวกับอภิชัยในที่สุดว่า
“เอาละ ฉันจะไม่ออกหน้าจัดงานแต่งงานอะไรให้ แล้วถ้าแกจะพามันเข้ามาอยู่ในบ้านกับเราก็กินกงสีกันไป ค่าใช้จ่ายในครอบครัวมาเบิกรายเดือนจากกองกลาง อย่าให้เมียแกเข้าไปยุ่มย่ามที่นั่นอีก ไอ้ที่แม่คิดไว้ว่าจะโอนชื่อให้แกเป็นเจ้าของโรงแรมก็คงต้องงดไว้ก่อน แกทำตัวอย่างนี้ทำให้แม่หมดความไว้วางใจ ขนาดตัวของแกเองยังบริหารไม่ได้ แอบไปได้เสียกับลูกจ้างแล้วปล่อยให้ท้องขึ้นมา อย่างนี้แกจะพาธุรกิจครอบครัวไปรอดหรือ”
เดือนกันยายน 2538 งานแต่งงานของบุษบงวัย 23 กับอภิชัยวัย 28 จัดขึ้นอย่างลวกๆ พิธียกน้ำชาทำอย่างขอไปที ญาติพี่น้องของฝ่ายชายมากันหรอมแหรม ส่วนญาติของบุษบงส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด พวกเขารีบมารีบกลับเพราะไม่มีที่พักค้างและญาติฝ่ายชายก็ไม่เสนอโรงแรมให้พัก ปัทมาและวาทินช่วยกันพาเพื่อนๆ มาช่วยทำให้งานเลี้ยงดูไม่เงียบเหงาจนเกินไป
แต่ไม่ว่าอย่างไรบุษบงก็รู้สึกสมใจที่จะได้ย้ายออกจากบ้านจัดสรรที่ไร้สง่าราศีเมื่อเทียบกับบ้านของอภิชัยซึ่งเป็นอาคารห้าชั้นหลังใหญ่ที่อยู่รวมกับครอบครัวของเขา โดยนางสนิทพักอยู่ชั้นล่าง อภิชิตและอภิชาติพักอยู่ชั้นสองและชั้นสาม อภิชัยอยู่อาศัยบนชั้นสี่ ส่วนชั้นห้าเป็นที่เก็บของ
“หนูคงไม่ได้กลับมาอยู่กับพ่อกับแม่อีกละนะ” บุษบงบอกกล่าวบิดามารดาในวันที่รถเบ็นช์คันยาวมีคนขับมารอรับเธอไปอยู่บ้านของฝ่ายชาย
“ถ้าหนูมีลูกอีกคน หนูจะให้คุณอภิชัยแยกไปปลูกบ้านอยู่อีกหลัง แม่เขามีที่ดินหลายแปลงในย่านการค้า หนูอาจตั้งร้านให้ปัทกับทินไปช่วยดูแล” เธอคุยอวดบิดาผู้ซึ่งนั่งนิ่งมองลูกสาวผู้กำลังมีความสุข มือของเธอลูบไล้บริเวณหน้าท้องซึ่งมีรอยนูนของการตั้งครรภ์
“คนนี้ถ้าเป็นผู้ชาย อาม่าคงจะยกที่แถวดอนเมืองให้เป็นการรับขวัญ” บุษบงพูด หน้าตาเธออิ่มเอิบ
เมื่อก้มลงกราบลาพ่อแม่แล้วบุษบงโบกมือลาน้องชายและน้องสาวไปขึ้นรถที่จอดรอหน้าบ้าน นางปทุมเองแม้จะภูมิใจที่ลูกสาวได้แต่งงานกับคนรวยสมใจ แต่ลึกๆ แล้วนางรู้สึกกังวล เพราะนางรู้จักญาติห่างๆ ของนางดีว่าเป็นคนเด็ดขาด นางสนิทสร้างเนื้อสร้างตัวมาอย่างยากลำบากเลือดตาแทบกระเด็น โรงแรมทั้งสามแห่งประสบความสำเร็จด้วยฝีมือและความอดทนของผู้หญิงแกร่งคนนี้ นางนั่งแท่นเป็นประธานและยังไม่ปล่อยให้ลูกชายคนใดเป็นเจ้าของ นางต้องการปลดเปลื้องหนี้สินออกไปหมดเสียก่อน
เดือนมีนาคม 2539 บุษบงคลอดลูกแฝดเป็นหญิง นางปทุมและนายบุญเกื้อไปเยี่ยมหลานที่โรงพยาบาลและแปลกใจที่ไม่เห็นอภิชัยอยู่ที่นั่น
“เขาไม่ว่างค่ะ” บุษบงพูดอย่างอ่อนเพลีย เธอและอภิชัยเริ่มระหองระแหงกันตั้งแต่รู้ผลอัลตราซาวน์ว่าทั้งสองจะได้ลูกแฝดเพศหญิง
“อ้าว เอ๊ ยังไงกัน” นางปทุมพูดและหยุดปากเมื่อคาดเดาได้ว่าครอบครัวของอภิชัยคงไม่โปรดปรานลูกผู้หญิง
ส่วนนายบุญเกื้อก็ไม่พูดจาอันใดให้กระทบกระเทือนใจลูกสาว เขาถอนหายใจด้วยความรู้สึกเวทนาบุษบงผู้มีวัยเพียงยี่สิบสี่ปี เขานึกเสียดายวิชาความรู้ที่เธอร่ำเรียนมาจนจบมหาวิทยาลัย ปริญญาตรีที่ได้มาเป็นแค่ใบผ่านทางในการเข้าไปทำงานที่โรงแรมของญาติ ไม่กี่เดือนจากนั้นเธอตั้งครรภ์ แล้ววันนี้เธอก็มาคลอดลูกอยู่คนเดียวโดยที่สามีไม่โผล่มาให้เห็นหน้า